ร้องเพลงไม่ได้ เสียงเปลี่ยนหลังจากผ่าตัดไทรอยด์ แก้ไขอย่างไร?

สวัสดีค่ะเพื่อนๆผู้อ่านทุกคน วันนี้เราจะมาแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับเสียงที่เปลี่ยนไปหลังจากผ่าตัดไทรอยด์ทั้งสองข้างกัน ตัวเราเองได้เข้ารับการผ่าตัดไทรอยด์ทั้ง 2 ข้างและได้รับผลกระทบในเรื่องเสียงค่อนข้างมาก ตอนนี้เราพยายามฝึกเสียงให้แข็งแรงขึ้นซึ่งตอนนี้ดีขึ้นมามากกว่า 50 % แล้วค่ะ เราอยากแชร์ให้เพื่อนๆได้อ่านกันเพราะข้อมูลเกี่ยวกับเสียงหลังจากการผ่าตัดไทรอยด์ไม่ค่อยมีให้อ่านสักเท่าไหร่ เราต้องรีเซิร์ชหาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆที่กำลังจะผ่าตัดและเพื่อนๆที่ได้รับผลกระทบในเรื่องเสียงหลังผ่าตัดด้วยค่ะ

ในเดือนตุลาคมปี 2019 เราได้รับการผ่าตัดมะเร็งไทรอยด์ ซึ่งเป็นการผ่าตัดไทรอยด์ทั้งสองข้างเลยค่ะ คุณหมอแจ้งก่อนผ่าตัดว่าจะพยายามรักษาต่อมพาราไทรอยด์เอาไว้ (ต่อมด้านหลังที่ติดกับไทรอยด์ซึ่งควบคุมแคลเซียม) ซึ่งหลังผ่าตัดคุณหมอแจ้งว่าสามารถเซฟต่อมพาราไทรอยด์ไว้ได้หมดทั้ง 2 ข้าง

2 ปีหลังจากการผ่าตัด เรามารู้ทีหลังว่าต่อมพาราไทรอยด์ทั้ง 2 ข้างได้รับผลกระทบซึ่งทำให้ต่อมพาราไทรอยด์นั้นใช้งานไม่ได้ ตรงนี้ต้องแจ้งเพื่อนๆก่อนว่าหลังจากผ่าตัดสองเดือนเราได้ย้ายไปอยู่ที่อเมริกาและตั้งครรภ์จึงทำให้คุณหมอที่อเมริกาไม่ได้เอะใจเรื่องของการขาดแคลเซียมเพราะคิดว่ามาจากการตั้งครรภ์ ถ้าเพื่อนๆที่กำลังจะผ่าตัดไทรอยด์ออกทั้ง 2 ข้าง หากเจอคุณหมอที่แจ้งว่าจะตัดพาราไทรอยด์ออกไปด้วยขอให้เพื่อนๆลองเลือกคุณหมอท่านอื่นค่ะ หมอคนแรกที่เราจะผ่าตัดด้วยแจ้งว่าจะตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกทั้งหมด เราจึงเปลี่ยนหมอค่ะ การผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่งค่ะเพราะพาราไทรอยด์เป็นต่อมที่สำคัญมาก ปัจจุบันเราก็ยังต้องทนทุกข์ทรมานมากกับการที่ต่อมพาราไทรอยด์ไม่ทำงาน แต่วันนี้เราไม่ได้มาคุยเรื่องของต่อมพาราไทรอยด์ก็จะไม่ลงลึกนะคะ หากเพื่อนๆที่กำลังจะผ่าตัดลองไปหาข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มกันดูนะคะ

ผลกระทบต่อการพูดหลังจากผ่าตัดไทรอยด์

มาพูดเรื่องของเสียงกันบ้างนะคะ ก่อนผ่าตัดนั้นคุณหมอไม่ได้แจ้งเรื่องผลกระทบเกี่ยวกับเสียง แต่เราพอทราบมาจากเพื่อนที่เป็นหมอว่าเสียงสูงอาจได้รับผลกระทบหลังการผ่าตัดไทรอยด์ เพื่อนบอกว่าแม้ว่าหมอผ่าตัดจะมีประสบการณ์มากแค่ไหนก็ยากที่จะรักษาเสียงสูงเอาไว้ได้ เราถามหมอที่ผ่าตัดให้เราเกี่ยวกับเรื่องนี้ หมอไม่ได้กังวลอะไรและบอกว่าไม่มีปัญหา คุณหมอที่เราผ่าตัดด้วยนั้นจัดว่าเป็นหมอมือหนึ่งในการผ่าตัดไทรอยด์ของประเทศไทยเลย ซึ่งในการผ่าตัดนั้นคุณหมอได้ผ่าตัดไทรอยด์ทั้ง 2 ข้างและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ข้างๆออกไปด้วย ข้ามช็อตไปหลังผ่าตัดเลยนะคะ หลังจากผ่าตัดเราพูดเสียงดังไม่ได้ เสียงแหบมากๆฟังแทบไม่รู้เรื่อง ถ้าต้องขึ้นเสียงกลางๆเสียงจะแตกมากๆและหากพูดดังเสียงก็จะหายไปเลย อาการนี้เป็นอยู่หลายเดือนเลยค่ะ เวลาที่ไปตลาดก็จะโมโหแม่ค้าทุกครั้งไปเพราะเขาฟังเราไม่รู้เรื่องเพราะเราต้องพูดเบาและต้องเสียงต่ำด้วย

หลังจาก 4-5 เดือนเสียงเริ่มแตกน้อยลงแต่ก็ยังพูดเสียงดังไม่ได้ค่ะ ถ้าตะโกนเมื่อไหร่เสียงจะแตกจนฟังไม่รู้เรื่องเลย เราก็เลยไม่ได้ตะโกนอีกเลยหลังจากผ่าตัด ตอนนี้ผ่านมา 3 ปีกว่าแล้วเสียงก็ค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆนะคะ เริ่มพูดเสียงดังโดยที่เสียงไม่แตกได้ แต่เวลาพูดหลายๆครั้งจะมีเสียงแตกต่ำๆติดมาด้วยจนถึงทุกวันนี้ค่ะ

ความเสียใจที่สุดหลังจากผ่าตัดไทรอยด์

เมื่อ 6 ปีก่อนซึ่งอยู่ประมาณปี 2016 เราเริ่มฝึกร้องเพลงอย่างจริงจัง โดยเรียนร้องเพลงกับครูสอนร้องเพลงตัวต่อตัว เราเป็นครูสอนเปียโนซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเรียนร้องเพลงมาบ้างตอนสมัยที่เรียนในมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ค่อยชอบเพราะเรียนร้องเพลงแนวโอเปรา แต่พอมาเรียนร้องเพลงป๊อบก็ชอบเรียนร้องเพลงมากๆและคิดเสียดายว่าตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยน่าจะเลือกเรียนเอกร้องเพลงแทนเปียโน แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ค้นพบตัวเองว่าชอบร้องเพลงมากจึงเรียนเอกเปียโนจนจบปริญญาโท เราตั้งใจเรียนร้องเพลงมากๆและก็พัฒนาการร้องเพลงไปมาก เรามีเสียงค่อนข้างสูงซึ่งปกติจะสามารถร้องเสียงสูงได้ถึงตัว E5 อย่างไม่เป็นปัญหา เพื่อนๆสามารถดูเรนจ์ของเสียงจากรูปภาพด้านล่างได้นะคะ

หลังจากผ่าตัดนั้นเราตัดใจเรื่องร้องเพลงไปเลยค่ะ ช่วงแรกขอแค่ให้พูดได้ปกติก็ดีใจแล้ว พอเสียงพูดเริ่มดีขึ้น ทีนี้เราก็เริ่มหวังมากขึ้นว่าจะร้องเพลงได้ แต่ลองพยายามร้องเพลงหลายต่อหลายครั้งก็ร้องไม่ได้เลยสักเพลง เนื่องจากเรนจ์เสียงของเราหลังผ่าตัดนั้นแคบมากจึงไม่สามารถร้องเพลงได้จบเลยสักเพลงเดียว เราเริ่มรู้สึกโมโหทุกครั้งที่ร้องเพลงจนตอนหลังก็เลยถอดใจเรื่องร้องเพลงไปเลย ซึ่งมันทำให้เราเสียใจมากๆ เราพยายามพูดกับคนสนิทแต่ทุกคนก็บอกว่าดีแล้วที่รอดตายจากมะเร็ง ร้องเพลงไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนี่เพราะเป็นนักเปียโนไม่ใช่นักร้อง หลังจากได้ยินเข้าหลายๆครั้งเราก็เลยถอดใจที่จะร้องเพลงและก็เลิกพูดเรื่องร้องเพลงไปเลย แต่ทุกครั้งที่เห็นคนร้องเพลงก็จะรู้สึกเสียใจทุกครั้งไป

กลับมาร้องเพลงได้อีกครั้งหลังจากผ่าตัดไทรอยด์

เราเริ่มพยายามร้องเพลงอีกครั้งหลังจากกลับมาสอนเปียโน ซึ่งเราหยุดสอนไปตั้งแต่หลังผ่าตัดเนื่องจากย้ายไปอยู่อเมริกาและเป็นช่วงโควิดพอดี กลางปี 2022 เราก็กลับไปสอนเปียโนอีกครั้ง มีนักเรียนบางคนที่อยากเล่นเปียโนป๊อบ ซึ่งจะมีการเล่นเปียโนและร้องไปด้วย ในฐานะครูก็ต้องพยายามสาธิตวิธีการเล่นและร้องไปพร้อมๆกัน ซึ่งหลังจากไม่ได้ร้องเพลงมานานเราก็ต้องแปลกใจว่าเสียงมันดีขึ้นนิดหน่อย ตอนนี้เราสามารถร้องเพลงโดยเสียงไม่สั่นได้และร้องได้ดังขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังร้องท่อนฮุกไม่ได้เนื่องจากฮุกของเพลงส่วนใหญ่จะค่อนข้างสูง เราก็ไม่ได้พยายามกลับมาฝึกร้องเพลงที่บ้านร้องได้แค่ไหนก็แค่นั้น จนกระทั่งกลางปี 2023 เราจัดคอนเสิร์ตนักเรียน โดยคราวนี้เป็นคอนเสิร์ตป๊อบ ซึ่งเราให้ชื่อว่า “ป๊อบสตาร์คอนเสิร์ต” นักเรียนก็จะเล่นเพลงป๊อบและบางคนก็จะเล่นและร้องประกอบไปพร้อมๆกัน ทุกครั้งที่เราจัดคอนเสิร์ตเราก็จะโชว์การเล่นเปียโนของตัวเองเพื่อให้เด็กๆและผู้ปกครองได้รับชมกัน และเนื่องจากคอนเสิร์ตครั้งนี้เราดันให้เด็กหลายๆคนร้องเพลง รวมถึงขอให้ผู้ปกครองเด็กร่วมแจมการร้องเพลงในคอนเสิร์ตด้วย ครั้งนี้เราจึงพยายามที่จะโชว์การแสดงเปียโนและร้องเพลงประกอบในคอนเสิร์ตนักเรียน

เราเลือกเพลงและพยายามร้อง ซึ่งเราก็เปลี่ยนไปหลายเพลงเพราะร้องไม่ได้ สรุปก็เลือกได้มาเพลงหนึ่งแต่ต้องเปลี่ยนคีย์ให้ต่ำลงและนอกจากนี้ก็ยังต้องเปลี่ยนโน้ตให้ต่ำลงอีกด้วย เราพยายามฝึกร้องด้วยตัวเองอยู่พักใหญ่แต่ก็ยังร้องได้ไม่ดีจนในที่สุดก็ได้ปรึกษาเพื่อนซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาขับร้องที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม .มหิดลสาขาพารากอน เราได้ลงเรียนร้องเพลงออนไลน์กับเพื่อน ทีแรกเพื่อนก็ทำหน้าเครียดเนื่องจากเราขึ้นเสียงสูงไม่ได้เลย เวลาที่วอร์มเสียงพอเสียงเริ่มสูงก็จะแตกหนักมาก เราเรียนกันทุกสัปดาห์และระหว่างสัปดาห์เราก็ฝึกวอร์มเสียงเยอะมากๆทุกวัน จนกระทั่งเสียงของเราเริ่มเปิดออกมากขึ้น สามารถร้องเสียงสูงได้มากขึ้นรวมถึงยังร้องเสียง head voice ที่สูงๆได้อีกด้วย เราเห็นรอยยิ้มของเพื่อนที่ดีใจที่เราสามารถกลับมาร้องเพลงได้

แม้ว่าเราจะเริ่มกลับมาร้องเพลงได้แล้วแต่ก็ไม่สามารถร้องเพลงเดิมๆที่เคยร้องได้และจะต้องปรับคีย์ให้ต่ำลงทุกเพลง แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญที่ทำให้เรามีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่รักอีกครั้งซึ่งเราได้ถอดใจไปแล้ว ลืมบอกเพื่อนๆไปค่ะว่าถ้าวันไหนที่เราไม่ได้วอร์มเสียง เสียงก็จะกลับมาอยู่ต่ำแบบเดิม เวลาที่จะต้องร้องเพลงที่เสียงค่อนข้างสูงก็จะต้องวอร์มเสียงหนักมากๆ ต้องซ้อมเป็นชั่วโมงถึงจะร้องได้และก็ยังไม่เสถียร แต่ก็ถือว่าดีขึ้นมากๆ คลิปด้านล่างเป็นแบบฝึกหัดวอร์มเสียงที่เราฝึกทุกวัน เพื่อนๆที่ไม่ได้ผ่าตัดไทรอยด์แต่อยากฝึกร้องเพลงก็สามารถใช้แบบฝึกหัดนี้ฝึกให้เสียงแข็งแรงได้ค่ะ ของชาแนลนี้ก็จะมีแบบฝึก 5 นาที 10 หรือ 15 นาทีด้วยค่ะ

ตอนนี้เราร้องเพลงได้หลายเพลงแล้ว และเราก็มีวงดนตรีเป็นของตัวเองด้วย ชื่อวง Lost Horizon ค่ะ ซึ่งในวงของเราจะมีนักร้องทั้งหมด 3 คน เราเป็นหนึ่งในนักร้องนำด้วย ตอนนี้ก็พยายามฝึกร้องเพลงมากขึ้น เสียงของเราก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เรามีความหวังว่าเสียงของเราจะกลับมาได้เหมือนเดิมอีกครั้ง ก็ต้องรอดูกันต่อไปค่ะ เราก็ไม่อยากตั้งความหวังมากได้เท่านี้ก็ดีใจแล้วค่ะ เราอยากให้เพื่อนๆที่เสียงเปลี่ยนหรือเสียงมีปัญหาหลังจากการผ่าตัดไทรอยด์มีกำลังใจขึ้นค่ะ

คำถามที่พบบ่อย

หลังจากที่เราพยายามกลับมาร้องเพลงอีกครั้งหนึ่ง เราพยายามศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการวอร์มเสียง การร้องเพลงเทคนิคต่างๆรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเสียงบกพร่องหลังจากผ่าตัดไทรอยด์ แนวทางแก้ปัญหาที่จะช่วยให้เสียงกลับมาปกติ ข้อมูลเหล่านี้หาอ่านเป็นภาษาไทยได้ยาก เราจึงต้องศึกษาข้อข้อมูลจากภาษาเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ คำศัพท์ค่อนข้างยากแต่เราก็พยายามแปลมาให้เพื่อนๆได้อ่านกัน หากมีข้อบกพร่องประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

เป็นเรื่องปกติหรือไม่เราจะมีปัญหาเรื่องเสียงหลังจากผ่าตัดไทรอยด์

ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.healthshare.com.au/questions/46940-total-thyroidectomy-how-long-before-my-voice-comes-back/จากนักพยาธิวิทยาที่ชื่อ Nikki Martin ผู้มีประสบการณ์ในพยาธิวิทยาการพูดในผู้ใหญ่ และผู้เชี่ยวชาญในปัญหาเสียงและการกลืน/ มะเร็งใบหน้าและลำคอ ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเสียงหลังผ่าตัดไทรอยด์ดังนี้ค่ะ

เป็นเรื่องปกติมากหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ จะมีปัญหาเกี่ยวกับเสียงและการกลืน เนื่องจากเส้นประสาทที่อยู่ตรงกล่องเสียงและการทำงานของการกลืนอยู่ใกล้กับต่อมไทรอยด์มาก สามารถเกิดปัญหาของเส้นเสียงบางส่วนที่เป็น อัมพฤษ์ ซึ่งทำให้เส้นเสียงอ่อนแรง เราไม่สามารถตรวจพบได้เว้นแต่จะใช้การตรวจด้วยเครื่อมือ สโตรโบสโคป (Stroboscopy) เทคโนโลยีนี้สามารถตรวจจับปัญหาเล็กน้อยที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ปัญหาเรื่องเสียงของแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนไม่มีปัญหากับเสียงเลย บางคนมีปัญหาทันทีหลังการผ่าตัดแต่ก็แก้ไขได้ค่อนข้างเร็ว บางคนใช้เวลาในการรักษานานกว่ามาก การเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นกุญแจสำคัญในการกลับสู่เสียงที่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด การบำบัดด้วยเสียงโดยนักพยาธิวิทยาการพูดจะช่วยได้มากๆ แต่อย่างไรก็ตามคนไข้ควรไปพบแพทย์หู คอ จมูกที่มีระบบสโตรโบสโคปเพื่อรับการวินิจฉัย

Nikki Martin

ทำอย่างไรถ้าเสียงเปลี่ยนหลังจากการผ่าตัดไทรอยด์?

ความคิดเห็นจากคุณหมอ Dr. Matthew Broadhurst ศัลยแพทย์ หู คอ จมูกและศัลยแพทย์สร้างกล่องเสียงและเสียง https://www.healthshare.com.au/questions/46940-total-thyroidectomy-how-long-before-my-voice-comes-back/

ในฐานะศัลยแพทย์สร้างกล่องเสียงและเสียง ผมเห็นผู้ป่วยที่เสียงเปลี่ยนหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ อาการนี้มักหายได้จากการฟกช้ำชั่วคราวของเส้นประสาทไปจนถึงสายเสียง แต่บางครั้งอาจเป็นแบบถาวรการรักษาสำหรับผู้ที่มีปัญหาของเส้นประสาทและสายเสียงแบบถาวร สามารถผ่าตัดสร้างกล่องเสียงใหม่ด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการผ่าตัดกล่องเสียงที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี หากคนไข้มีเสียงแหบมาก ระหว่างที่รอดูว่าเส้นประสาทจะฟื้นตัวหรือไม่ คนไข้สามารถเข้ารับการรักษาโดยการฉีดเจลละลายชั่วคราวเพื่อให้เสียงกลับมาเป็นปกติมากขึ้น วิธีนี้ทำให้ผู้คนสามารถกลับไปทำงานหรือเข้าสังคมได้ด้วยเสียงที่ใกล้เคียงปกติ

Dr. Matthew Broadhurst

เสียงของฉันจะกลับมาปกติหรือไม่


หากไม่มีอาการบาดเจ็บที่เส้นประสาทหรือหากมีอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย คาดว่าการเปลี่ยนแปลงของเสียงจะยุติลงภายในสามถึงหกเดือน หากเส้นประสาทเส้นหนึ่งถูกตัดออก ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะกลับเป็นเสียงปกติอย่างสมบูรณ์

คำแนะนำทั่วไปในการทำให้เสียงกลับมาเป็นปกติเร็วที่สุดหลังจากการผ่าตัดไทรอยด์

  • ห้ามสูบบุหรี่
  • ดื่มน้ำสม่ำเสมอ
  • พยายามสร้างความชื้นในสิ่งแวดล้อมที่อยู่
  • อย่ากระแอมบ่อยจนเป็นนิสัย
  • หลีกเลี่ยงการใช้เสียงที่ไม่ใช่เสียงพูดทั้งหมด (การกระแอม การไอ จาม “เปล่งเสียง” ร้องไห้ “เปล่งเสียง” หัวเราะ และเสียงประกอบแปลกๆ)
  • ลดการใช้เสียง
  • พูดสั้น ๆ ไม่พูดนิด
  • งดใช้เสียงดัง
  • พูดให้ช้าลง พูดให้ชัดขึ้น
  • พูดในระดับเสียงและความดังที่สบาย
  • ปรับสมดุลเสียงที่ต้องการด้วยการพักเสียง

ใช้เวลานานเท่าใดกว่าที่เสียงจะกลับมาเป็นปกติหลังการตัดต่อมไทรอยด์?


เสียงของคุณอาจจะแหบ และคุณอาจมีปัญหาในการพูด สำหรับคนส่วนใหญ่ ปัญหาเหล่านี้จะดีขึ้นภายใน 3 ถึง 4 เดือน แต่อาจใช้เวลานานถึงหนึ่งปี ในบางกรณีการผ่าตัดไทรอยด์อาจทำให้เกิดปัญหาอย่างถาวรกับการเคี้ยว การพูด หรือการกลืน

การผ่าตัดไทรอยด์ส่งผลต่อเสียงของคุณหรือไม่?

การเปลี่ยนแปลงของเสียง เช่น พูดแล้วเหนื่อย ร้องและพูดเสียงดังลำบากและเสียงแหบ อาจเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้ ผู้ป่วยจำนวนมากบ่นถึงการเปลี่ยนแปลงของเสียง เช่น ความยากลำบากในการพูดได้คล่องแคล่วและการออกเสียงสูงต่ำภายหลังการตัดต่อมไทรอยด์ออก

ทำอย่างไรให้เสียงแข็งแรงขึ้นหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์?


ปรึกษานักพยาธิวิทยาในการพูด ซึ่งจะมีการฝึกการวอร์มเสียงด้วยชุดของแบบฝึกหัดที่มีไว้เพื่อชดเชยการขาดดุลที่เกิดจากการบาดเจ็บของเส้นประสาท การออกกำลังกายเสียงดังกล่าวอาจรวมถึงการผ่อนคลายศีรษะ คอ ไหล่ การหายใจด้วยช่องท้อง การเน้นเสียงที่เหมาะสม การกระดกริมฝีปากและลิ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดเสียง

จะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บของเส้นประสาทกล่องเสียง (Recurrent larynteal nerve injury : RLNI) ในการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ได้อย่างไร?


การตัดต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อต่อมพาราไทรอยด์ทั้งหมดและเส้นประสาทกล่องเสียง (RLN) การบาดเจ็บของเส้นประสาทกล่องเสียง (RLNI : Recurrent laryngeal nerve injury) เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ และอาจนำไปสู่อาการอัมพาตของสายเสียงหลังการผ่าตัด (VCP : vocal cord palsy)

ในการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การบาดเจ็บของเส้นประสาทกล่องเสียงกำเริบสามารถลดลงได้โดยการระบุการมองเห็นของเส้นประสาทกล่องเสียง (RLN) ในบางกรณีการระบุตำแหน่งของเส้นประสาทอาจค่อนข้างยาก จึงได้มีการใช้วิธีอื่นๆ ดังนี้

(แปลข้อมูลจากเว็บไซต์) https://www.hindawi.com/journals/jtr/2013/539274/ มีการทำการทดลองกับผู้ป่วย 10 รายที่ตำแหน่ง RLN นั้นระบุได้ยาก โดยใช้การฉีดสีย้อมสีน้ำเงินเข้าไปในหลอดเลือดแดงของต่อมไทรอยด์ ผลลัพธ์. RLN ถูกผ่าอย่างระมัดระวังในร่องหลอดอาหาร RLN มองเห็นได้ชัดเจนในผู้ป่วยทุกราย RLN ทั้งหมดถูกระบุตามเส้นทางในเนื้อเยื่อรอบข้างที่ย้อม หลังการผ่าตัดไม่พบ RLN palsy (การเป็นอัมพาตของสายเสียง) ซึ่งได้เขียนบทสรุปในการทดลองนี้ไว้ว่า “การฉีดสีย้อมสีน้ำเงินเข้าไปในกิ่งก้านของ ITA สามารถใช้เป็นวิธีในการผ่าตัดสำหรับคนไข้ที่ระบุ RLN ได้ยาก”

อาการและอาการแสดงของเส้นเสียงเป็นอัมพาตหลังจากการผ่าตัดไทรอยด์

  • คุณภาพเสียงหายใจ
  • เสียงแหบ
  • หายใจมีเสียงดัง
  • หายใจถี่
  • การสูญเสียระดับเสียง
  • สำลักหรือไอขณะกลืนอาหาร เครื่องดื่ม หรือน้ำลาย
  • ต้องหายใจถี่ขณะพูด
  • ไม่สามารถพูดเสียงดังได้
  • ไอไม่ได้
  • การล้างคอบ่อยๆ

ควรทำอย่างไรหากเสียงไม่กลับมาเป็นปกติหลังจากผ่าตัดไทรอยด์

ผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนแปลงของเสียงอย่างรุนแรง โดยมีหรือไม่มีปัญหาในการกลืนร่วมด้วย สามารถเข้ารับการบำบัดด้วยเสียงได้กับนักพยาธิวิทยา หากมีปัญหารุนแรงสามารถผ่าตัดเปลี่ยนกล่องเสียงได้โดยปรึกษาศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเปลี่ยนกล่องเสียง

สายเสียงเสียหายระหว่างการผ่าตัดต่อมไทรอยด์บ่อยแค่ไหน?

อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนกล่องเสียงโดยรวมเท่ากับ 42.0% (ผู้ป่วย 320 ราย) ภาวะแทรกซ้อนจากการบาดเจ็บที่เส้นเสียงเกิดขึ้นใน 31.3% ของผู้ป่วย ผู้ป่วยประมาณ 30% ถึง 80% บ่นถึงการเปลี่ยนแปลงของเสียงหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

มีรายงานอุบัติการณ์ของอัมพาตสายเสียงหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ในช่วง 3.5–6.6% และ 93–100% ของผู้ป่วยเหล่านี้หายเป็นปกติแล้ว การเกิดภาวะอัมพาตที่สายเสียงอาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้าง และอาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร

เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อนๆที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์กันนะคะ สำหรับเราเนื่องจากเราเป็นมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเลี่ยงการผ่าตัดได้ แต่หากเพื่อนๆมีวิธีอื่นเช่นการกลืนแร่เราก็แนะนำให้พิจารณาถึงผลกระทบก่อนที่จะตัดสินใจผ่าตัดค่ะ และอย่างที่บอกไปในตอนต้นว่า ผลกระทบจากการผ่าตัดของเราไม่ใช่แค่เรื่องเสียงเรื่องเดียว แต่ต่อมพาราไทรอยด์ของเราไม่ทำงานหลังผ่าตัดซึ่งส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันของเรามากๆ อาการของการที่ต่อมพาราไทรอยด์ไม่ทำงานก็มีดังนี้ค่ะ

  • รู้สึกเสียวซ่า (paraesthesia) ในปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า และริมฝีปาก
  • กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก
  • ปวดกล้ามเนื้อหรือเป็นตะคริว โดยเฉพาะที่ขา เท้า หรือหน้าท้อง
  • ความเหนื่อยล้า
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น รู้สึกหงุดหงิด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
  • ผิวแห้งหยาบกร้าน
  • ผมหยาบที่ขาดง่ายและหลุดร่วงได้
  • เล็บที่หักง่าย

สิ่งที่ส่งผลกระทบกับเรามากที่สุดก็จะเป็นเรื่องของอาการซึมเศร้า ส่วนเรื่องอาการชาหรือเป็นตะคริวเราก็ค่อนข้างชินเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว หากเรากินแคลเซียมเพียงพอก็จะไม่ค่อยชาและเป็นตะคริวบ่อยนัก ลืมบอกว่าหลังผ่าตัดเราเป็นตะคริวที่หัวด้วย แต่เป็นอยู่ไม่กี่วันอาการก็หายไปค่ะ

สุดท้ายนี้ขอให้เพื่อนผู้อ่านทุกคนศึกษาข้อมูลให้ละเอียด หากเลี่ยงการผ่าตัดไม่ได้ก็ให้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้น หาศัลแพทย์ที่เชี่ยวชาญและพูดคุยสอบถามปัญหาต่างๆระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัดให้ละเอียดค่ะ พบกันใหม่กับบทความฉบับหน้าค่ะ


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *