สำหรับนักเรียนที่กำลังเรียนเปียโนอยู่ วันนี้ครูลิสท์แบบฝึกหัด 10 อย่างที่นักเปียโนเก่งๆทุกคนล้วนผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก ซึ่งแบบฝึกหัดฝึกเทคนิคที่ครูจะกล่าวถึงในวันนี้สามารถทำให้เรามีเทคนิคในการเล่นเปียโนที่แข็งแรงขึ้นทำให้เล่นเพลงยากๆและเพลงที่ต้องใช้ความเร็วในการเล่นได้ค่ะ พร้อมแล้วเราไปดูกันเลยค่ะ
- ฝึกเล่นเปียโนด้วยเทคนิค 5 finger pattern
- ฝึกเปียโนด้วยการเล่นสเกล แบบ Contary Motion
- ฝึกเปียโนด้วยการเล่นสเกล Major และ Minor แบบ Parallel
- ฝึกเปียโนด้วยการเล่นสเกลแบ octave
- ฝึกเล่นเปียโนด้วยเทคนิค Block Chords
- ฝึกเล่นเปียโนด้วยเทคนิค Broken Chords
- ฝึกเปียโนด้วยการเล่น Arpeggio
- ฝึกเล่นเปียโนด้วยเทคนิค Rhythmic Pattern
- ฝึกเทคนิคการเล่นเปียโนจากแบบฝึกหัด Hanon
- ฝึกเทคนิคการเล่นเปียโนจากแบบฝึกหัด Cherzny
ก่อนจะไปฝึกเล่นกัน ครูฝากคอร์สเรียน “เล่นเปียโนป๊อบได้ใน 10 วัน” ไว้ด้วยนะคะ ในคอร์สนี้นักเรียนจะได้เรียนเพลงป๊อบ 3 เพลงซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเล่นเพลงอื่นๆได้อีกเป็นพันๆเพลง เราจะฝึกเรื่องการเปลี่ยนคอร์ดให้เร็ว การเล่น 2 มือ การเล่นประกอบการร้อง การเปลี่ยนคีย์ นักเรียนที่ไม่เคยเรียนเปียโนมาก็สามารถเล่นเปียโนได้ภายใน 10 วันค่ะ ในคอร์สจะมี backing track สำหรับฝึกซ้อมและเอกสารดาวน์โหลดด้วยค่ะ
เดี๋ยวเราไปดูวิธีฝึกการเทคนิคการเล่นเปียโนให้เก่งกันเลยค่ะ
1. ฝึกเล่นเปียโนด้วยเทคนิค 5 fingers pattern
วีดีโอการเล่น 5 fingers pattern
สำหรับแบบฝึกหัดข้อแรกนี้เป็นแบบฝึกหัดในการเรียนเปียโนเริ่มต้นเลยค่ะ การเล่น 5 finger pattern นี้เพื่อให้นักเรียนชินกับการเล่น 2 มือ และเป็นพื้นฐานในการสร้างคอร์ดด้วยค่ะ
คีย์แรกที่เราจะเล่นคือคีย์ C Major วิธีการก็คือเราจะวางนิ้วทั้ง 5 ของเราลงบนคีย์ โดยที่มือขวาเราจะวางเรียงนิ้ว 1-2-3-4-5 โดยนิ้ว 1 จะวางไว้ที่ตัว C และเรียงนิ้วไปเรื่อยๆจนนิ้ว 5 ไปจบที่ตัว G มือซ้ายเราจะวางนิ้ว 5 ไว้ที่ตัว C และไล่ไปเรื่อยจนไปจบที่ตัว G นิ้ว 1 ค่ะ
เราจะเริ่มเล่นตั้งแต่ตัว C ไปจนถึงตัว G ทั้งสองมือ เริ่มแรกให้เล่นช้าๆก่อนและให้แน่ใจว่าทั้งสองมือลงพร้อมกัน และอย่าลืมดูว่านิ้วต้องโค้งด้วยนะคะ เพื่อนๆสามารถดูรูปประกอบได้ตามภาพข้างล่างค่ะ
หลังจากเพื่อนๆซ้อมคีย์ C จนคล่องแล้ว เราจะซ้อมคีย์อื่นๆทั้ง Major และ minor เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดโน้ตไปซ้อมได้ตามลิงค์นี้เลยนะคะ 5 finger pattern ในไฟล์ที่เพื่อนๆจะดาวน์โหลดนั้นครูจะเขียนโน้ตสำหรับคีย์อื่นๆเอาไว้แต่ไม่ได้ใส่แพทเทิร์นสำหรับซ้อมไว้ ดังนั้นเวลาซ้อมเพื่อนๆต้องซ้อมแบบตัวอย่างข้างบนนะคะ สำหรับนักเรียนที่เล่นคอร์ดและสเกลคล่องแล้วสามารถข้ามข้อนี้ไปได้ค่ะ
เพื่อนๆที่ยังอ่านโน้ตไม่คล่อง ลอเช็คคอร์สเรียน การอ่านโน้ตฉบับสมบูรณ์ ที่จะมีแบบฝึกหัดให้ทำมากกว่า 1000 ข้อทั้งแบบออนไลน์และแบบทำมือ รับรองว่าเรียนจบคอร์สแล้วจะอ่านโน้ตได้คล่องเลยค่ะ
2. ฝึกเปียโนด้วยการเล่นสเกล Major และ Minor แบบ Contrary Motion
สเกลนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเล่นดนตรีทุกประเภท ในเปียโนนั้นการเล่นสเกลนอกจะช่วยในด้านทฤษฎีดนตรีแล้ว การไล่สเกลยังเป็นการฝึกเทคนิคที่สำคัญมากอีกด้วย ถ้าเราสามารถเล่นสเกลได้เร็วและสมบูรณ์แบบเราก็จะเล่นเพลงได้สมบูรณ์แบบเช่นกันค่ะ
เพลงส่วนมากนั้นจะมีโครงสร้างของทำนองและคอร์ดมาจากสเกล ซึ่งหากเพื่อนๆเล่นสเกลจนจำได้ขึ้นใจแล้ว เวลาเล่นเพลงเราสามารถนำแพทเทิร์นของสเกลมาใช้กับเพลงได้เลย โดยเฉพาะในเปียโนคลาสสิค เช่นเพลงของ โมสาร์ท ก็จะมีการใช้แพทเทิร์นของสเกลมาใช้อย่างสม่ำเสมอ ครูเขียนบทความ 10 เพลงง่ายๆของโมสาร์ทสำหรับนักเรียนเปียโนระดับต้นเอาไว้ เพื่อนๆสามารถคลิกอ่านได้ที่ 10 เพลงง่ายๆของโมสาร์ทที่เหมาะกับนักเรียนระดับต้น
ตัวอย่างโน้ตสเกลและการใช้นิ้วที่ถูกต้อง เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดได้ตามลิงค์นี้เลยนะคะ การเล่นสเกล Major 3แบบ และ การเล่นสเกล minor 3 แบบ โดยในลิงค์นี้จะมีการเล่นสเกลแบบ Contrary Motion, Parallel Motion และ แบบ Octave ค่ะ ซึ่งจะกล่าวต่อไปในข้อ 3และ 4 ค่ะ
Scale แบบ Contrary Motion คือการเล่นสเกลที่มือขวาและมือซ้ายไล่สวนทางกัน ถ้าเพื่อนๆเพิ่งหัดเล่นสเกลครูแนะนำให้ฝึกเล่นสเกลแบบ Contrary Motion ก่อน เนื่องจากทั้งสองมือจะใช้นิ้วเหมือนกันจึงทำให้ง่ายต่อการเล่นค่ะ
จากตัวอย่างด้านบนเราจะเล่นสเกล 1 octave ก่อน และเมื่อเพื่อนๆเล่นคล่องแล้วเราจะเพิ่มเป็น 2 octave และ 4 octave ตามลำดับค่ะ และสำหรับ 4 octave เราจะเล่นในจังหวะของตัวเขบ็จ 2 ชั้นค่ะ ที่เราจำเป็นต้องฝึกไล่สเกล 4 octave และเล่นในจังหวะของตัวเขบ็จ 2 ชั้นเพราะจะช่วยฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและสามารถเล่นเพลงเร็วๆได้ค่ะ
3. ฝึกเปียโนด้วยการเล่นสเกล Major และ Minor แบบ Parallel Motion
การเล่นสเกลแบบ Parallel Motion เป็นการไล่โน้ตขึ้นและลงไปในทิศทางเดียวกันทั้งสองมือ ซึ่งการไล่สเกลลักษณะนี้จะยากกว่าแบบข้างต้นเนื่องจากทั้ง 2 มือจะใช้นิ้วคนละแบบค่ะ จึงต้องมีการแยกประสาทมากกว่าแบบ Contrary Motion เพื่อนๆสามารถดูได้จากตัวอย่างด้านล่างค่ะ
เวลาซ้อมเพื่อนๆควรซ้อมจากช้าๆและอย่าลืมซ้อมกับ metronome ด้วยค่ะ หลังจากเล่นได้คล่องแล้วเราจะเพิ่มเป็น 2 octave และ 4 octave ตามลำดับค่ะ เพื่อนสามารถดูโน้ตตัวอย่างของการฝึกสเกลแบบ 4 octave ได้ด้านล่างค่ะ
เพื่อนๆควรฝึกสเกลทุกคีย์และฝึกอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยเพิ่มเทคนิคของนิ้วได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ สำหรับใครที่ต้องการโน้ตสเกล ครูแนะนำว่านักเรียนควรซื้อหนังสือที่ชื่อว่า Hanon นะคะ ซึ่งครูจะอธิบายเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ในข้อหลังๆ ในหนังสือเล่มนี้จะมีสเกลทุกคีย์ซึ่งจะอยู่ในบทที่ 39 ค่ะ
4. ฝึกเปียโนด้วยการเล่นสเกลแบบ octave
การฝึกเล่นสเกลเป็น Octave นั้นช่วยได้หลายเรื่องมากๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความแม่นยำในการกดคีย์ เพราะเวลาเรากด Octave นั้นตาเราจะต้องเล็งให้แม่นเพราะเวลาเล่นเราจะต้องยกมือทั้งมือและจะต้องเคลื่อนมือตลอดเวลา ซึ่งต่างกับการเล่นสเกลธรรมดาที่นิ้วจะไล่ไปเรื่อยๆ การฝึกสเกลแบบ Octave ยังช่วยให้นิ้ว 5 แข็งแร็งขึ้นและข้อมือแข็งแรงขึ้นเช่นกัน
สำหรับเพื่อนๆที่เล่นเพลงป๊อบ การฝึกเล่น Ocatave จะช่วยให้การเล่นทำนองเพลงมีสีสันมากขึ้น เพราะแทนที่เราจะเล่นทำนองด้วยโน้ตตัวเดียวแต่เราเล่นด้วยโน้ต 2 ตัวก็จะทำให้เสียงแน่นขึ้น นอกจากนี้หากเราต้องการใส่คอร์ดที่มือขวาแบบเต็มรูปแบบ การเล่น Octave ก็จะทำให้จับคอร์ดง่ายขึ้นค่ะ ตัวอย่างการเล่นสเกลแบบ Octave ดูได้ที่ด้านล่างนะคะ
และเช่นกันสำหรับการฝึกเทคนิคนี้เพื่อนๆควรฝึกให้ได้ทุกคีย์ค่ะ แต่หากมีเวลาจำกัดสามารถเลือกฝึกสเกลแบบ Parallel Motion ก่อน เพราะจะใช้มากที่สุดค่ะ
5. ฝึกเล่นเปียโนด้วยเทคนิค Block Chords (กดคอร์ดพร้อมกัน)
เพื่อนๆที่เล่นป๊อบอย่าพลาดฝึกสิ่งนี้เป็นอันขาดค่ะ เพราะถือว่าเป็นเทคนิคการเล่นเปียโนป๊อบที่จำเป็นที่สุดใน 10 ข้อที่ครูกล่าวถึงเลยก็ว่าได้ค่ะ สำหรับเพื่อนๆที่เรียนคลาสสิค การเล่น Block Chord ก็มีความจำเป็นไม่แพ้กันค่ะ
Block Chord คือการกดคอร์ดทั้งหมดพร้อมกัน โดยการเล่นบล็อคคอร์ดนั้นเพื่อนๆจะต้องเล่นแบบ Inversion (การพลิกกลับคอร์ด) ด้วย เพราะเวลาที่เราเล่นเพลงเราจะต้องเจอการกดคอร์ดหลากหลายแบบมากดังนั้นเราจึงต้องฝึกให้ครอบคลุมค่ะ
ตัวอย่างการฝึกบล็อคคอร์ดในคีย์ Major และ minor
เวลาเพื่อนๆฝึกให้ฝึกแค่จากห้องที่ 1-4 นะคะ ในห้องที่ 5- 10 นั้นจะเป็นวิธีการกดคอร์ดอื่นๆนอกเหนือจากคอร์ด C และ Cm ซึ่งเราจะนำคอร์ดทุกคอร์ดมาฝึกแบบห้องที่ 1-4 ค่ะ
เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดเพื่อซ้อม Block Chord ได้ที่นี่ค่ะ การเล่น Block Chord และ ฺBroken Chord Major key และสามารถดูวิธีการเปลี่ยนคอร์ดให้เร็วได้ที่ เล่นเปียโนได้ใน 10 วัน เรียนฟรี 2 บทเรียนค่ะ
6. ฝึกเล่นเปียโนด้วยเทคนิค Broken Chords (กดคอร์ดแยกทีละตัว)
การเล่น Broken Chord นั้นจะช่วยให้เพื่อนๆเล่นเปียโนในเพลงที่ใช้คอร์ดแบบวิ่งๆได้เร็วขึ้นค่ะ และในเปียโนป๊อบเพื่อนๆยังสามารถนำ Broken คอร์ดมาใส่ใน Intro หรือ Outro เพื่อให้เพลงมีความน่าสนใจมากขึ้นและฟังดูหรูหรามากขึ้นด้วยค่ะ ตัวอย่างการฝึก Broken Chord ในคีย์ Major และ minor
เวลาเพื่อนๆฝึกให้ฝึกแค่จากห้องที่ 1-4 นะคะ ในห้องที่ 5- 10 นั้นจะเป็นวิธีการกดคอร์ดอื่นๆนอกเหนือจากคอร์ด C และ Cm ซึ่งเราจะนำคอร์ดทุกคอร์ดมาฝึกแบบห้องที่ 1-4 ค่ะ
เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดเพื่อซ้อม Broken Chord ได้ที่นี่ค่ะ โน้ต Block Chord และ Broken Chord minor key
7.ฝึกเปียโนด้วยการเล่น Arpeggio
การเล่น Arpeggio หรือ อาร์เพจจิโอ นั้นก็เป็นหัวใจหลักของการเล่นเปียโนเช่นเดียวกับสเกล อาร์เพจจิโอนั้นก็จะมีลักษณะเหมือนกับคอร์ดแต่จะเล่นต่อเนื่องกันไปตั้งแต่ 1 octave ไปจนถึง 4 octave วิธีการฝึกเพื่อนๆก็เริ่มฝึกช้าๆโดยเราจะเน้นทุก 3 จังหวะค่ะ (เน้นตัวแรกของกลุ่มจังหวะ)
การใช้นิ้วที่มือซ้ายของอาร์เพจจิโอนั้นจะมีความแตกต่างในแต่ละคีย์ดังนี้ค่ะ คีย์ C, F, G, และทุกคีย์ minor จะใช้นิ้วตามตัวอย่างด้านบน คีย์ D, E, A, B เราจะเปลี่ยนนิ้ว 4 เป็นนิ้ว 3 ดังตัวอย่างด้านล่างค่ะ
สำหรับการเล่นอาร์เพจจิโอ เราจะเล่นทุกคีย์เหมือนเดิมนะคะ โดยคีย์อื่นๆดูคอร์ดได้จากตัวอย่างในข้อ 6 ค่ะ สำหรับอาร์เพจจิโอนั้นเพื่อนๆควรต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอ ถ้าอยากเล่นเปียโนเก่งไม่ควรข้ามเทคนิคข้อนี้เด็ดขาดค่ะ
เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดโน้ต Arpeggio ได้ที่ โน้ต Arpeggio1 และ Arpeggio 2 ค่ะ
8. ฝึกเล่นเปียโนด้วยเทคนิค Rhythmic Pattern
เทคนิคการเล่น rhythmic pattern นั้นเป็นเทคนิคที่จะทำให้เพื่อนๆเล่นท่อนที่เร็วๆได้อย่างสมบูรณ์แบบเลยล่ะค่ะ เชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนอาจจะเคยเจอปัญหาเวลาที่ต้องเล่นเพลงเร็วๆ ไม่ว่าจะมีการไล่โน้ตไปมาแบบสเกลหรืออาร์เพจจิโอหรือโน้ตอะไรก็ตามที่เขียนด้วยความเร็วตั้งแต่เขบ็จสองชั้นขึ้นไป บางครั้งเราอยากจะเล่นเร็วแต่มันก็ไม่เป็นดั่งใจ บางครั้งเราเล่นเร็วได้แต่เราก็เล่นบางโน้ตไม่ชัดหรือจังหวะรวนเพราะนิ้วไม่แข็งแรงพอ ถ้าเพื่อนๆมีปัญหาเหล่านี้เราจะมาฝึกการเล่นแบบ rhythm pattern กันค่ะ
การฝึก rhythmic pattern นั้นเพื่อนๆสามารถนำไปใช้ได้กับเทคนิคทั้งหมดที่ครูได้กล่าวไว้ข้างต้นเลย สามารถเล่นร่วมกับสเกล, อาร์เพจจิโอ, block chord, broken chord, โดยวิธีการเล่นนั้นเราจะเปลี่ยนจังหวะทั้งหมด 2 แบบได้แก่
- ยาว……สั้นยาว……..สั้นยาว…….สั้นยาว……
- สั้นยาว……..สั้นยาว……สั้นยาว…..สั้นยาว……
จากตัวอย่างด้านบนเรานำ rhythmic pattern มาใช้กับสเกล C Major โดยวิธีการฝึกมีดังนี้ค่ะ เวลาที่เล่นโน้ตยาวให้แช่นานกว่าจังหวะจริงเล็กน้อย (โน้ตยาวคือโน้ตที่เป็นตัวเขบ็จ1 ชั้นประจุด) เวลาที่เล่นโน้ตสั้น (โน้ตเขบ็จ 2 ชั้น) ให้เล่นสั้นมากๆ เพื่อนๆจะต้องฝึกเล่นแบบที่ 1 ประมาณ 7-10 รอบจนคล่องและต่อด้วยแบบที่ 2 อีก 7-10 รอบค่ะ เราจะฝึกแบบนี้วันละประมาณ 3-5 เซ็ตค่ะ
กฏเหล็กในการฝึกแบบฝึกหัดนี้คือ เวลาฝึกนิ้วต้องโค้งสวยและให้เริ่มเล่นจากช้าๆและต้องระวังอย่าให้โน้ตผิด เพราะไม่อย่างนั้นเราจะเล่นคล่องแต่จะเล่นโน้ตผิดนะคะ หรือถ้าเล่นผิดแบบที่ไม่ซ้ำกันสักรอบการฝึกด้วยวิธีนี้ก็จะไม่ได้ผลเลยค่ะเพราะฉะนั้นต้องระวังมากๆค่ะ อีกอย่างที่สำคัญมากคือเพื่อนๆจะต้องซ้อมติดๆกันทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ค่ะ
ถ้าเพื่อนๆเจอท่อนไหนในเพลงที่เล่นไม่ได้ก็ให้แยกออกมาฝึกด้วยเทคนิคนี้ รับรองได้ผล 100 % ค่ะ
เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดโน้ตได้ที่ rhythmic pattern หากสนใจการฝึกให้เล่นเปียโนให้เล่นได้เร็วปรื๋อลองเช็คได้ที่ youtube ที่ครูสอนไว้ด้านล่างค่ะ
9. ฝึกเทคนิคการเล่นเปียโนจากแบบฝึกหัด Hanon
สำหรับ Hanon นั้นเป็นพื้นฐานที่นักเรียนเปียโนทุกคนต้องเรียนค่ะ แบบฝึกหัด Hanon นั้นจะเต็มไปด้วยเทคนิคที่สำคัญในการเล่นเปียโน ในช่วงบทที่ 1-38 นั้นจะเป็นการฝึกนิ้วที่แตกต่างกัน บางบทจะฝึกนิ้ว 5 บางบทฝึกนิ้ว 3-4 ซึ่งสำหรับนักเรียนที่อยู่ในระดับต้นควรจะฝึกทั้ง 38 บท และในบทที่ 39 เป็นต้นไปจะเป็นสเกลและอาร์เพจจิโอ ซึ่งเพื่อนๆก็ควรจะฝึกเช่นกัน หลังจากสเกลและอาร์เพจจิโอแล้วบทฝึกจะเพิ่มความยากขึ้นมากๆ มีเทคนิคทุกอย่างที่จำเป็นในการเล่นเปียโน ถ้าเพื่อนๆเรียนในระดับต้นอาจจะยังไม่ต้องฝึกบทหลังจากสเกลและอาร์เพจจิโอก็ได้เพราะจะเป็นเทคนิคในระดับกลางขึ้นไปค่ะ บทสุดท้ายนั้นยากมหาโหด ต้องใช้ความแข็งแกร่งของนิ้วเป็นอย่างมากถึงจะสามารถเล่นได้จบค่ะ ตอนครูเรียนอาจารย์สั่งให้เล่น Hanon ทั้งเล่มตั้งแต่ต้นจนจบทุกวัน โหดมากๆเลยค่ะ
สำหรับเพื่อนๆที่เพิ่งเริ่มเรียนก็อาจจะเริ่มฝึกที่ 10 บทแรกก่อนนะคะจะได้ไม่รู้สึกว่าหนักจนเกินไป จากนั้นก็พยายามเล่นให้ได้อย่างน้อย 20 บทค่ะและพยายามฝึกให้ได้ทุกวัน เทคนิคเราก็จะดีขึ้นค่ะ
ในการเล่น Hanon นั้น สิ่งสำคัญคือเพื่อนๆจะต้องวางนิ้วให้โค้งและเวลาเล่นจะต้องยกนิ้วสูงๆค่ะเพื่อที่จะได้ฝึกกล้ามเนื้อแต่ละนิ้ว และนอกจากนี้เราควรจะเล่นให้เร็วด้วยเพราะไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ประโยชน์ที่สมบูรณ์ค่ะ เพื่อนๆสามารถนำเทคนิค rhythmic pattern ที่ครูแนะนำไว้ในข้อ 8 มาใช้ฝึกกับ Hanon แต่ละบทก็ได้ค่ะจะได้เพิ่มความแข็งแรงของนิ้วขึ้นไปอีก สรุปแล้วหนังสือ Hanon เล่มนี้ควรมีไว้ในครอบครองมากๆเลยค่ะ
10. ฝึกเทคนิคการเล่นเปียโนจากแบบฝึกหัด Cherzny
แบบฝึกหัด Cherzny อ่านออกเสียงภาษาไทยว่า “เชอร์นี” เป็นหนังสืออีกเล่มที่เพื่อนๆควรมีไว้ในครอบครองเช่นกัน Cherzny นั้นมีหลายบทแต่บทที่ได้รับความนิยมมากๆคือ op. 299 และ op.599 ในการฝึกแบบฝึกหัด Cherzny นั้นเหมาะสำหรับนักเรียนระดับต้นและระดับกลาง เป็นการวางพื้นฐานการเล่นเพลงยากๆอย่างเพลงของ โชแปง (Chopin) รัคมานินอฟ (Rachmaninov) หรือ ลิซท์ (Liszt) เนื่องจากแบบฝึกหัด Cherzny นั้นประกอบไปด้วยสเกล อาร์เพจจิโอและคอร์ด ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการประพันธ์เพลงคลาสสิค ดังนั้นหากเพื่อนๆยอมฝึก Cherzny ก็จะเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปต่อยอดในการเล่นเพลงยากๆของนักประพันธ์ที่กล่าวมาข้างต้นได้
ในการฝึกเทคนิคของ Cherzny นั้นจะมีความแตกต่างจาก Hanon เพราะ Hanon นั้นจะฝึกแบบเครื่องจักร จะไม่มีทำนองที่ไพเราะเพื่อดึงดูดใจให้เราฝึก แต่ Cherzny นั้น เพลงมีแนวทำนองที่ไพเราะ ฟังแล้วดูเป็นเพลงที่น่าเล่น ในแต่ละแบบฝึกหัดเพื่อนๆก็จะได้ฝึกเทคนิคที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น การแยกประสาท การเล่นทำนองให้เป็น Legato การคอนโทรลน้ำหนักของมือขวาและมือซ้าย หลายๆครั้งน้ำหนักการเล่นของทั้งสองมือจะไม่เท่ากัน การเล่น articutation (ความสั้น-ยาว) วิธีการกดในลักษณะต่างๆ ซึ่งเพื่อนๆจะได้ฝึกสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมๆกับการแสดงความรูสึกในการเล่นด้วย ฟังแล้วอยากเล่นเลยใช่มั้ยคะ จัดไปค่ะเล่มนี้ดีจริงๆค่ะ
ถ้าจะุถามว่าทั้ง 10 เทคนิคที่ครูกล่าวมาทั้งหมด จำเป็นจะต้องฝึกทั้งหมดไหม คำตอบคือจำเป็นและไม่จำเป็นค่ะ ถ้าเราอยากเล่นเปียโนเก่งก็ควรฝึกทั้ง 10 ข้อที่ครูแนะนำมาค่ะ แต่ถ้าเราอยากเล่นเปียโนเพื่อความเพลิดเพลิน อาจจะเลือกฝึกเป็นบางอย่างก็ได้ค่ะ สำหรับเพื่อนๆที่เรียนเปียโนป๊อบหรือเปียโนคลาสสิคหากไม่มีเวลาซ้อมมาก ก็ให้เลือกซ้อม สเกลแบบ Parallel, อาร์เพจจิโอ, Block Chord, Broken Chord ค่ะ ถ้าเรียนเปียโนคลาสสิคจะต้องเพิ่ม Hanon กับ Cherzny ด้วยค่ะ
เอาล่ะค่ะ ครูก็หวังว่าเพื่อนๆจะได้ความรู้ในการเพิ่มเทคนิคในการเล่นเปียโน อย่าอ่านอย่างเดียวนะคะ ดาวน์โหลดกันไปซ้อมเลยค่ะ พบกันใหม่กับบทความหน้าค่ะ
Leave a Reply