เพื่อนๆหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ” ซิมโฟนี” และ “ออร์เคสตร้า” หลายๆครั้งมีการเรียกรวมกันว่า ซิมโฟนีออร์เคสตรา จริงๆแล้วซิมโฟนีกับออเคสตร้านั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อย วันนี้เราจะไปดูกันว่าสองคำนี้มันมีความแตกต่างกันอย่างไร
ความแตกต่างระหว่างซิมโฟนีและออร์เคสตร้าคือ ซิมโฟนีเป็นชื่อเรียกประเภทของเพลงคลาสสิค ส่วนออร์เคสตร้าคือกลุ่มนักดนตรีที่เล่นเพลงซิมโฟนี ซิมโฟนีเป็นเพลงคลาสสิคขนาดใหญ่ที่มี 3-4 ท่อน และใช้ดนตรีในวงออร์เคสตร้าบรรเลง ออร์เคสตร้าคือกลุ่มนักดนตรีที่บรรเลงเพลงคลาสสิค ประกอบไปด้วย กลุ่มเครื่องสาย กลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ กลุ่มเครื่องเป่าทองเหลือง กลุ่มเครื่องกระทบ
เพื่อนๆสามารถคลิ๊กอ่านเกี่ยวกับประเภทของเครื่องดนตรีสากลได้ ที่นี่ เลยค่ะ
ซิมโฟนีกับออร์เคสตราต่างกันอย่างไร
- ออร์เคสตรา (orchestra) คือกลุ่มของนักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีในกลุ่มต่างๆ
- ออร์เคสตราประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีกลุ่มเครื่องสาย เครื่องเป่าและเครื่องกระทบ
- ซิมโฟนี (symphony) คือประเภทของวงออร์เคสตราแบบหนึ่งที่บรรเลงแบบเต็มวง มีนักดนตรีประมาณ 100 คน
- ซิมโฟนีเป็นคำที่ใช้เรียกรูปแบบการประพันธ์เพลงที่นักประพันธ์เพลงที่สำคัญอย่างโมสาร์ท ไฮเดิน บีโธเฟนและนักประพันธ์ท่านอื่นๆได้ประพันธ์ไว้
ซิมโฟนีคืออะไร (Symphony)
ซิมโฟนีเป็นผลงานเพลงที่ยิ่งใหญ่ เพลงมีความยาวและประกอบไปด้วยหลายท่อน ส่วนใหญ่แล้วจะมี 4 ท่อน แต่ละท่อนจะมีช่วงหยุดเล็กน้อยเพื่อเข้าเปลี่ยนอารมณ์ในท่อนใหม่ เพื่อนๆอย่าเผลอปรบมือระหว่างท่อนนะคะเพราะตามธรรมเนียมแล้วเราจะปรบมือหลังจากที่จบครบทุกท่อนแล้ว หากใครเผลอปรบระหว่างท่อนก็จะโดยคนดูหันมามองเอาได้ค่ะ นักประพันธ์เพลงที่เป็นแบบอย่างในการประพันธ์เพลงซิมโฟนีได้แก่ “ไฮเดิน (Haydn) และ โมสาร์ท (Mozart) ซึ่งการประพันธ์เพลงซิมโฟนีของนักประพันธ์ทั้งสองท่านนี้ถือว่าเป็นผู้วางรากฐานของแบบแผนการประพันธ์เพลงซิมโฟนีเลย
ในท่อนแรกนั้น ซิมโฟนีจะอิงแบบฟอร์มการประพันธ์เพลง Sonata ซึ่งรูปแบบของบทเพลงที่ประพันธ์ในยุคคลาสสิค ตามธรรมเนียมการประพันธ์ซิมโฟนีนั้น ท่อนแรกจะมีความสดใส สนุกสนาน จังหวะเร็ว ตามด้วยทำนองเพลงที่ช้า มีแนวทำนองไพเราะอ่อนหวานในท่อนที่สอง ท่อนสามก็จะกลับมาสนุกสนานอีกครั้ง อาจเป็นแนวเต้นรำ และท่อน finale ซึ่งเป็นท่อนสุดท้ายก็จะโชว์ความอลังการให้คนดูตื่นตาตระการใจ
- ท่อน 1 – allegro (เร็ว) ส่วนใหญ่ประพันธ์ตามแบบฟอร์มของการประพันธ์ Sonata
- ท่อน 2 –ช้า
- ท่อน 3 – minuet (เพลงเต้นรำ ส่วนใหญ่จะเป็นจังหวะ 3/4)
- ท่อน 4 – allegro (เร็ว)
ซิมโฟนีที่ประพันธ์ขึ้นในช่วงปี 1700 นั้นส่วนใหญ่แล้วจะมี 4 ท่อน ซึ่งเป็นไปตามแบบแผนการประพันธ์ซิมโฟนีที่ได้มาจากการประพันธ์ของโมสาร์ท (Mozart) และไฮเดิน (Haydn) แต่พอมาช่วงปี 1800 นั้นซิมโฟนีก็ไม่ได้ประพันธ์ตามแบบแผนอีกต่อไป บางครั้งมีการเพิ่มท่อนโซโลขึ้นมา หรือบางครั้งอาจมีการร้องคอรัสในบางท่อน อย่างเช่น Symphonny no.9 ของบีโธเฟน ปัจจุบันซิมโฟนีอาจมี 4 ท่อน หรือ 3 ท่อน ก็ได้
ออร์เคสตราคืออะไร (Orchestra)
วงออเคสตราเป็นคําที่ใช้สําหรับกลุ่มนักดนตรีที่บรรเลงดนตรีที่หลากหลายเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม เราไม่สามารถเรียกนักดนตรีทุกกลุ่มว่าเป็นวงออเคสตราได้ เนื่องจากวงออร์เคสตรานั้นจะต้องมีลักษณะเฉพาะดังนี้
- วงออร์เคสตราจะต้องมีนักดนตรีกลุ่มเครื่องสาย เครื่องกระทบ เครื่องเป่าลมไม้และเครื่องเป่าทองเหลือง
- วงออร์เคสตราจะต้องมีคอนดักเตอร์เป็นผู้คุมวงในระหว่างการแสดงด้วย
เพื่อนๆสามารถคลิ๊กอ่านบทความ คอนดักเตอร์มีหน้าที่ทำอะไร-สัมภาษณ์จากวงใน ได้เลยค่ะ
คําว่า ” ออร์เคสตรา” นี้มีต้นกําเนิดมาจากสมัยกรีกโบราณ โดยในช่วงแรกนั้นเป็นการแสดงของนักเต้นและนักร้องที่มีการแสดงในพื้นที่ที่จัดทําขึ้นเป็นพิเศษเพื่อแสดงต่อหน้าผู้ชม โดยในราวศตวรรษที่ 16 วงออร์เคสตร้านั้นจะประกอบไปด้วยการร้องโอเปราประกอบกับเครื่องดนตรีกลุ่มเครื่องสาย ซึ่งมีนักดนตรีประมาณ 10-25 คน ในศตวรรษที่ 17 ก็มีการเพิ่มเครื่องเป่าลมไม้และตามมาด้วยเครื่องเป่าทองเหลืองและเครื่องกระทบในภายหลัง วงออร์เคสตราได้รับความนิยมมากขึ้น และในศตวรรษที่ 20 วงออร์เคสตราก็มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก โดยมีผู้เล่นมากถึง 100 คนทีเดียว
หากเพื่อนๆมีโอกาสไปชมการแสดงของวงออร์เคสตรา ให้เพื่อนๆลองสังเกตดูว่าเวลาที่วงเล่นเพลงในยุคบาโรค (1600-1750) หรือยุคคลาสสิค (1750-1820) วงออร์เคสตราจะมีขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับเพลงในยุคโรแมนติก ( 1820-1900)
ประเภทของวงออร์เคสตรามีอะไรบ้าง
เราจะแบ่งประเภทของวงออร์เคสตราตามจำนวนผู้เล่นดังนี้
- Chamber Orchestra (แชมเบอร์ออร์เคสตรา) จะมีผู้เล่นน้อยกว่า 50 คน
- Full Orchestra (ออร์เคสตราเต็มวง) มีผู้เล่นประมาณ 100 คน
- Symphony Orchestra (ซิมโฟนีออร์เคสตรา) บางครั้งเราสามารถเรียกออร์เคสตราเต็มวงว่าซิมโฟนีออร์เคสตราได้เช่นกัน
บทเพลงที่วงออร์เคสตรานำมาบรรเลงในคอนเสิร์ตมีอะไรบ้าง
ซิมโฟนี (symphony) เป็นเพลงขนาดใหญ่ที่มี 3-4 ท่อน ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยท่อน เร็ว-ช้า-เร็ว-เร็ว ท่อนแรกจะใช้รูปแบบการประพันธ์แบบ sonata
คอนแชร์โต (concerto) เป็นเพลงที่วงออร์เคสตราเล่นประชันกับเครื่องดนตรีเดี่ยว เช่น เปียโนคอนแชร์โต (piano concerto) ก็จะมีการเล่นเปียโนเดี่ยวประชันกับวงออร์เคสตรา ในบทประพันธ์ก็จะมีการบรรเลงพร้อมกันและสลับกันเล่นโซโล โดยในท่อนโซโลของเครื่องดนตรีเดี่ยวนั้นจะเน้นโชว์เทคนิคที่หรูหราเพื่อโชว์ความสามารถของผู้บรรเลงเดี่ยวนั่นเอง คอนแชร์โตนั้นจะมี 3 ท่อนซึ่งส่วนมากจะแบ่งเป็น ท่อนเร็ว – ช้า-เร็ว
ซิมโฟนิคโพเอ็ม (symphonic poem) บทเพลงออร์เคสตราที่เล่าเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะบรรยายเกี่ยวกับบทกวีสั้นๆ เรื่องสั้น ภาพเขียน ภาพทิวทัศน์ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการถึงฉากของเนื้อเรื่อง ภาพที่บรรยายหรือความคิดต่างๆที่เฉพาะเจาะจง โดยผู้ประพันธ์จะเน้นให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการและเน้นในเรื่องของอารมณ์ความรุ้สึกมากกว่าการประพันธ์โดยยึดตามระเบียบแบบแผน เช่นการใช้ sonata form
โอเปรา (opera) เป็นบทเพลงละครร้องที่เน้นการร้องในการดำเนินเรื่องแล้วใช้ออร์เคสตราในการบรรเลงประกอบ
บัลเลต์ (ballet) เป็นการดำเนินเรื่องโดยใช้ลีลาท่าทางของร่างกายในการเต้นดำเนินเรื่อง แล้วใช้ออร์เคสตราบรรเลงประกอบ การแสดงบัลเลต์จะไม่มีบทร้องดังนั้นนักแสดงจะต้องพยายามถ่ายทอดอารมณ์และเรื่องราวต่างๆผ่านการเต้น
Leave a Reply