ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่อยากเรียนดนตรี

การเรียนดนตรีนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายค่ะ แม้ว่าเราจะเห็นว่าดนตรีเป็นสิ่งสนุกสนาน แต่การจะฝึกให้เล่นได้เก่งนั้นจะต้องใช้เวลาหลายหมื่นชั่วโมงในการฝึกซ้อม ดังนั้นหากลูกเกิดอาการเบื่อหน่ายก็ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ เราไปดูกันดีกว่าว่าเราควรจะทำอย่างไรหากลูกไม่อยากเรียนดนตรี

1.คุยกับลูกเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมไม่อยากเรียนดนตรี

ก่อนอื่นเลยคุณพ่อคุณแม่ต้องหาสาเหตุว่าทำไมลูกถึงไม่อยากเรียน โดยเราอาจจะนั่งกับลูกและพูดคุยกับเขาเวลาที่เขาอารมณ์ดี และเริ่มถามหาสาเหตุว่าทำไมถึงไม่ชอบเรียนดนตรี โดยการที่ลูกไม่อยากเรียนอาจมีสาเหตุดังนี้

  • ไม่อยากซ้อมดนตรี
  • เล่นไม่ได้เพราะรู้สึกว่ายากเกินไป
  • ติดเกมส์
  • ไม่อยากเรียนเพลงเดิมซ้ำๆ

ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุที่ครูพบโดยทั่วไปในเด็กที่ไม่อยากเรียนดนตรีคือ เกิดจากการที่เด็กไม่ได้ซ้อมอย่างสม่ำเสมอจึงทำให้เล่นดนตรีไม่ได้ ครูจึงต้องสอนซ้ำเพลงเดิมและทำให้เกิดอาการเบื่อหน่ายค่ะ

2.คุยกับครูเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา

เมื่อเราคุยกับลูกแล้วก็ลองคุยกับครูเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกรู้สึก ลองช่วยกันหาแนวทางแก้ไข ส่วนใหญ่แล้วสำหรับนักเรียนของครูเวลาที่นักเรียนเริ่มเบื่อ ครูจะพยายามปรับบทเรียนโดยหาเพลงที่นักเรียนสนใจอยู่ในขณะนั้น โดยครูจะนำเพลงที่นักเรียนชอบมาเขียนเป็นโน้ตใหม่ที่เหมาะกับระดับการเรียนของนักเรียน เรียกง่ายๆคือเอามาทำเป็นโน้ตที่ง่ายขึ้นเพื่อให้นักเรียนสามารถเล่นได้ แต่หากเพลงยังยากเกินไปครูจะให้นักเรียนเล่นแนวทำนองและครูจะเล่นประกอบที่มือซ้าย สวนใหญ่แล้วการทำแบบนี้จะช่วยให้นักเรียนเกิดความสนุกมากขึ้นและสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียนว่าเขาสามารถเล่นเพลงที่ชอบได้สำเร็จ

อีกวิธีหนึ่งคือเราจะลดความยากของเพลงลงสัก 1 เกรด เช่นสมมุติว่านักเรียนกำลังเรียนเกรด 5 อยู่ ครูจะเลือกเพลงเกรด 4 ให้เขาเล่น เมื่อเขาทำได้ก็จะเกิดความภาคภูมิใจ หลังจากที่เกิดความรู้สึกที่ดีในการเล่นเปียโนแล้วเราจึงจะกลับไปเล่นระดับเกรดเดิมอีกครั้งค่ะ

3.พยายามมีส่วนร่วมในการซ้อมดนตรีกับลูก

การที่เรานั่งฟังลูกซ้อมเปียโนทุกวันนั้นช่วยได้อย่างมาก เนื่องจากลูกต้องการความสนใจจากพ่อแม่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นหากเรามีส่วนร่วมในการซ้อมกับลูก ลูกก็จะตั้งใจซ้อมเปียโนเพราะรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจและอยากให้เขาเล่นได้

4. แสดงความชื่นชมเมื่อลูกเล่นเพลงได้

ลูกจะชอบเวลาที่เห็นพ่อแม่มีความสุข โดยเฉพาะเมื่อเขาเป็นคนทำให้พ่อแม่ยิ้มได้ นั่นแสดงว่าหากลูกเล่นเพลงได้สักเพลงหนึ่ง สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างมากคือ ชมเขาว่าเขาเก่งและมีความสามารถ ทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ ลูกก็จะมีความสุขและอยากจะทำซ้ำๆอีก แต่หากพ่อแม่ไม่สนใจเขาก็จะไม่มีแรงกระตุ้นในการเรียนดนตรีค่ะ

5.มีของขวัญเล็กๆน้อยๆให้ลูกรู้สึกชื่นใจเมื่อเล่นดนตรีได้

เด็กๆย่อมชอบของขวัญอยู่แล้ว เราควรจะมีรางวัลให้เขาหากเขาสามารถเล่นเพลงได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ แค่ของขวัญเล็กๆอย่างคุ้กกี้หรือสติกเกอร์ เด็กก็จะมีความพยายามมากขึ้นในการฝึกซ้อมเพื่อที่จะได้ของรางวัลค่ะ

6.สร้างแรงบันดาลใจโดยการเปิดวีดีโอการแสดงดนตรีของเด็กคนอื่น

ข้อนี้คุณแม่คุณพ่อต้องระวังเล็กน้อยในด้านของคำพูด เวลาที่เราเปิดวีดีโอที่เด็กคนอื่นเล่นดนตรี ลูกเราก็จะให้ความสนใจแต่อาจจะรู้สึกว่าทำไมเด็กคนนี้เล่นได้เก่งกว่าเขา สิ่งที่เราควรทำคือ เราควรบอกลูกว่า ลูกมีความสามารถ ถ้าเขาซ้อมก็จะสามารถทำได้แบบนี้เช่นกัน รู้ไหมว่าเด็กในวีดีโอเขาซ้อมทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง ถ้าลูกทำแบบนี้ได้ก็จะเล่นได้เก่งแบบนี้ สิ่งที่ไม่ควรพูดเลยคือการพูดจาถากถางและชมเด็กคนอื่นว่าเก่งกว่าลูกเราค่ะ เพราะจะทำให้เขารู้สึกต่อต้านในการเรียนดนตรีมากขึ้นและก็จะไม่อยากเรียนอีกเลยค่ะ

7. ให้หยุดสัก 1-2 สัปดาห์เพื่อให้ลูกมีเวลาทำใจ

หลังจากเราคุยกับลูกและครูแล้ว เราอาจจะให้เวลาพักกับลูกสัก 1-2 สัปดาห์เพื่อให้เขาคิดถึงการเล่นดนตรี แต่เราอย่าไปบอกลูกว่าแม่ให้พัก แค่บอกว่าครูลาสอน 2 สัปดาห์แล้วหลังจากนั้นเราจะเรียนปกติเหมือนเดิม การที่ให้ลูกได้พักสักเล็กน้อยก็จะทำให้เขาลืมความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือความกดดันต่างๆ ทำให้จิตใจโล่งสบายพร้อมรับกับบทเรียนหน้า เหมือนกับเวลาที่เราทำงานหรือเรียนหนังสือค่ะ หากเรามีการพักร้อน พักเบรคไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง พอเรากลับมาทำงานก็จะทำให้เรามีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นค่ะ

8. คุยกับครูเรื่องส่งสอบเกรดเพื่อให้ลูกมีเป้าหมายในการเรียน

การสอบเกรดสำหรับดนตรีนั้น ช่วยให้นักเรียนมีเป้าหมายในการเรียนดนตรีมากขึ้น พอลูกสอบผ่านก็จะรู้สึกภาคภูมิใจและก็อยากจะสอบเกรดที่ยากๆขึ้นไปอีก และนอกจากนี้ก็ยังช่วยให้เขาฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมออีกด้วย เมื่อเขาซ้อมอย่างสม่ำเสมอ การเรียนดนตรีก็ไม่ยากอีกต่อไปค่ะ แต่หากเราไม่ซ้อมเราก็จะรู้สึกว่ามันยากมาก เล่นเท่าไหร่ก็ไม่ได้ การสอบเกรดยังช่วยในเรื่องของ portfolio อีกด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถยื่นใบ Ceritificate ในการสอบเกรดดนตรีกับโรงเรียนที่อยากให้ลูกสอบเข้า ลูกก็จะมีข้อได้เปรียบกว่าเด็กที่ไม่ได้ทำกิจกรรมค่ะ

9. คุยกับลูกเรื่องอนาคตและให้ลูกลองทำงานหนักๆดู

เราสามารถแนะนำลูกเกี่ยวกับอาชีพในตอนโต เช่นอาจจะบอกลูกว่า เราเรียนดนตรีเผื่อไว้สำหรับอนาคต หากลูกไม่อยากทำงานประจำหรืออยากหารายได้เสริม การสอนดนตรีก็จะช่วยให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น เราอาจจะสอนเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ ทำให้เราสามารถมีเวลาเหลือในการทำความฝันอื่นๆที่เราอยากจะทำ เช่นเปิดธุรกิจของตัวเอง เป็นยูทูเบอร์ อะไรแบบนั้น

นอกจากนี้เราอาจจะลองให้ลูกทำงานหนักๆดู เช่นงานตัดหญ้า งานทาสีบ้าน ขุดดิน เพื่อที่จะให้เขาเห็นว่าหากเราไม่ตั้งใจเรียนเราจะต้องทำงานหนักและก็ได้เงินไม่มากด้วย

แต่วิธีที่กล่าวมานี้ใช้ได้เฉพาะกับเด็กโตนะคะ เด็กเล็กๆอาจจะยังไม่เข้าใจ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องหาทางพลิกแพลงวิธีพูดดูค่ะ

10. ไม่ยอมแพ้หากลูกขอเลิกเรียนดนตรี

หากลูกดื้อรั้นและไม่ยอมเรียน เราไม่ควรปล่อยให้ลูกได้สิ่งที่ต้องการ เพราะการยอมเขาแบบนี้จะทำให้ลูกเกิดความเคยตัวและคิดว่าพ่อแม่ตามใจเขาทุกอย่าง การเรียนดนตรีให้ประสบความสำเร็จนั้น พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญมาก เพราะเด็กส่วนมากจะเกิดความท้อใจหากจะต้องฝึกสิ่งยากๆ แต่หากเขาผ่านไปได้ก็เท่ากับได้ฝึกฝนการทำสิ่งยากๆให้สำเร็จ และยังฝึกเรื่องของระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในชีวิตได้ไม่รู้จบ

ครูหวังว่าบทความนี้จะช่วยคุณพ่อคุณแม่ได้บ้าง สิ่งสำคัญเลยคือเราจะต้องคุยกับลูกและครู เพื่อปรับแนวทางการเรียนการสอนให้เหมาะกับลูกของเรา และครูเชื่อว่าหากคุณพ่อคุณแม่ทนไปจนถึงจุดที่ลูกสามารถเล่นเพลงได้พอสมควร เขาจะเกิดความรักในดนตรีและสิ่งนี้จะช่วยให้เขาไม่ไปให้ความสนใจกับเกมส์หรือสิ่งล่อตาล่อใจอื่นๆเมื่อเป็นวัยรุ่นค่ะ


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *