10 เคล็ดลับการเปิดโรงเรียนดนตรีให้ประสบความสำเร็จ

งานสอนดนตรีจริงๆแล้วก็เปรียบได้กับงานบริการอย่างหนึ่ง โรงเรียนดนตรีนอกจากจะต้องมีระบบการเรียนการสอนและครูที่ดีแล้ว ยังต้องการการบริการที่ดีอีกด้วย จากประสบการณ์ของครูในการเปิดโรงเรียน 2 แห่งอย่างประสบความสำเร็จมาหลายสิบปี วันนี้ครูจะมาแนะนำวิธีการทำโรงเรียนดนตรีให้ประสบความสำเร็จกันค่ะ

สำหรับเพื่อนๆที่กำลังมองหาแฟรนไชส์โรงเรียนสอนดนตรี สามารถอ่านบทความ ซื้อแฟรนไชส์โรงเรียนดนตรีที่ไหนดี ได้เลยค่ะ สำหรับเพื่อนๆที่กำลังจะเปิดโรงเรียนดนตรีเองหรือมีโรงเรียนดนตรีอยู่แล้ว ไปอ่านเคล็ดลับกันเลยค่ะ

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเล่นเปียโนป๊อบ ครูมีคอร์สสอนเปียโนที่จะทำให้เพื่อนๆสามารถเล่นเปียโนได้ภายใน 10 วัน โดยไม่ต้องมีพื้นฐาน ในคอร์สนี้จะสอนการเปลี่ยนคอร์ดให้เร็ว การเล่น 2 มือ การเล่นประกอบการร้อง การเล่นคอร์ดให้เข้ากับสไตลฺ์เพลง เรียนจบคอร์สแล้วเพื่อนๆจะสามารถเล่นเพลงได้เป็นพันๆเพลง หากสนใจสามารถคลิกดูรายละเอียดคอร์สได้ ที่นี่ ค่ะ

1. รักการสอนและมีความจริงใจต่อนักเรียนที่เราสอน

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเปิดโรงเรียนดนตรีให้สำเร็จนั้น คือเราต้องมีความรักในอาชีพ เราควรสอนนักเรียนด้วยความจริงใจไม่ใช่คิดว่านักเรียนเป็นลูกค้า การที่เรามีความจริงใจกับนักเรียนที่เราสอนจะทำให้เราสอนอย่างมีความสุข เราจะอยากให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียน ซึ่งนักเรียนและผู้ปกครองจะรู้สึกได้และเมื่อเขาไว้ใจและประทับใจในตัวเรา เขาจะบอกต่อๆกันไปกับผู้ปกครองท่านอื่นๆค่ะ

สำหรับเพื่อนๆที่เปิดโรงเรียนดนตรีแต่ไม่ได้สอนเอง ก็ต้องมีความจริงใจกับนักเรียน โดยพยายามทำให้นักเรียนได้ประโยชน์จากการเรียนที่โรงเรียนดนตรีเรามากที่สุดค่ะ ไม่ควรคิดถึงเรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ควรคิดที่จะสร้างเด็กให้มีประสิทธิภาพจากการเรียนที่โรงเรียนดนตรีของเราค่ะ

2. หาจุดเด่นให้กับโรงเรียนดนตรีของเรา

การหาจุดเด่นให้กับโรงเรียนดนตรีนั้นอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องง่าย แต่หากเพื่อนๆสามารถทำได้ก็จะทำให้โรงเรียนของเรามีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นค่ะ อย่างตอนที่ครูเปิดโรงเรียนดนตรี จุดเด่นของโรงเรียนครูก็จะเป็นเรื่องของการสอนเปียโน เนื่องจากครูมีความรู้และประสบการณ์ในการสอนเปียโนมาก ดังนั้นจึงทำให้เราสามารถโปรโมทในเรื่องนั้นๆได้ ในปัจจุบันหลายๆโรงเรียนก็มีจุดเด่นเช่น เน้นการสอนเด็กเล็กเป็นกลุ่ม ซึ่งบางครั้งรับตั้งแต่เด็กแรกเกิดเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อเรามีจุดเด่นก็จะทำให้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนดนตรีได้ง่ายขึ้นและมีเป้าหมายทางการตลาดที่ชัดเจนอีกด้วยค่ะ

3. โปรโมทโรงเรียนดนตรีสม่ำเสมอ

ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน เมื่อนักเรียนของเรามีการแสดงที่ไหน เราควรโปรโมทโดยลงรูปภาพในโซเชียลมีเดียเพื่อที่ผู้อื่นจะได้เห็นกิจกรรมต่างๆของทางโรงเรียนเรา หรือเมื่อนักเรียนสอบผ่านเกรดหรือได้รับรางวัล เพื่อนๆก็ควรจะถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียเพื่อให้คนเห็นมากขึ้น

โซเชียลมีเดียนั้นก็อาจจะเป็น page facebook หรือ facebook ส่วนตัวก็ได้ หรืออาจจะเป็น instagram หรือ youtube, tiktok ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการโปรโมทที่มีประสิทธิภาพค่ะ

นอกจากนี้การโปรโมทแบบสมัยเก่าก็ยังใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดป้ายตามสถานที่ต่างๆหรือการแจกโบรชัวร์ก็เช่นกัน คือทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้สาธารณชนเห็นโรงเรียนของเราและเห็นว่าโรงเรียนของเรามีความแอคทีฟ ผู้ปกครองก็จะมั่นใจว่าโรงเรียนดนตรีของเราเป็นโรงเรียนดนตรีที่มีคุณภาพค่ะ

4. การบริหารจัดการสำคัญมากในการเปิดโรงเรียนดนตรี

การบริหารจัดการของโรงเรียนดนตรีนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อนๆควรมีการจัดการในรายละเอียดเรื่องต่างๆดังนี้

  • ใบรับสมัครนักเรียน – โดยใบรับสมัครควรมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อ อายุ ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ เครื่องดนตรีที่เรียน ชื่อครูสอน เกรดที่เรียน วันเดือนปี ที่เริ่มเรียน วันและเวลาที่ลงเรียน
  • ตารางเรียน – เพื่อนๆควรทำชีทตารางเรียนของโรงเรียน โดยจัดทำแยกประเภทของเครื่องดนตรีที่แตกต่างกัน จะได้ไม่เกิดการสับสนค่ะ
  • ระเบียบการลาเรียน – แต่ละโรงเรียนจะมีกฏระเบียบไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่แล้วตามโรงเรียนดนตรีจะเก็บค่าเรียนเป็นคอร์ส สมัยก่อนครูเก็บคอร์สละ 12 ครั้ง แต่ภายหลังราคาค่าสอนเพิ่มขึ้นดังนั้นครูจึงปรับเป็น 10 ครั้งเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยอนุญาตให้ลาเรียนได้ 2 ครั้งและยืดเวลาชดเชยให้ 2 สัปดาห์
  • ปฏิทินรายปี – โรงเรียนควรวางแผนวันหยุดของโรงเรียนตลอดทั้งปี วันและเวลาในการแสดงคอนเสิร์ตของนักเรียน ช่วงเดือนสอบของนักเรียน ทั้งนี้เพื่อที่จะได้แจ้งผู้ปกครองและครูล่วงหน้าค่ะ
  • แบบบันทึกการเข้าเรียนของนักเรียน เราควรมีแบบบันทึกการเข้าเรียนของนักเรียน 2 ชุด ชุด1 ทางโรงเรียนเก็บไว้และอีกชุดหนึ่งมอบให้กับผู้ปกครองเพื่อที่จะได้เช็คว่านักเรียนเรียนไปกี่ครั้งแล้ว
  • ตารางสอนครู – เราควรมีตารางสอนครูว่าครูคนไหนสอนวันไหนบ้าง เพื่อที่เวลานักเรียนลาเรียนจะได้แจ้งครูผู้สอนได้ถูกต้อง และสามารถดูว่าครูคนไหนสามารถสอนชดเชยวันไหนได้บ้าง เวลาที่ผู้ปกครองต้องการชดเชยการเรียนเราจะได้แจ้งตารางของครูผู้สอนได้ทันทีค่ะ
  • บัญชีรายรับรายจ่ายของโรงเรียน – บัญชีรายจ่ายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากเราไม่มีบัญชีรายรับรายจ่าย เราจะไม่รู้เลยว่าโรงเรียนของเรานั้นทำกำไรหรือไม่ หรือมีค่าใช้จ่ายรั่วไปทางใดบ้าง ทั้งนี้หากเราทำบัญชีได้อย่างรอบคอบ เราก็จะสามารถวางแผนการเจริญเติบโตของโรงเรียนให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง
  • แฟ้มใบสมัครครู – เราควรมีแฟ้มใบรับสมัครครู ซึ่งในแฟ้มนี้ให้เก็บใบสมัครของครูที่เคยมาออดิชันแต่ยังไม่ได้เริ่มสอนไว้ด้วย ทั้งนี้เราจะได้มีครูสำรองหากเรามีนักเรียนมาสมัครเรียนเพิ่มขึ้น หรือเราจะได้มีครูสำรองเพื่อใช้สอนชดเชยค่ะ

5. ให้ความสำคัญในการเลือกครูผู้สอน

นี่เป็นข้อผิดพลาดที่ครูเคยประสบกับโรงเรียนดนตรีของตัวเอง คือครูบางคนที่มาสอนที่โรงเรียนครูนั้น เล่นเก่งมากแต่ยังเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งครูที่ยังเรียนอยู่นั้นมีข้อเสียอยู่ 1 อย่างคือ ครูจะลาสอนบ่อยมาก เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมักจะมีการจัดกิจกรรมนอกเวลาเรียนเสมอๆ เมื่อครูของเราลาบ่อย กฏกติกาของโรงเรียนที่เราสร้างไว้กับผู้ปกครองจึงไม่มีความหมายอีกต่อไป เมื่อครูลาได้เด็กนักเรียนก็ลาได้ เมื่อต่างคนต่างลา ธุรกิจโรงเรียนดนตรีของเราก็จะดำเนินต่อไปไม่ได้ หลายๆคนก็จะปิดกิจการไปเนื่องจากสาเหตุนี้เยอะมากๆ ค่ะ

อีกข้อหนึ่งคือ นอกจากเราควรเลือกครูที่เก่งแล้วครูจะต้องมีจิตวิทยาที่ดี เพราะแม้ว่าครูจะเก่งแต่ถ้าไม่รู้วิธีการพูดคุยกับนักเรียนหรือผู้ปกครอง นักเรียนก็ไม่สามารถเรียนรู้จากเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครูที่มีจิตวิทยาไม่ดีก็จะไม่รู้จักวิธีการคุยกับผู้ปกครองอีกด้วยค่ะ

6. แนวทางการสอนและหลักสูตร

การเปิดโรงเรียนดนตรีส่วนใหญ่แล้วเราต้องมีการจ้างครูสอนหลายๆท่าน ดังนั้นเราจึงควรมีหลักสูตรที่ตายตัวเพื่อใช้ในโรงเรียนของเรา เราไม่ควรให้ครูแต่ละท่านคิดหลักสูตรเอง เนื่องจากเราจะไม่รู้เลยว่านักเรียนมีพัฒนาการถึงไหนแล้ว และเราก็ไม่สามารถแน่ใจว่าครูคิดหลักสูตรได้มีมาตรฐานหรือไม่ และหากครูลาออกหรือเราต้องการครูสอนแทน ครูที่มาสอนจะสอนต่อได้ยากเพราะไม่รู้แนวทางการสอนของครูท่านก่อน แต่หากเรามีหลักสูตรที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เราก็จะสามารถควบคุมคุณภาพของโรงเรียนเราได้ดีกว่าค่ะ

7. พูดคุยกับผู้ปกครองสม่ำเสมอ

การพูดคุยกับผู้ปกครองนั้นมีส่วนทำให้โรงเรียนของเรามั่นคง แข็งแรงและช่วยพัฒนาให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เราควรมีการพูดคุยกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก หากนักเรียนซ้อมน้อยหรือไม่ซ้อม เราควรมีการพูดคุยกับผู้ปกครองอย่างจริงจังว่าให้ช่วยดูแลการซ้อม เพราะหากเราไม่คุยหรือสื่อสารอะไรกับผู้ปกครองเลย เมื่อนักเรียนเรียนไปได้เป็นปีแล้วแต่ยังเล่นอะไรแทบไม่ได้เลยก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ ผู้ปกครองจะคิดว่าเราสอนไม่มีคุณภาพได้ค่ะ

8. แอคทีฟตลอดเวลา

เมื่อเพื่อนๆเปิดโรงเรียนสอนดนตรีแล้ว เราต้องมีความแอคทีฟตลอดเวลา แอคทีฟในที่นี้หมายถึง เราควรติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับแวดวงทางดนตรีว่ามีอะไรใหม่ๆเข้ามาบ้าง มีหนังสือใหม่ๆที่จะช่วยเพิ่มเทคนิคในการเล่นดนตรีให้กับเด็กหรือไม่ มีเพลงอะไรมาใหม่ๆหรือไม่ หรือโรงเรียนดนตรีอื่นๆมีการเปิดสอนวิชาอะไรใหม่ๆหรือไม่ หาเวทีการแข่งขันทางดนตรี หรือหาสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตให้กับนักเรียนของเรา สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้โรงเรียนของเราสามารถแข่งขันกับโรงเรียนอื่นได้เท่าเทียมค่ะ

การที่เราหากิจกรรมให้นักเรียนอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น และมีเป้าหมายว่าจะต้องแข่งหรือแสดงจึงทำให้นักเรียนตั้งใจซ้อมมากขึ้น ผู้ปกครองก็จะได้เห็นพัฒนาการของลูกๆ เมื่อลูกออกงานก็ได้ไปร่วมกิจกรรม ถ่ายรูปอัดวีดีโอ ซึ่งก็จะทำให้เขามีกำลังใจในการส่งบุตรหลานเรียนกับเราไปนานๆค่ะ

9. ส่งสอบวัดระดับทางดนตรี

การส่งนักเรียนสอบวัดระดับนั้น ช่วยให้นักเรียนมีเป้าหมายในการฝึกซ้อม ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น และยังสร้างความภูมิใจกับนักเรียน นอกจากนี้ผู้ปกครองยังสามารถใช้การสอบเกรดดนตรีมาเป็น port folio ให้กับเด็กได้อีกด้วยค่ะ

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจส่งนักเรียนสอบเกรดทางดนตรี สามารถอ่านบทความ สอบดนตรีของ Trinity หรือ ABRSM ดีกว่ากัน หรือหากเพื่อนๆคนใครกำลังส่งนักเรียนสอบเกรดของ Trinity สามารถอ่านบทความ เตรียมสอบเกรด Trinity อย่างไรให้ได้คะแนนดี

10. พัฒนาปรับปรุงโรงเรียนดนตรีให้เข้ากับยุคสมัย

ยกตัวอย่างง่ายๆอย่างช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด โรงเรียนดนตรีหลายๆแห่งก็ต้องปรับตัวจากการสอนแบบตัวต่อตัวเป็นการสอนแบบออนไลน์แทน หากเราไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน โรงเรียนเราอาจจะไปไม่รอดและต้องปิดตัวลง อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น สมัยนี้เราอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย ดังนั้นหากเราไม่มีการโปรโมทผ่านทางโซเชียลมีเดียเลย เราอาจจะสู้กับคู่แข่งไม่ได้ ดังนั้นเพื่อนๆต้องคอยมองเทรนด์ต่างๆอยู่สม่ำเสมอค่ะ

นี่ก็เป็น 10 ข้อที่ครูคิดว่ามีความสำคัญในการช่วยให้โรงเรียนดนตรีประสบความสำเร็จได้ เพื่อนๆก็อาจจะนำ 10 ข้อนี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ของโรงเรียนดนตรีของตัวเองค่ะ พบกันใหม่กับบทความหน้าค่ะ