ไม่ว่าเพื่อนๆจะหัดเล่นเปียโนด้วยตัวเองหรือมีครูสอนเปียโนอยู่แล้ว สิ่งเล็กๆ 10 อย่างที่ครูจะพูดถึงวันนี้จะช่วยให้เพื่อนๆเล่นเปียโนได้ดีขึ้นและก็ยังลดอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการซ้อมเปียโนที่ผิดอีกด้วย สิ่งที่เพื่อนๆต้องระวังเวลาเล่นเปียโนมีดังนี้
1.การนั่งเล่นเปียโนแบบผิดๆ 2. วางข้อมือเวลาเล่นเปียโนต่ำหรือสูงไป 3. เกร็งนิ้วและข้อมือเวลาเล่นเปียโน 4. ยกและเกร็งหัวไหล่เวลาเล่นเปียโน 5. เล่นเปียนิ้วแบน 6. แขนแนบติดกับลำตัวเกินไปหรืออ้าแขนมากเกินไปเวลาเล่นเปียโน 7. โยกข้อมือเวลาเล่นเปียโน 8.เล่นเปียโนกระแทกเสียง 9. เล่นเปียโนแล้วไม่เป็น legato 10. เล่นเปียโนแล้วจังหวะรวนทั้งเพลง
สำหรับเพื่อนๆที่หัดเล่นเปียโนด้วยตัวเอง ถ้าอยากรู้วิธีเริ่มเล่นเปียโนอย่างถูกต้อง เช็คคอร์สเรียน เล่นเปียโนได้ใน 10 วัน ไม่มีพื้นฐานก็เล่นได้ ในคอร์สนี้ครูจะสอนเพลงป๊อบ 3 เพลงและสอนวิธีการนำไปใช้เล่นเพลงอื่นๆ ลงเรียนคอร์สเดียวเล่นได้เป็นพันเพลงเลยค่ะ หรือหากเพื่อนๆสนใจเรียนรู้การอ่านโน้ตแบบละเอียดยิบ อย่าพลาดคอร์สเรียน การอ่านโน้ตฉบับสมบูรณ์ ในคอร์สนี้ครุจะสอนแบบเป็นสเต็ปช้าๆ พร้อมทั้งมีแบบฝึกหัดออนไลน์และแบบดาวน์โหลดทำมือมากกว่า 1000 ข้อ เรียนจบแล้วรับรองว่าอ่านโน้ตได้คล่องแคล่วอย่างแน่นอนค่ะ
ตัวอย่างวีดีโอที่ครูเคยสอนไว้ในยูทูป10 สิ่งที่ผู้เริ่มเล่นเปียโนต้องระวัง คลิกเข้าไปดูได้เลยค่ะ
1.การนั่งเล่นเปียโนแบบผิดๆ
การนั่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญอันดับแรกๆในการเรียนเปียโน โดยหลายๆคนอาจจะไม่คิดว่าการนั่งจะมีผลต่อการเล่นเปียโนมาก แต่การนั่งที่ถูกต้องนั้นจะช่วยให้เราเล่นเปียโนได้ง่ายขึ้นเพราะมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวของมือและแขน จึงทำให้มีความผ่อนคลายในการเล่นเปียโนมากขึ้น
ความสูงของเก้าอี้
ความสูงของเก้าอี้นั้นมีความสำคัญในการเล่นเปียโนมาก ถ้าเป็นไปได้ให้เพื่อนๆซื้อเก้าอี้ที่สามารถปรับระดับความสูงได้จะได้ปรับให้เข้ากับขนาดความสูงของเรา ความสูงเฉลี่ยของเก้าอี้เปียโนนั้นควรจะอยู่ที่ประมาณ 18นิ้ว-22นิ้ว
ความสูงที่ถูกต้องนั้น เพื่อนๆสามารถเช็คได้จากตำแหน่งของแขนเวลาเล่นเปียโน แขนนั้นควรจะขนานกับคีย์เปียโน ไม่ควรสูงกว่าหรือต่ำกว่า เพราะถ้าหากว่าแขนเราต่ำกว่าก็จะทำให้ไม่มีกำลังในการเล่นเสียงดัง ถ้าแขนสูงเกินจะอาจจะทำให้เราใช้กล้ามเนื้อมือที่ผิดได้ค่ะ
สำหรับเด็กเล็กๆที่เรียนเปียโน ผู้ปกครองอาจจะต้องหาพวกโฟมมาวางเพื่อเพิ่มความสูงของเก้าอี้ อย่าใช้พวกเบาะนุ่มๆเพราะจะทำให้นั่งแล้วรู้สึกไม่มั่นคงเท่าที่ควร และเวลาที่เด็กนั่งเล่นเปียโน จะต้องแน่ใจว่าเท้านั้นไม่ลอยเพราะจะทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ดีเท่าที่ควร ผู้ปกครองควรหากล่องหรือเก้าอี้มาวางไว้ใต้เท้าเพื่อให้เด็กได้พักเท้าบนกล่อง สำหรับเด็กเล็กๆที่ต้องใช้เพดเดิลมันจะมีเพดเดิลสำหรับเด็กซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกล่องแล้วก็มีเพดเดิลมา 3 ตัวซึ่งเหมือนกับเพดเดิลที่ติดมากับเปียโนทุกประการ สามารถดูได้ตามรูปด้านล่างนะคะ
ระยะห่างระหว่างเก้าอี้กับเปียโน
เราควรวางเก้าอี้ห่างจากเปียโนพอสมควร โดยให้มีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวแขน อย่านั่งใกล้จนต้องงอข้อศอก หรือนั่งไกลจนต้องเอื้อมมือเล่นค่ะ
วิธีการนั่งที่ถูกต้องนั้นเราจะวางเก้าอี้ให้ห่างจากเปียโนพอสมควร และควรนั่งค่อนไปทางด้านหน้าของเก้าอี้เปียโน หรือประมาณครึ่งแรกทางด้านหน้าของเก้าอี้เปียโนค่ะ เพื่อที่จะได้มีพื้นที่ในการเล่นมากขึ้นทำให้สะดวกในการใช้แขนช่วยเวลาเล่นและเวลาที่เราหมุนมือก็จะสะดวกมากขึ้นด้วย
การจัดร่างกาย
หลังจะต้องตรงไม่งอและไม่แอ่น เพราะอาจจะทำให้ปวดหลังได้ และแขนต้องตั้งเป็นแนวขนานกับคีย์ด้วยค่ะ
2. วางข้อมือเวลาเล่นเปียโนต่ำหรือสูงเกินไป
การวางมือเวลาเล่นเปียโนนั้น ข้อมือจะต้องขนานกับคีย์ ไม่ต่ำหรือสูงเกินไป ในการเล่นเปียโนระดับสูงอาจจะมีการใช้เทคนิคที่ต้องใช้ข้อมือที่แตกต่างกันไป แต่ในระดับต้นควรจะทำตามมาตรฐานการเล่นก่อนนะคะ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดการบาดเจ็บของข้อมือ
การเล่นโดยที่ข้อมือต่ำกว่าคีย์นั้นจะทำให้เราไม่มีแรงเวลาที่ต้องการเล่นเสียงดัง เพราะในการเล่นเสียงดังนั้นเราจะไม่ได้ใช้แค่นิ้วหรือส่วนของแขนเท่านั้น แต่จะต้องใช้กำลังที่มาจากร่างกายทั้งตัว ดังนั้นการวางข้อมือต่ำกำลังจากร่างกายจะถ่ายทอดไปยังข้อมือแต่ไม่ได้ถ่ายทอดไปยังนิ้วจึงทำให้เล่นเสียงดังได้ไม่ดี การเล่นโดยที่ข้อมืออยู่สูงกว่าคีย์มากๆก็จะทำให้หัวไหล่เกร็ง ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้
3. เกร็งนิ้วและข้อมือเวลาเล่นเปียโน
หลายๆครั้งเวลาที่ครูสอนนักเรียน เวลาที่เล่นเพลงยากๆบางครั้งนักเรียนเกิดอาการเกร็งทั้งข้อมือและนิ้ว ทำให้ไม่สามารถเล่นเพลงที่ต้องวิ่งเยอะๆได้ (เพลงวิ่งเยอะๆหมายถึงเพลงที่ใช้โน้ตเขบ็จ 2 ชั้นขึ้นไป และต้องเล่นด้วยความเร็วสูง) เนื่องจากเวลาที่นิ้วเกร็งก็จะทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่เร็วเท่าที่ควร และนอกจากนี้บางคนก็ยังเกร็งข้อมืออีกด้วย ซึ่งการเกร็งข้อมือนั้นอันตรายยิ่งกว่าการเกร็งนิ้ว เพราะการเกร็งข้อมือเวลาเล่นเปียโนอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ข้อมือได้ ซึ่งจะต้องใช้เวลารักษาค่อนข้างนานและอาจจะไม่หายเป็นปกติด้วย
มีนักเรียนอีกประเภทหนึ่งที่มีการเกร็งนิ้วเช่นกัน แต่เป็นการเกร็งตลอดเวลาที่เล่นเปียโนไม่ว่าเพลงจะง่ายหรือยาก ส่วนใหญ่จะเกิดกับนักเรียนที่เริ่มเรียนเปียโนเมื่ออายุมาก สาเหตุเกิดจากการเริ่มเล่นเปียโนด้วยวิธีที่ผิด นักเรียนจะพยายามกดโน้ตให้มีเสียงดังโดยไม่ได้คำนึงว่าควรจะวางนิ้วอย่างไร การเล่นลักษณะนี้แก้ได้ถ้าเจอครูที่สอนอย่างถูกต้องโดยเร็ว แต่ถ้าทิ้งเวลาเป็นปีๆก็จะแก้ยากมากกว่าการเล่นนิ้วแบนอีกค่ะ ดังนั้นเวลาที่เพื่อนๆเริ่มเล่นเปียโน ให้เพื่อนๆแน่ใจว่าใช้นิ้วให้ถูกต้องเป็นอันดับแรก แม้ว่าเสียงที่ออกมาอาจจจะเบามากก็ไม่เป็นไร เราค่อยๆเพิ่มกำลังนิ้วทีหลังได้ค่ะ
4. ยกและเกร็งหัวไหล่เวลาเล่นเปียโน
การเล่นลักษณะนี้ครูเจอไม่บ่อยเท่าไหร่ แต่ครูมีเพื่อนคนหนึ่งที่เล่นเปียโนในลักษณะนี้ ซึ่งปัญหาของการเล่นลักษณะนี้คือจะทำให้ปวดหัวไหล่และปวดหลัง กล้ามเนื้ออาจได้รับการบาดเจ็บได้ นอกจากนี้เวลาเล่นเสียงที่ออกมาก็จะไม่ใสเท่าที่ควร
5. เล่นเปียโนนิ้วแบน
ปัญหานี้เป็นปัญหาโลกแตกของครูทุกคน ไม่ว่าเพื่อนๆจะเรียนเปียโนด้วยตัวเองหรือมีครูสอนเปียโน ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นค่ะ การเล่นเปียโนนั้นในระดับต้นเราจะต้องใช้นิ้วที่เป็นเนื้อตรงด้านหน้าของเล็บไม่ใช่ส่วนข้างใต้ของเล็บ และนิ้วต้องโค้งเหมือนกำลูกบอลอยู่ในมือ ในระดับสูงเราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ส่วนไหนของนิ้วเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่แตกต่างกันและสามารถอ้ามือออกได้เล็กน้อย แต่เนื่องจากเราเรียนเปียโนพื้นฐานดังนั้นจึงควรทำตามหลักการเล่นเปียโนพื้นฐานให้ดีก่อนแล้วค่อยพัฒนาเทคนิคอื่นๆในภายหลัง
วีดีโอปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเล่นเปียโนนิ้วแบนและวิธีแก้ไข
นักเรียนหลายๆคนโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ เวลาที่ใช้เนื้อด้านหน้าของเล็บกดเปียโนจะรู้สึกว่ามันมีพื้นที่ค่อนข้างน้อยเลยทำให้กดยาก เด็กหลายๆคนเลยจะใช้ส่วนของนิ้วที่อยู่ข้างใต้ของเล็บกดเปียโนแทน เพราะไม่ว่าจะกดอย่างไรก็โดนโน้ตทุกครั้งไปโดยเฉพาะเวลากดคีย์ดำ บางครั้งครูสอนเปียโนก็ขี้เกียจแก้ไขเพราะเป็นสิ่งที่ต้องบอกซ้ำๆอยู่อย่างนั้นเป็นปี ถ้านักเรียนเจอครูแบบนี้ก็จะเล่นนิ้วแบนจนติดเป็นนิสัย ยิ่งถ้าเล่นเพลงในระดับกลางด้วยนิ้วแบบนี้ เพลงที่เล่นก็จะไม่มีทางสมบูรณ์แบบเลย เพราะการใช้นิ้วแบนจะทำให้เล่นเพลงวิ่งๆไม่ได้ และเล่นคอร์ดยากมากขึ้นค่ะ
6. แขนแนบติดกับลำตัวเกินไปหรืออ้าแขนมากเกินไปเวลาเล่นเปียโน
การเล่นเปียโนโดยที่แขนติดกับลำตัวมากเกินไป จะทำให้ไม่สามารถใช้แขนและร่างกายช่วยในการเล่นเปียโน ทำให้น้ำหนักเวลากดเปียโนก็จะมาจากนิ้วและข้อมือเท่าน้้น ดังนั้นก็จะไม่สามารถเล่นเสียงดังได้ดีและไม่สามารถสร้างเสียงที่หลากหลายได้ และนอกจากนี้จะทำให้เกิดอาการเกร็งที่หัวไหล่อีกด้วย การเล่นเปียโนโดยที่อ้าแขนมากเกินไป จะทำให้ตำแหน่งของมือนั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เล่นยากมากยิ่งขึ้น
การเล่นที่ถูกต้องนั้นแขนต้องกางออกพอสมควรเพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังช่วยผ่อนคลายหัวไหล่ทำให้ไม่เกิดอาการเกร็งเวลาเล่นเปียโนอีกด้วย
7. โยกข้อมือเวลาเล่นเปียโน
การโยกข้อมือเวลาเล่นเปียโน ทำให้เสียงไม่เป็น legato (เสียงที่ต่อเนื่องจากโน้ตหนึ่งไปอีกโน้ตหนึ่ง), เสียงกระแทก, เล่นแล้วไม่มี phrasing (คือการเล่นทำนอง1ท่อนแล้วเล่นโดยคิดเป็นประโยคแทนที่จะเป็นตัวๆ ), ทำให้เล่นเพลงเร็วๆไม่ได้ เพราะแทนที่จะขยับนิ้วและข้อมือได้เร็วๆ แต่กลับกลายเป็นว่าจะต้องใช้เวลาโยกข้อมือด้วยจึงทำให้เล่นไม่ทัน
ถ้าครูที่มีนักเรียนเล่นโยกข้อมือแบบนี้ก็ให้จับที่ข้อมือของนักเรียนและกดลงเล็กน้อยเพื่อควบคุมให้นักเรียนไม่โยกข้อมือ ส่วนถ้าใครที่เรียนเปียโนด้วยตัวเอง ให้แก้โดยเล่นทีละมือ สมมุติว่ากำลังฝึกมือขวา ก็ให้เอามือซ้ายมาจับที่ข้อมือของมือขวาแล้วบีบเล็กน้อย จากนั้นพยายามควบคุมมือขวาให้เล่นโดยโยกให้น้อยที่สุด การใช้มืออีกข้างมาจับจะทำให้เราเห็นว่าเราเล่นโยกข้อมือแค่ไหน ซึ่งเมื่อเรารู้แล้วเราก็จะสามารถปรับปรุงได้ง่ายขึ้น
8.เล่นเปียโนกระแทกคีย์
ปัญหานี้เกิดบ่อยมากกับนักเรียนที่เริ่มเรียนเปียโนตอนโต เนื่องจากนักเรียนต้องการเล่นให้เสียงดัง แต่ไม่รู้เทคนิคการเล่นให้เสียงดังจึงใช้นิ้วและข้อมือกระแทกเพื่อให้เกิดเสียงดังขึ้น การเล่นเปียโนให้เสียงดังเราจะต้องใช้กำลังของร่างกายทั้งตัวส่งต่อไปยังแขนและนิ้วค่ะ
นักเรียนบางคนฝึกแบบฝึกหัดนิ้วของเปียโน ซึ่งเรียกว่า Hanon ซึ่งเวลาฝึกจะต้องยกนิ้วสูงๆแล้วกดลงไปให้หนักและเร็วเพื่อที่จะสร้างกล้ามเนื้อนิ้วแต่ละนิ้วให้แข็งแรง นักเรียนบางคนก็นำเทคนิคในการฝึกซ้อม Hanon มาใช้กับการเล่นเพลงทำให้เล่นแล้วเสียงกระแทก ฟังแล้วเหมือนกับเล่นแบบฝึกหัดฝึกนิ้วเลยค่ะ ดังนั้นเวลาที่เพื่อนๆซ้อมเปียโนก็อย่าลืมลองฟังเสียงและดูว่าเราเล่นกระแทกหรือไม่
9. เล่นเปียโนแล้วไม่เป็น legato
legato คือการเล่นให้เสียงนั้นต่อเนื่องจากโน้ตหนึ่งไปยังอีกโน้ตหนึ่ง ซึ่งจริงๆแล้วเป็นพื้นฐานอย่างแรกๆในการเล่นเปียโนเลย การเล่นเปียโนให้เป็น legato นั้น ไม่ได้ยากมากเท่ากับการแก้ปัญหาในหัวข้อต่างๆที่กล่าวมาในข้างต้น แต่การเล่น legato นั้นจำเป็นจะต้องมีครูแนะนำว่าเราจะเล่นอย่างไร เพราะลำพังถ้าเพื่อนๆเรียนเองอาจจะไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าควรจะเล่นให้เสียงต่อเนื่องกัน
วิธีการเล่นเปียโนให้เป็น legato คือ เมื่อเรากดโน้ตตัวที่ 1 เราจะยังไม่ปล่อยโน้ตตัวนั้น แต่จะปล่อยสวนกับเวลาที่เรากดโน้ตตัวที่ 2 ให้เพื่อนๆคิดเป็นภาพสโลโมชั่นว่าเวลาเรากำลังกดโน้ตตัวที่สองเราก็ค่อยๆปล่อยโน้ตตัวที่ 1 ออก เมื่อเรากดโน้ตตัวที่ 2 จนสุดคีย์ เราก็ปล่อยโน้ตตัวที่ 1 ออกให้หมดเช่นกัน
10. เวลาเล่นเปียโนแล้วจังหวะรวนทั้งเพลง
เรื่องจังหวะรวนทั้งเพลงเวลาเล่นเปียโนนั้น นักเรียนเป็นกันเกือบหมดทุกคน ซึ่งจริงๆบางครั้งครูก็เป็นเช่นกันเพราะมันเป็นธรรมชาติของคนเราที่เวลาที่เราเล่นเพลงในช่วงที่ตื่นเต้นเราก็จะเล่นจังหวะเร็วขึ้น เวลาที่เพลงท่อนนั้นมีทำนองสบายๆเราก็จะเล่นช้าลง หรืออีกแบบคือเวลาท่อนที่ยากๆเราก็จะเล่นช้าลงเพราะเล่นไม่ทัน ส่วนท่อนที่เล่นได้นั้นก็เล่นคล่องและเร็วจนฟังแทบไม่ทัน
ปัญหานี้แก้ไขได้ไม่ยากค่ะ เพื่อนๆต้องซื้อเมโทรโนม (เครื่องเคาะจังหวะ) มาใช้ประกอบกับการฝึกซ้อมค่ะ ซึ่งการใช้เมโทรโนมจะช่วยให้เพื่อนๆคุมจังหวะได้ดีขึ้นมาก เราสามารถเริ่มเปิดจากจังหวะช้าๆก่อนและให้แน่ใจว่าเราเล่นทันทุกท่อนแล้วค่อยเพิ่มความเร็วขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งเราได้ความเร็วเท่ากับเพลงต้นฉบับ
นี่ก็เป็น 10 ข้อที่สำคัญในการเล่นเปียโนพื้นฐาน ไม่ว่าเพื่อนๆจะเรียนเปียโนด้วยตัวเองหรืออาจจะมีครูอยู่แล้ว บางครั้งครูอาจจะสอนนักเรียนเยอะมากๆจนไม่มีเวลาที่จะดูรายละเอียดเล็กๆน้อยๆพวกนี้ เพื่อนๆก็อาจจะต้องระวังเอาเอง โดยวิธีที่ช่วยได้อย่างมากเลยคือ เพื่อนๆอาจจะซื้อกระจกยาวๆสักบานหนึ่งแล้ววางไว้ตรงข้ามกับเปียโน เวลาเราเล่นเราจะได้เช็คท่านั่ง การวางมือวางข้อมือ และดูว่าเราเกร็งตรงไหนหรือไม่ นอกจากนี้การอัดเสียงก็ช่วยให้เพื่อนๆฟังสิ่งที่เราเล่นได้ดีกว่าฟังตอนที่เรากำลังเล่นเปียโน เพราะเวลาที่เราเล่นเปียโนนั้นเราจะโฟกัสกับการเล่นของเรามากๆจนทำให้ทักษะการฟังของเรานั้นไม่ดีเท่าที่ควร ่
ครูหวังว่าเพื่อนๆจะนำความรู้ที่ได้ในวันนี้ไปปรับใช้เพื่อที่เราจะได้เล่นเปียโนได้ถูกต้อง ฝากคอร์สเรียน เล่นเปียโนได้ใน 10 วันไว้ด้วยนะคะ พบกันใหม่กับบทความฉบับหน้าค่ะ
Leave a Reply