บีโธเฟนเป็นนักประพันธ์เพลงที่อยู่ในยุคคลาสสิค และยังเป็นนักประพันธ์ที่เป็นผู้บุกเบิกดนตรีในยุคโรแมนติกอีกด้วย เราจึงจะเห็นลักษณะการประพันธ์เพลงของบีโธเฟนที่คาบเกี่ยวระหว่างยุคคลาสสิคและโรแมนติกอย่างชัดเจน เพลงของเขาเต็มไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งกราดเกรี้ยว สับสน ลึกลับ อ่อนหวาน เศร้า และนี่คือ 10 ผลงานที่โด่งดังที่สุดของบีโธเฟนที่ควรค่าแก่การยกย่อง
- Symphony No.9 in D minor, op.125 ” Choral Symphony”
- Symphony No.3 in E flat, Op55 “Eroica Symphony”
- Symphony No. 5 in C minor Op. 67
- Pino Sonata No.29 “Hammerklavier”
- Piano Concerto No.5 in E flat major ” Emperor Concerto”
- String Quartet No.14 in C sharp minor, op.131
- Piano Sonata No.8 “Pathetique”
- Violin Sonata No.9 ,Op. 47 “Kreutzer”
- Piano Sonata No.14 “Moonlight”
- Fur Elise
สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเล่นเปียโนป๊อบ ครูมีคอร์สสอนเปียโนที่จะทำให้เพื่อนๆสามารถเล่นเปียโนได้ภายใน 10 วัน โดยไม่ต้องมีพื้นฐาน ในคอร์สนี้จะสอนการเปลี่ยนคอร์ดให้เร็ว การเล่น 2 มือ การเล่นประกอบการร้อง การเล่นคอร์ดให้เข้ากับสไตลฺ์เพลง เรียนจบคอร์สแล้วเพื่อนๆจะสามารถเล่นเพลงได้เป็นพันๆเพลง หากสนใจสามารถคลิกดูรายละเอียดคอร์สได้ ที่นี่ ค่ะ
1. Symphony No.9 in D minor, op.125 ” Choral Symphony”
ผลงานชิ้นนี้เราเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของบีโธเฟนเลยทีเดียวค่ะ เพราะซิมโฟนีบทนี้เป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่บีโธเฟนได้เคยประพันธ์มาและเป็นซิมโฟนีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิค!!!!
ผลงานซิมโฟนีของบีโธเฟนชิ้นนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ” Choral” เพราะท่อนสุดท้ายมีการนำวงคอรัสมาร้องประสานเสียงร่วมกับนักร้องเดี่ยวอีก 4 ท่าน โดยนำเนื้อร้องมาจากบทกวีที่ชื่อว่า “An Die Freude (Old To Joy)” แม้ว่าซิมโฟนีบทนี้จะประพันธ์เป็น 4 ท่อนตามแบบฉบับของซิมโฟนีทั่วๆไป แต่การเพิ่มนักร้องประสานเสียงในท่อนสุดท้ายนั้นเป็นสิ่งแปลกใหม่ในสมัยนั้นมากๆ ผลงานชิ้นนี้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักประพันธ์ในยุคต่อๆมา และถือว่าเป็นเพลงที่มีอิทธิพลต่อนักประพันธ์ในยุคโรแมนติกเป็นอย่างมาก
2. Symphony No.3 in E flat, Op55 “Eroica Symphony”
มีการกล่าวว่าบทเพลงซิมโฟนีบทนี้ของบีโธเฟน เป็นจุดสิ้นสุดของยุคคลาสสิคและเป็นจุดเริ่มต้นของดนตรีในยุคโรแมนติก บีโธเฟนได้แสดงให้เห็นถึงหลากหลายอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ในบทเพลง ทั้งโศกนาฏกรรม ความบ้าคลั่งอย่างกับพายุสลับกับความไพเราะอ่อนหวาน ซึ่งอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้เองที่ทำให้หลายๆคนกล่าวว่าเพลงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของดนตรีในยุคสมัยโรแมนติกนั่นเอง
ชื่อเพลง “Eroica” มาจากภาษาอิตาเลียนซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Heroic” โดยเดิมทีบีโธเฟนประพันธ์เพลงนี้ในช่วงสงครามฝรั่งเศส และมีแรงบันดาลใจในการประพันธ์เพลงจากความเลื่อมใสในตัวของ ” นโปเลียน โบนาร์ปาร์ต” เริ่มแรกเดิมทีนั้นบีโธเฟนให้ชื่อบทเพลงซิมโฟนีบทนี้ว่า ” Bonaparte” แต่หลังจากนโปเลียนขึ้นเป็นจักรพรรดิ บีโธเฟนก็เสื่อมศรัทธาเพราะความมักใหญ่ใฝ่สูงของนโปเลียน จึงกรีดต้นฉบับของเพลงนี้และในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Eroica”
3. Symphony No. 5 in C minor Op. 67
หากพูดถึงผลงานของบีโธเฟนแล้วไม่เอ่ยถึงซิมโฟนีบทที่ 5 ก็ถือว่าไม่ได้เป็นแฟนของบีโธเฟนตัวจริง ซิมโฟนีบทที่ 5 นั้นเป็นบทประพันธ์เพลงที่มีความโด่งดังที่สุดของบีโธเฟน ไม่ใช่แค่ในยุคสมัยของเขาแต่โด่งดังจนถึงปัจจุบันนี้ มีการนำทำนองหลักของซิมโฟนีบทนี้มารีมิกซ์เป็นเพลงแดนซ์ และนำเพลงนี้มาใช้ในงานต่างๆในสมัยปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ซิมโฟนีบทที่ 5 ของบีโธเฟนถูกนำออกแสดงและได้รับการบันทึกเสียงมากที่สุดบทหนึ่ง
ทำนองหลักของบทเพลงนี้ขึ้นต้นด้วยโน้ต 4 ตัว ซึ่งเชื่อว่าแค่ได้ยินโน้ต 4 ตัวแรกนี้ทุกคนก็สามารถบอกได้ว่าเป็นบทเพลงซิมโฟนีของบีโธเฟนอย่างแน่นอน กล่าวกันว่าโน้ตหลัก 4 ตัวของเพลงมีจังหวะ สั้น สั้น สั้น ยาว คล้ายกับรหัสมอร์ส (คือ จุด จุด จุด ขีด) เมื่อเทียบกับอักษรโรมันจะตรงกับตัว V ดังนั้นในพิธีเปิดการออกอากาศของสถานีวิทยุบีบีซี ของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงใช้โน้ตหลักนี้เป็นเครื่องหมายของคำว่า “victory” (ชัยชนะ) ซึ่งเป็นความคิดของวิลเลียม สตีเฟนสัน (William Stephenson)
4. Piano Sonata No.29 “Hammerklavier”
ชื่อเพลง hammerklavier เป็นภาษาอิตลีแปลว่า เปียโนฟอร์เต ซึ่งเป็นเปียโนในสมัยยุคคลาสสิคที่มาแทนที่ฮาร์ปซีคอร์ด เพลงนี้จัดว่าเป็นเพลงเปียโนที่สำคัญที่สุดของบีโธเฟน และเป็นเพลงเปียโนที่มีเทคนิคในการเล่นยากที่สุดของบีโธเฟนเลยทีเดียว และนอกจากนี้ยังเป็นบทเพลงที่นักเปียโนเล่นในคอนเสิร์ตมากที่สุดอีกบทหนึ่งด้วย
บทเพลง sonata บทนี้มีความยาวถึง 45- 50 นาที!! ซึ่งยาวกว่ามาตรฐานซิมโฟนีทั่วๆไปอีกด้วย sonata บทนี้มีทั้งหมด 4 ท่อน ซึ่งต่างกับ sonata ที่ควรจะมีแค่ 2-3 ท่อนตามแบบอย่างที่นักประพันธ์ในสมัยคลาสสิคอย่างโมสาร์ทและไฮเดินประพันธ์ไว้ โดยการประพันธ์ sonata แบบ 4 ท่อนนี้ได้เป็นต้นแบบการประพันธ์ sonata ของ ชูเบิร์ต ชูมานและโชแปงในสมัยโรแมนติกอีกด้วย สามารถอ่าน 10 เพลงง่ายๆของโมสาร์ทที่เหมาะกับนักเรียนระดับต้น ได้ที่นี่
5. Piano Concerto No.5 in E flat major “Emperor Concerto”
เปียโนคอนแชร์โตบทนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Emperor” หรือแปลว่าจักรพรรดิ เป็นเปียโนคอนแชร์โตชิ้นสุดท้ายของบีโธเฟน ซึ่งประพันธ์ขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1809 ถึง ค.ศ. 1811 ขณะพำนักอยู่ที่เวียนนา โดยอุทิศให้แก่อาร์ชดยุกรูดอล์ฟแห่งออสเตรีย หนึ่งในลูกศิษย์และผู้เลื่อมใสผลงานของเขานั่นเอง
ชื่อเพลง Emperor นั้น บีโธเฟนไม่ได้เป็นผู้ตั้งขึ้นแต่เป็นโจแฮน แบปทิสต์ เครเมอร์ นักดนตรีชาวอังกฤษ ผู้ตีพิมพ์ผลงานของเขา คอนแชร์โตชิ้นนี้มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 40 นาที ซึ่งมี 3 ท่อนดังนี้
- Allegro in E-flat major
- Adagio un poco mosso in B major
- Rondo: Allegro ma non troppo in E-flat major
6. String Quartet No.14 in C sharp minor, op.131
string quartet บทนี้ บีโธเฟนประพันธ์โดยการใช้รูปแบบขอฟอร์มที่ผิดแผกไปจากยุคสมัยนั้นมากๆ โดยบทเพลงนี้บีโธเฟนประพันธ์ไว้ทั้งหมด 7 ท่อนและต้องเล่นต่อกันโดยไม่มีช่วงพัก เพลงมีความดรามามากและไม่ใช่ดนตรีที่ฟังง่ายๆ ตรงๆเหมือนกับดนตรีของยุคคลาสสิค บทเพลงนี้ใช้เวลาทั้งช่วงชีวิตของบีโธเฟนในการประพันธ์ ดังนั้นอย่าคาดหวังว่าคุณจะฟังและซึมซับความลึกซึ้งของเพลงได้ทั้งหมดในครั้งแรก
5 วันก่อนที่บีโธเฟนเสียชีวิต ชูเบิร์ตได้ฟังเพลงนี้และเขาพูดว่า
” หลังจากบทเพลงนี้ ยังจะมีอะไรเหลือให้พวกเราประพันธ์อีกหรือ ”
และนั่นเป็นคำพูดที่ยกย่องและแสดงความชื่นชมฝีมือการประพันธ์เพลงของบีโธเฟนว่าผลงานของเขานั้นมีความสมบูรณ์ที่สุด ยากที่จะมีผู้ใดเปรียบเทียบได้นั่นเอง
7. Piano Sonata No.8 “Pathetique”
บทเพลงเปียโนอันแสนวิเศษบทนี้ ให้ความชัดเจนในการแหกกฏเกณฑ์การประพันธ์เพลงจากบรมจารย์ของดนตรีในยุคคลาสสิคอย่างไฮเดินและโมสาร์ท บีโธเฟนเริ่มประพันธ์เพลงที่ต่างออกไปจากยุคสมัยของเขาทีละเล็กละน้อยจนในที่สุดกก็ได้ก้าวข้ามลักษณะการประพันธ์เพลงของดนตรีในยุคคลาสสิคไปสู่ดนตรียุคโรแมนติก
บทเพลงนี้เต็มไปด้วยความลึกลับ บ้าคลั่ง และเต็มไปด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวสลับกับทำนองไพเราะอ่อนหวานที่โรแมนติกมากๆ ความดังเบาที่สลับกันไปมาทำให้เราไม่สามารถหยุดหายใจได้ ความตื่นเต้นเร่าร้อนที่ทำให้เส้นเลือดสูบฉีดตลอดเพลง บทเพลงนี้แสดงถึงบุคลิกของบีโธเฟนอย่างเด่นชัดที่สุด และเป็นบทเพลงที่มีอารมณ์ซับซ้อนที่สุดบทหนึ่งของบีโธเฟนเลยก็ว่าได้ และสิ่งทั้งหลายที่กล่าวมานี้ทำให้บทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่เป็นที่นิยมมากที่สุดอีกบทหนึ่งเช่นกัน
8. Violin Sonata No.9 ,Op. 47 “Kreutzer”
Sonata บทนี้เขียนไว้ 2-3 เดือนก่อนที่บีโธเฟนจะประพันธ์เพลง Symphony บทที่ 3 และเหมือนงานประพันธ์ชิ้นอื่นๆ บีโธเฟนแสดงความยิ่งใหญ่ของบทเพลงที่ไม่เหมือนใคร บทเพลง Sonata บทนี้มีความยาวเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับบทเพลง Sonata อื่นๆ
เพลงนี้เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ในท่อนแรกเป็นการสู้กันระหว่างเปียโนและไวโอลินด้วยทำนองของคีย์ไมเนอร์ที่ให้ความรู้สึกที่ปวดร้าวอย่างถึงที่สุด บททที่ 2 ให้ความสงบเหมือนมีแสงแดดส่องลงมารำไรๆ และบทสุดท้ายคือท่อนที่มีความสนุกสนานร่าเริง
เพลงนี้ผู้แสดงต้องใช้เทคนิคการเล่นที่แข็งแรงและต้องแสดงออกทางอารมณ์อย่างมากอีกด้วย เพลงนี้จัดเป็นเพลงที่เล่นยากที่สุดบทหนึ่งของการโซโลไวโอลินเลยทีเดียวค่ะ
9. Piano Sonata No.14 “Moonlight”
บทเพลงนี้เป็นเพลงเปียโนที่ได้รับการเล่นมากที่สุดของบีโธเฟนเลยก็ว่าได้ เป็นเพลงเปียโนที่มีชื่อเสียงที่สุดและยังนำไปประกอบหนัง โฆษณาในยุคปัจจุบันอีกด้วย ท่อนที่โด่งดังที่สุดของบทเพลง Sonata บทนี้คือท่อนที่ 1
ท่อนแรกนั้นทำนองเต็มไปด้วยความพิศวง การค้นหา ในเพลงมีอารมณ์เศร้าแทรกสลับกับอารมณ์สุข ซึ่งจะไม่เศร้าถึงที่สุดและไม่สุขถึงที่สุดเช่นกัน ต่างกับงานประพันธ์หลายๆชิ้นของบีโธเฟนที่มีการใส่อารมณ์อย่างเต็มที่ ท่อนที่สองเป็นไปอย่างเรียบง่าย ฟังแล้วสนุกสนานเพลิดเพลิน ท่อนสุดท้ายเป็นท่อนที่กราดเกรี้ยว โชว์เทคนิคการเล่นอย่างเต็มที่ ฟังแล้วลุ้นและตื่นเต้นไปกับบทเพลง
10. Für Elise
จนถึงปัจจุบัน ยังเป็นข้อถกเถียงว่า “เอลีเซอ” นั้นหมายถึงสตรีผู้ใด นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าบุคคลผู้นั้นคือ เอลีซาเบ็ท เริคเคิล ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของบีโธเฟนมและมีชื่อเล่นว่า “เอลีเซอ” (Elise) ในขณะที่บางส่วนเชื่อว่า ลูทวิช โนล ที่เป็นผู้คัดลอกต้นฉบับโน้ตเพลงฉบับแรก ได้คัดลอกชื่อผลงานผิดจาก “Für Therese” เป็น “Für Elise”โดยเทเรเซอนั้นเป็นชื่อของ เทเรเซอ มัลฟัทที เป็นหญิงสาวที่เป็นเพื่อนและลูกศิษย์ ผู้ซึ่งบีโธเฟนเคยขอแต่งงานในปี ค.ศ. 1810 แต่กลับถูกปฏิเสธ
เนื่องจากบทเพลงนี้เกี่ยวพันธ์กับความรักของบีโธเฟน เพลงนี้จึงมีความโรแมนติกและอ่อนหวานมากที่สุดบทหนึ่งเลย ทำนองมีความไพเราะ ละมุนละไม เหมาะกับที่จะมอบให้หญิงสาว เพลงนี้ทำนองเรียบง่าย ไม่มีเทคนิคหวือหวาและไม่มีการแสดงอารมณ์แบบเกรี้ยวกราด เป็นเพลงที่เล่นไม่ยากเหมาะกับนักเรียนระดับต้น ดังนั้นนักเรียนเปียโนแทบทุกคนจึงล้วนผ่านการเล่นเพลงนี้มาแล้วทั้งนั้น เราจึงเรียกได้ว่า เพลง Für Elise นั้นเป็นเพลงเปียโนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดนั่นเองค่ะ
Leave a Reply