เอกดนตรีเรียนอะไรบ้างในระดับมหาวิทยาลัย

the music thailand orchestra

เพื่อนๆที่กำลังสนใจอยากศึกษาต่อทางด้านดนตรีในระดับมหาวิทยาลัย วันนี้ครูจะมาพูดคร่าวๆว่าในระดับมหาวิทยาลัยนั้นเรามีเรียนวิชาอะไรกันบ้าง มีความยากง่ายมากแค่ไหน สนุกหรือน่าเบื่ออย่างไร พร้อมแล้วก็ไปดูกันเลยค่ะ

การเรียนเอกดนตรีในระดับมหาวิทยาลัย ในช่วงสองปีแรกยังมีการเรียนวิชาทั่วไปเช่น คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ฟิสิกส์ สังคม กฏหมาย ภาษาอังกฤษ แต่ก็จะเน้นหนักไปเรียนวิชาทางด้านดนตรีโดยเฉพาะ เช่น วิชาเครื่องดนตรีเอก ทฤษฎีดนตรี การฝึกโสตทักษะ ประวัติศาสตร์ดนตรี การประพันธ์เพลง การเรียบเรียงเสียงประสาน การร้องประสานเสียง การเล่นดนตรีประกอบ คอนดัคติง ดนตรีโลก ดนตรีภาพยนตร์ การเล่นรวมวง เทคโนโลยีดนตรี กฏหมายทางดนตรี เป็นต้น

วิชาทางด้านดนตรีนั้นมีเยอะมากๆ และก็แบ่งไปตามแขนงวิชาที่เราเลือก ครูจะยกวิชาหลักๆมาอธิบายให้ฟังพอประมาณนะคะ เพื่อนๆที่อยากศึกษาต่อทางด้านดนตรีจะได้พอมีไอเดียว่าต้องเรียนอะไรอย่างไรบ้างค่ะ สำหรับบทความที่ครูเขียนนี้จะอิงจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดลเป็นหลักนะคะ เนื่องจากครูจบจากที่นี่มาก็จะมีประสบการณ์ตรง ครูก็จะเล่าได้ละเอียดมากขึ้นค่ะ เพื่อนๆที่สนใจศึกษาต่อมหาวิทยาลัยทางด้านดนตรีสามารถคลิกอ่านบทความ เรียนดนตรีมหาวิทยาลัยไหนดี- เปรียบเทียบ ม. ดนตรี 5 แห่ง หรืออ่านบทความ คู่มือการสอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ได้เลยค่ะ

1. วิชาเครื่องดนตรีเอก

the music thailand lila

สำหรับวิชานี้เป็นวิชาสำคัญในการเรียนดนตรีเลยค่ะ เนื่องจากเป็นวิชาที่สนุกที่สุด ยากที่สุดและมีหน่วยกิตเยอะมากๆ สำหรับการเรียนวิชาเครื่องดนตรีเอกนั้น แต่ละสาขาก็จะมีความยากง่ายในการเรียนที่ต่างกัน ครูเลือกเรียนสาขาการแสดงดนตรีคลาสสิต ดังนั้นการเรียนวิชานี้จึงเข้มมาก หากเพื่อนๆเลือกเรียนสาขาธุรกิจหรือเทคโนโลยีดนตรี วิชาที่หนักๆก็จะตกไปอยู่ที่วิชาเฉพาะของสาขานั้นค่ะ วิชาเครื่องดนตรีเอกก็จะไม่เข้มเท่าไหร่ เพลงที่เล่นก็จะไม่เยอะและยากเท่ากับการเรียนสาขาการแสดงดนตรีคลาสสิคค่ะ

สำหรับวิชานี้สมัยที่ครูเรียนก็จะเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รู้สึกว่าตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยปรับเป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์แล้วค่ะ ในการเรียนวิชาเครื่องดนตรีเอกนั้น ส่วนใหญ่ครูผู้สอนจะจัดสตูดิโอคลาสให้นักเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สตูดิโอคลาสคือ การที่นักเรียนของครูผู้สอนมารวมตัวกันและแสดงเพลงที่เรียนให้เพื่อนๆในคลาสฟัง นักเรียนก็จะได้ฝึกการแสดงต่อหน้าผู้ชมบ่อยๆและก็จะได้เรียนรู้การวิจารณ์การเล่นของเพื่อนๆ ซึ่งมีประโยชน์มากในการประกอบอาชีพครูสอนเปียโนในอนาคตค่ะ

ในแต่ละเทอมก็จะมีการสอบ 2 ครั้ง คือช่วงกลางภาคและปลายภาค เวลาสอบนั้นก็จะสอบทีละคน โดยในห้องสอบจะมีกรรมการอย่างต่ำ 3 คน เวลาสอบห้ามดูโน้ต ต้องเล่นจากความจำเท่านั้นค่ะ การสอบก็จะมีการสอบเทคนิคเช่น สเกล อาร์เพจจิโอ และการสอบเพลงค่ะ

แต่ละสัปดาห์ก็จะมีการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ ซึ่งจะมีนักเรียนทั้งคณะเข้าชมค่ะ เราเรียกว่า Recital ซึ่งเราสามารถสม้ครเพื่อที่จะแสดงได้ทุกสัปดาห์ค่ะ สมัยครูเป็นนักเรียนครูเล่นเกือบทุกสัปดาห์เลยค่ะ กา่รเล่น Recital นั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีมากและเป็นการฝึกให้เราไม่ตื่นเวทีด้วยค่ะ

2. วิชาทฤษฎีดนตรีและประวัติศาสตร์ดนตรี

สองวิชานี้ถือว่าเป็นวิชาที่สำคัญในการเรียนดนตรีเช่นกันค่ะ วิชาทฤษฎีดนตรีก็จะเริ่มตั้งแต่ทฤษฎีระดับต้นเลย ไม่ว่าจะเรื่องของขั้นคู่เสียง คอร์ด การวิเคราะห์เพลงตามยุคสมัยต่างๆ จริงๆวิชานี้ไม่ยากค่ะ เหมือนกับการเรียนหนังสือทั่วไป แค่ทำความเข้าใจในห้องก็สามารถทำข้อสอบได้แล้วค่ะ สำหรับเพื่อนๆที่ยังใหม่ในเรื่องทฤษฏีดนตรี คลิกอ่านบทความ โหลดไว้เลยแอพช่วยเตรียมตัวสอบ ABRSM ในบทความนี้ครูก็จะแนะนำแอพพลิเคชันสำหรับฝึกวิชาทฤษฎีดนตรีเอาไว้ค่ะ สำหรับใครที่อยากเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยทางดนตรี ครูเขียนบทความ เตรียมสอบเข้าเอกดนตรีต้องสอบทฤษฎีดนตรีเรื่องอะไรบ้าง สามารถคลิกเข้าไปอ่านกันได้เลยค่ะ

มาต่อกันเรื่องวิชาประวัติศาสตร์ดนตรีกันค่ะ วิชานี้ก็เป็นวิชาที่สนุกมากหากเจอครูที่สอนเก่ง แต่หากเจอครูที่สอนน่าเบื่อล่ะก็ หลับแน่นอนค่ะ วิชานี้ก็จะเล่าประวัติคามเป็นมาของดนตรีตั้งแต่สมัยยุคกลางไล่ขึ้นไปจนถึงดนตรีสมัยใหม่ค่ะ วิชานี้ก็เน้นการจำและก็ความเข้าใจในดนตรีของสมัยนั้นๆ ค่ะ เพื่อนๆสามารถคลิกอ่านตัวอย่างประวัติศาสตร์ดนตรีได้ที่ โมสาร์ท Mozart คือใคร? ประวัติและผลงานแบบละเอียด

3. วิชาโสตทักษะ

วิชานี้จะว่าง่ายก็ได้หรือจะว่ายากมากๆก็ได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับนักเรียนด้วย ตอนครูเรียนนั้นเหมือนขี้โกงเลย เพราะวิชานี้ง่ายมากๆสำหรับครู เนื่องจากครูเป็น Perfect Pitch ซึ่งแปลว่าครูสามารถระบุโน้ตจากการฟังได้ เวลาเรียนนั้นก็จะมีการระบุโน้ตจากการฟังด้วย มันก็เลยง่ายมากสำหรับครูเลยค่ะ แต่มันจะยากมากๆหากเพื่อนๆไม่ได้เป็น Perfect Pitch เพราะจะต้องเทียบเสียงเอาทีละตัวด้วยเทคนิคที่เรียกว่า มูฟโด ค่ะ หากเทียบผิด 1 ตัว โน้ตต่อไปก็จะผิดทั้งหมดเลยค่ะ

นอกจากนี้ก็จะมีการร้องจากการอ่านโน้ต การปรบจังหวะจากการอ่านโน้ต เพื่อนๆที่ร้องเสียงหลงก็จะถึงขั้นหืดขึ้นคอในการเรียนวิชานี้เลยค่ะ เพื่อนๆของครูโอดครวญกันมากๆเลย และก็มีคนสอบตกเกินครึ่งห้องด้วยค่ะ

4. การร้องประสานเสียง

สมัยที่ครูเรียนนั้น วิชานี้ก็จะเรียนเฉพาะนักเรียนที่เอกเปียโนและเอกร้องเพลงค่ะ วิชานี้สนุกมากๆ เราจะได้ร้องเพลงที่เป็นเสียงประสานซึ่งมีทั้งหมด 4 แนว คือแนวเบส เทเนอร์ อัลโตและโซปราโน

ครั้งแรกที่เริ่มเรียนเราจะมีการออดิชันเพื่อวัดระดับเสียงว่าเราอยู่ในกลุ่มไหน ผู้หญิงเสียงต่ำก็จะเป็นอัลโต ผู้หญิงเสียงสูงจะเป็นโซปราโน ผู้ชายเสียงต่ำก็เบส เสียงสูงก็เทเนอร์ค่ะ หลังจากได้กลุ่มแล้วครูก็ฝึกแยกทีละกลุ่มโดยเล่นเปียโนประกอบระหว่างร้องค่ะ เมื่อแต่ละกลุ่มร้องกันได้แล้วก็จะมาร้องรวมกัน ทีนี้ล่ะค่ะความไพเราะก็บังเกิด ความเพี้ยนก็มาด้วยค่ะ หลายๆครั้งก็จะมีคนร้องเสียงหลงซึ่งเราจะได้ยินชัดมากกๆ แต่โดยรวมก็ถือว่าเพราะมากๆ วิชานี้เป็นวิชาโปรดของครูเลยค่ะ

5. การเล่นรวมวง

วิชานี้จะเป็นวิชาของนักเรียนที่เรียนเครื่องเป่าค่ะและเครื่องกระทบและเครื่องสายค่ะ เขาก็จะเล่นรวมกันเหมือนกับวงออร์เคสตราค่ะ ครูไม่เคยเรียนวิชานี้แต่เห็นเพื่อนๆบอกว่าสนุกดีค่ะ

ประโยชน์ของการเล่นรวมวงนั้นคือ เราจะได้เรียนรู้วิธีการเล่นกับคนอื่นค่ะ การแสดงเดี่ยวกับการเล่นรวมวงนั้นไม่เหมือนกัน เพราะการแสดงเดี่ยวนั้นเราเป็นพระเอกแต่การรวมวงนั้นบางครั้งเราเป็นพระเอกบางครั้งก็เป็นตัวประกอบค่ะ

6. การประพันธ์เพลง

สำหรับวิชานี้เป็นวิชาบังคับในบางสาขา แต่บางสาขาก็เป็นวิชาเลือกค่ะ การประพันธ์เพลงนั้นเป็นวิชาที่มีความเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด เนื่องจากการประพันธ์เพลงนั้นจะต้องมีการวางโครงสร้างของเพลง การเลือกใช้ทำนองหรือจังหวะต่างๆนั้นก็จะต้องมีเหตุมีผลว่าทำไมเลือกใช้แบบนี้ การซ้ำการแแปรทำนองต่างๆก็ต้องมีเหตุผลมารองรับเช่นกันค่ะ

ความสนุกของการเรียนวิชานี้คือ เราสามารถแสดงเพลงที่เราประพันธ์ได้ ซึ่งตอนท้ายเทอมนั้นเราก็เตรียมนักดนตรีที่จะเล่นเพลงของเราให้พร้อมและเตรียมแสดงในคอนเสิร์ตได้เลยค่ะ ความรู้สึกในการได้ฟังเพลงที่ตัวเองประพันธ์นั้น ยิ่งใหญ่มากๆ ฟังแล้วจะรู้สึกภูมิใจในตัวเองมากๆค่ะ ใครเรียนเอกดนตรีก็แนะนำให้ลงวิชานี้ไว้ด้วยค่ะ มันสนุกมากๆ

7. การเรียบเรียงเสียงประสาน

การเรียบเรียงเสียงประสานนั้นก็จะมีการเรียบเรียงสำหรับวงเครื่องเป่าและเรียบเรียงสำหรับวงออร์เคสตราค่ะ คอนเซ็ปท์ง่ายๆของวิชานี้คือ

เรามีโน้ตสำหรับเครื่องดนตรีอะไรก็ได้สักเครื่องหนึ่ง เช่นเรามีเพลงสำหรับเปียโน 1 เพลง เราต้องการให้วงออร์เคสตราเล่นเพลงนี้ เราก็ต้องนำมาเรียบเรียงใหม่ให้กับออร์เคสตรา

การเรียบเรียงนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแต่ละเครื่องนั้นจะใช้กุญแจเสียงไม่เหมือนกัน ความสูงต่ำของแต่ละเครื่องดนตรีก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราก็จะต้องเลือกดูว่าระดับเสียงของเครื่องไหนเหมาะกับท่อนไหนของเพลง คุณภาพเสียงของแต่ละเครื่องก็ต่างกัน เราต้องดูบุคลิกของแต่ละเครื่องว่าเป็นแบบไหน และเราต้องการให้เพลงของเรามีกลิ่นไอของเสียงเครื่องอะไรตรงท่อนไหน ก็เลือกเอาตามความเหมาะสมค่ะ วิชานี้ก็สนุกอีกเช่นกันและมีประโยชน์มากๆด้วยค่ะ

8. การเล่นดนตรีประกอบ

การเล่นดนตรีประกอบนั้นเราเรียกว่า Accompaniment ซึ่งจะเป็นวิชาสำหรับนักเปียโนค่ะ การเรียนวิชานี้เราจะฝึกการเล่นเปียโนกับเครื่องดนตรีอื่น เช่น เปียโนกับไวโอลิน เปียโนกับฟลูท เปียโนกับมาริมบา เปียโนกับนักร้อง

การเรียนวิชานี้ก็จะฝึกการเล่นกับเครื่องดนตรีอื่น เราต้องเรียนรู้การอ่านโน้ตของเครื่องดนตรีอื่นด้วย อย่างที่บอกว่าแต่ละเครื่องก็จะใช้กุญแจเสียงที่ต่างกัน เวลาที่เราเล่นเราจะต้องอ่านโน้ตของเปียโนและโน้ตของเครื่องอื่นไปด้วยพร้อมๆกัน

แปลว่าเราจะต้องอ่านโน้ต 3 ไลน์ เราจะต้องพยายามเล่นให้เข้ากับเครื่องดนตรีอื่น เวลาที่เขาหยุดหายใจก็ต้องหยุดตามเขา เวลาที่เขาเล่นเร็วขึ้นเราก็ต้องเล่นเร็ว หากเขาช้าเราก็ต้องช้า ต้องจบให้พร้อมกัน ยกมือออกจากคีย์ให้พร้อมกับเวลาที่เขาหยุดเล่น

การเรียนวิชานี้สนุกดีค่ะ เพราะแทนที่เราจะซ้อมดนตรีคนเดียวแต่เราได้ซ้อมกับเพื่อนๆก็ทำให้การซ้อมสนุกมากขึ้น เวลาแสดงก็มีความน่าสนใจมากขึ้นค่ะ

9. วิชาคอนดักติง

วิชานี้เราก็จะฝึกควบคุมวงค่ะ ซึ่งผู้ที่เป็นคนคุมวงนั้นเราเรียกว่าคอนดักเตอร์ค่ะ เราจะฝึกการอ่านโน้ตของเครื่องดนตรีทุกเครื่อง ฝึกการวิเคราะห์เพลง ฝึกการฟังโดยรวมและการฟังแยกของแต่ละเครื่องดนตรี ฝึกการกำกับบทเพลงโดยใช้ไม้บาตองตามจังหวะต่างๆ

ตอนสอบนั้นเพื่อนๆจะได้ควบคุมวงจริงๆซึ่งก็ตื่นเต้นและสนุกๆมากๆ ได้ประสบการณ์ที่ดีในการควบคุมเครื่องดนตรีหลายๆเครื่อง ได้ปฏิสัมพันธ์กับนักดนตรีมากหน้าหลายตา สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเกี่ยวกับวิชานี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ คอนดักเตอร์มีหน้าที่อะไร-สัมภาษณ์จากวงใน ในบทความนี้ก็จะเป็นการสัมภาษณ์คอนดักเตอร์ที่จบปริญญาเอกสาขานี้โดยตรง เพื่อนๆก็จะได้ความรู้เกี่ยวกับวิชานี้แบบละเอียดเลยค่ะ

10. วิชาเทคโนโลยีดนตรี

วิชานี้ก็จะเน้นไปที่เรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งในระดับต้นนั้นเราก็จะเรียนรู้การใช้โปรแกรมบันทึกโน้ตเช่น Sibelius หรือ Finale และการตัดต่อเสียงแบบง่ายๆ มีการฝึกการตัดต่อเสียงสำหรับโฆษณา เพื่อนๆจะได้เรียนรู้การบันทึกเสียงและการทำดนตรี ซึ่งมีประโยชน์และสนุกอีกเช่นกันค่ะ

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเกี่ยวกับวิชานี้ ทางมหาวิทยาลัยก็มีสาขาเทคโนโลยีดนตรี ซึ่งเพื่อนๆจะได้เรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆเกี่ยวกับดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการอัดเสียง มิกซ์เสียง การใช้ไมโครโฟนและอื่นๆอีกมากมายค่ะ

อ่านจบแล้วเป็นอย่างไรกันบ้างคะ สาขาดนตรีน่าสนุกมากๆเลยใช่มั้ยคะ ยังมีอีกหลายๆวิชาที่น่าสนใจที่ครูไม่ได้กล่าวถึงในวันนี้เนื่องจากบทความชักจะยาวเกินไปแล้วค่ะ เอาไว้คราวหน้าครูค่อยมาเขียนเพิ่มเติมในบทความหน้านะคะ


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *