Lila sitting at piano

เล่นเปียโนเพลงป๊อบให้เพราะขึ้นทันทีด้วย color chord (1)

เพื่อนๆที่เล่นเริ่มเล่นเปียโนกันมาได้สักพักแล้วอาจจะเริ่มอยากที่จะเล่นให้มีสีสันมากขึ้น วันนี้ครูจะมาสอนวิธีการเล่นคอร์ดธรรมดาๆอย่าง C หรือ F ให้ไม่ธรรมดา เรียกว่าคนฟังแล้วต้องคิดว่าเราเป็นโปรแน่ๆ เดี๋ยวเราไปดูกันเลยว่าเราจะทำให้คอร์ดธรรมดานั้นเพราะขึ้นได้อย่างไร

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเล่นเปียโนป๊อบ ครูมีคอร์สสอนเปียโนที่จะทำให้เพื่อนๆสามารถเล่นเปียโนได้ภายใน 10 วัน โดยไม่ต้องมีพื้นฐาน ในคอร์สนี้จะสอนการเปลี่ยนคอร์ดให้เร็ว การเล่น 2 มือ การเล่นประกอบการร้อง การเล่นคอร์ดให้เข้ากับสไตลฺ์เพลง เรียนจบคอร์สแล้วเพื่อนๆจะสามารถเล่นเพลงได้เป็นพันๆเพลง หากสนใจสามารถคลิกดูรายละเอียดคอร์สได้ ที่นี่ ค่ะ

Color Chord คืออะไร

Color Chord ก็คือการที่เราเติมโน้ตบางตัวเพื่อเพิ่มสีสันให้กับคอร์ดธรรมดาๆ ตัวอย่างเช่นเราสามารถเปลี่ยนคอร์ด C ที่มีแค่โน้ต C-E- G ให้เพราะขึ้นด้วยการเติมโน้ตตัวที่ 2 ซึ่งเราจะเรียกว่า Csus2 หรือเติมโน้ต sus 4 chord, Major 7th, minor 11, Major 6, minor6 สำหรับวันนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการเติมคอร์ด 7 ซึ่งเป็นการเติม color chord ที่ค่อนข้างง่ายสำหรับมือใหม่ค่ะ

คอร์ด 7 คืออะไร

คอร์ด 7 คือการใส่ตัวที่ 7 ของคีย์ไปบนคอร์ดทรัยแอดธรรมดา เช่นในคอร์ด C นั้นจะประกอบด้วยตัว C-E-G ซึ่งเป็นตัวที่ 1-3-5 ของสเกล เมื่อเราใส่ตัวที่ 7 ลงไป ซึ่งก็คือตัว B เราก็จะได้คอร์ด 7 นั่นเองค่ะ คอร์ด 7 นั้นมีทั้งหมด 5 แบบซึ่งครูได้เขียนบทความไว้แล้ว สามารถคลิกอ่านบทความ คอร์ด 7 ทั้ง 5 แบบ ได้เลยค่ะ ดูภาพตัวอย่างประกอบในการสร้างคอร์ด 7 ได้จากรูปด้านล่างเลยค่ะ

จากภาพครูจะวงโน้ตตัวที่ 1-3-5-7 ซึ่งก็คือตัว C-E-G-B เราเรียกโน้ตทั้ง 4 ตัวนี้ว่าคอร์ด CMajor7 ค่ะ

ใส่ Color Chord บนคอร์ด Major

แรกเริ่มครูจะยกตัวอย่างการเปลี่ยนคอร์ด Major นะคะ โดยเราจะเปลี่ยนคอร์ด C และ F ให้เพราะขึ้นค่ะ

การใส่ color chord ที่ง่ายที่สุดนั้นก็คือการเติมคอร์ด 7 ลงไปบนโน้ต ซึ่งก็คือการเพิ่มโน้ตตัวที่ 7 ลงไป 1 ตัว หลายๆครั้งนักเปียโนมือใหม่มักจะคิดว่าเวลาที่เราเล่นคอร์ดนั้นจะต้องเล่นคอร์ดทั้งหมดในมือใดมือหนึ่ง ซึ่งจริงๆแล้วเราสามารถแบ่งเล่นได้ทั้ง 2 มือ ซึ่งนอกจากจะง่ายกว่าแล้วเราก็จะได้เสียงที่ดีขึ้นอีกด้วยค่ะ เพราะเราสามารถพลิกกลับได้หลายแบบ แต่ละแบบก็จะให้เสียงที่แตกต่างกันอีกด้วยค่ะ

ในตัวอย่างด้านล่างเราจะเติมตัวที่ 7 ลงไปบนคอร์ด Cซึ่งเราก็จะได้โน้ตตัว C-E-G-B คอร์ด 7 นี้เราจะเรียกมันว่า C Major7 แต่แทนที่เราจะใส่แค่ตัว B ตัวเดียวครูจะทำให้ม้นฟังดูแน่นขึ้นด้วยการเล่นมือซ้ายคอร์ด C Major มือขวาเราจะสร้างคอร์ด minor โดยสร้างจากตัวที่ 2 ของคอร์ด C (C-E-G) ซึ่งก็คือตัว E เราก็จะได้คอร์ด E minor ที่มือขวาซึ่งประกอบไปด้วยโน้ตตัว E-G-B ถ้าเพื่อนๆลองวิเคราะห์ดูแล้ว เราเพิ่มโน้ตตัว B แค่เพียง 1 ตัวที่เหลือเราแค่เล่นโน้ตตัว E และตัว G ซ้ำที่มือขวาเท่านั้นเอง

คอร์ด C ที่ใส่ Color ด้วย 7
เสียงของ C Major Chord
คอร์ด C ที่ใส่ color chord 7

เมื่อเราได้คอร์ด E minor ที่มือขวาแล้ว ทีนี้เราจะพลิกกลับคอร์ดกันเล็กน้อยเพื่อให้ได้เสียงที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่แล้วเราจะพยายามทำให้มือขวาและมือซ้ายนั้นใกล้ๆกันเพราะจะให้เสียงที่ดีที่สุด ในที่นี้เราก็ทำการย้ายโน้ตตัว B ลงมาเพื่อให้ใกล้กับตัว G ในมือซ้ายมากที่สุด เมื่อย้ายโน้ตแล้วเราก็จะได้ตัว B-E-G ที่มือขวาค่ะ

เราจะทำแบบเดียวกันกับคอร์ด F Major เราก็สร้างคอร์ด F Major ก่อนที่มือซ้าย ก็จะได้ตัว F-A-C จากนั้นเราเลือกตัวที่ 2 ของคอร์ดก็จะได้โน้ตตัว A เราก็แค่สร้างคอร์ด A minor ซึ่งก็คือโน้ตตัว A-E-C ซึ่งเราจะเล่นที่มือขวาค่ะ

สรุปเราก็จะได้มือซ้ายตัว F-A-C มือขวาจะได้โน้ตตัว A-C-E และเวลาที่เล่นเราก็จะพลิกกลับโดยเอาตัว E มาไว้ข้างล่างได้โน้ต E-A-C ค่ะ

คอร์ด F ธรรมดา
คอร์ด F ที่ใส่ color ด้วย 7

เล่นอย่างไรให้เพราะ

หากเพื่อนๆต้องการเล่นในแนวบัลลาดล่ะก็ เราสามารถแตกมือซ้ายออกมาให้เล่นเป็นทีละตัวได้ซึ่งเราจะเรียกว่า broken chord จากตัวอย่างด้านล่างเราก็จะแตกคอร์ด C ออกมาทีละตัวเป็นโน้ตตัว C-G-C-G เราสามารถสลับตำแหน่งไปมาหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนตัวโน้ตตัวอื่นก็ได้ ตราบใดที่โน้ตที่เราใช้นั้นมีตัว C-E-G-B ค่ะ เช่นกันกับคอร์ด F เราก็แตกเป็น broken chord เหมือนกันค่ะ

ใส่ color chord บนคอร์ด minor

การใส่ color chord บนคอร์ด minor มีวิธีดังนี้ เราจะสร้างคอร์ด C minor ที่มือซ้ายซึ่งจะประกอบไปด้วยโน้ตตัว C-Eb-G จากนั้นเลือกเอาตัวที่2ของคอร์ด คือตัว Eb และเราก็สร้างคอร์ด Major จากตัว Eb เราก็จะได้โน้ตตัว Eb-G-Bb ค่ะ

หากเรามาลองวิเคราห์โน้ตดูแล้วก็จะเห็นว่าโน้ตตัวที่เพิ่มจากคอร์ด Cminor นั้นจะมีแค่โน้ตตัว Bb ตัวเดียว ซึ่งตัว Bbนั้นจะเป็นตัวที่ 7 ของคอร์ด C นั่นเองค่ะ

การใส่ color ในคอร์ด minor
คอร์ด C minor ธรรมดา
คอร์ด C minor ที่ใส่ color ด้วย 7

ต่อมาเราจะมาใส่ color chord ลงบนคอร์ด F minor กันค่ะ เราก็สร้างคอร์ด F minor (F-Ab-C) ที่มือซ้าย แล้วเราก็เลือกตัวที่ 2 ของคอร์ด ซึ่งก็คือตัว Ab จากนั้นเราก็สร้างคอร์ด AbMajor ที่มือขวา (Ab-C-Eb) เพื่อเพิ่มความเพราะมากขึ้นเราก็จะสลับตัว C ลงมาไว้ด้านล่างเป็นตัว C-Eb-Ab ค่ะ

คอร์ด F ธรรมดา
คอร์ด F ที่ใส่ color ด้วย 7

ทำอย่างไรให้เพราะ

แบบเดียวกับในคีย์ Major เราก็เปลี่ยนจากมือซ้ายที่เป็น Block chord เป็น broken chord ค่ะ

แค่เพื่อนๆทำตามขั้นตอนนี้ ไม่ว่าจะเจอคอร์ดอะไรเราก็เล่นให้เพราะได้อย่างโปรแล้วล่ะค่ะ ยังมีวิธีการเพิ่ม color chord อีกหลายๆแบบที่ครูไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ เอาไว้ถ้ามีโอกาสจะมาบอกกล่าวกันอีกนะคะ พบกันใหม่กับบทความฉบับหน้าค่ะ