เทคนิคการจำและไล่สเกล minor key (เปียโน)

สวัสดีเพื่อนๆทุกคนค่ะ วันนี้เราจะมาพูดกันถึงวิธีการจำสเกลในคีย์ minor กันนะคะ ขอบอกเอาไว้เลยว่าสเกลไมเนอร์นั้นไม่ใช่เรื่องกล้วยๆเลย มันมีเยอะมาก หากเราไม่มีเทคนิคในการจำล่ะก็ เล่นเท่าไหร่ก็จำไม่ได้แน่ๆ วันนี้ครูเลยจะมาสอนเทคนิคการจำสเกลไมเนอร์กันค่ะ สำหรับเพื่อนๆที่ยังไม่แม่นในการเล่นสเกลคีย์เมเจอร์ จะต้องไปฝึกสเกลเมเจอร์ให้แม่นก่อนนะคะ เพื่อนๆสามารถกดลิงค์เข้าไปฝึกกันได้ ที่นี่ เลยค่ะ และหากเพื่อนๆเกิดความข้องใจในประโยชน์ของสเกลล่ะก็ คลิกอ่านที่ ประโยชน์ของสเกลมีอะไรบ้าง จะได้หายข้องใจกันค่ะ เอาล่ะพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลยค่ะ

เมเจอร์คีย์กับไมเนอร์คีย์เป็นญาติกัน

ก่อนอื่นเพื่อนๆจะต้องรู้ว่าสเกลในไมเนอร์คีย์นั้นจะมีความสัมพันธ์กับเมเจอร์คีย์กันแบบแน่นแฟ้นเลยค่ะ เรียกว่าสนิทกันถึงขนาดว่าใช้ของร่วมกันเลยทีเดียว ของที่ว่านี่ก็คือไมเนอร์คีย์นั้นจะติดชาร์ปแฟลทเหมือนกับคีย์เมเจอร์ที่เป็นญาติกันเลยค่ะ ซึ่งวันนี้ครูจะมาสอนวิธีการหาญาติทางเมเจอร์กันค่ะ

ก่อนอื่นเพื่อนๆก็จะต้องจำก่อนว่า คีย์ C Major นั้นจะเป็นญาติกับคีย์ A minor ค่ะ อันนี้จำให้แม่นเลยนะคะ เราจะได้มีหลักยึดเอาไว้ค่ะ ทีนี้เราจะมาดูความสัมพันธ์ของ C Major กัน ว่ามันมีระยะห่างจากคีย์ A minor เท่าไหร่ ครูจะเขียนโน้ตใน C Major เรียงกันให้ดูนะคะ

จากรูปเราจะเห็นว่าหากเราต้องการรู้ว่าคีย์ C เป็นญาติกับไมเนอร์คีย์อะไร เราจะนับจากตัว C ไป 6 ตัวคือ C D E F G A ก็จะมาตกอยู่ที่ตัว A ซึ่งก็แปลว่ C Major นั้นเป็นญาติกับคีย์ Am ค่ะ วิธีนี้จะใช้ได้ผลดีหากเราต้องการหาญาติทางไมเนอร์ แต่หากเรามีคีย์ไมเนอร์และเราต้องการรู้ว่าญาติทางเมอเจอร์ของมันคืออะไร การใช้วิธีนี้จะค่อนข้างสับสนในเรื่องของชาร์ปแฟลทมากๆ ครูจึงขอนำเสนอวิธีการคิดอีกแบบหนึ่งที่จะทำให้สามารถคิดกลับไปกลับมาได้อย่างง่ายดังนี้ค่ะ

จากรูปด้านบน แทนที่เราจะหาญาติทางไมเนอร์โดยการนับจาก C ไป 6 ตัว เราจะนับย้อนจากตัว C ลงมา 3 ครึ่งเสียงแทน โดยจะนับตัวที่ถัดจากตัว C เป็นตัวตั้งค่ะ จากตัว C เราก็จะนับมาที่ตัว B (1) Bb (2) A(3) เราจะได้ตัว A ซึ่งก็คือคีย์ A minor นั่นเองค่ะ

หากเราต้องการรู้ว่าคีย์ A minor เป็นญาติกับคีย์เมเจอร์อะไร เราก็จะนับจากตัว A ขึ้นไป 3 ครึ่งเสียง ดังนี้ เอาตัว A ตั้งแล้วเริ่มนับตั้งแต่ตัว Bb(1) B (2) C (3) เราก็จะได้คำตอบเป็น C Major ค่ะ

ลองยกตัวอย่างคีย์อื่นบ้างนะคะ หากเราต้องการรู้ว่าคีย์ G Major เป็นญาติกับไมเนอร์คีย์อะไร เราจะนับลงมา 3 ครึ่งเสียงโดยเริ่มจากตัวที่ถัดจากตัว G ลงมาดังนี้ค่ะ F# (1) F (2) E (3) เราก็จะได้คำตอบว่า G Major นั้นเป็นญาติกับ E minor ค่ะ

ทีนี้ลองคิดกลับกันบ้าง หากเราต้องการหาญาติทางเมเจอร์ของ E minor เราก็จะต้องนับขึ้นค่ะ โดยนับตัวที่ถัดจาก E ซึ่งก็คือตัว F (1) F# (2) G (3) ดังนั้นญาติของ E minor ก็คือ G Major ค่ะ

เดี๋ยวนับขึ้นเดี๋ยวนับลงเพื่อนๆอาจจะสับสนได้ ดังนั้นครูถึงได้บอกว่าให้จำเอาไว้เลยว่า C Major เป็นญาติกับ A minor เราจะได้มีหลักเอาไว้ให้จำยังไงล่ะคะ ตัวอย่างด้านล่างนี้จะเป็นตารางเทียบสเกลในคีย์เมเจอร์และญาติทางไมเนอร์ทุกๆคีย์ เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดไฟล์ pdf เอาไว้ดูได้เลยนะคะ

ต่อมาก็จะมาถึงจุดสำคัญของการหาญาติแล้วค่ะ ซึ่งก็คือ คีย์ที่เป็นญาติกันจะใช้ key signature แบบเดียวกัน พูดภาษาง่ายๆก็คือ คีย์ที่เป็นญาติกันจะติดชาร์ปแฟลทแบบเดียวกันค่ะ จากตารางด้านบนครูจะเขียนสเกลเมเจอร์ไว้ด้านซ้ายและในวงเล็บจะเป็น ชาร์ปแฟลทที่ใช้ในคีย์นั้นๆ ซึ่งเมื่อเพื่อนๆดูตารางทางด้านขวาซึ่งเป็นญาติทางไมเนอร์ก็จะเห็นได้ว่าเราจะติดชาร์ปแฟลทเหมือนกับคีย์แม่ทุกประการเลยค่ะ

คีย์ที่เป็นญาติกันจะใช้ key signature แบบเดียวกัน พูดภาษาง่ายๆก็คือ คีย์ที่เป็นญาติกันจะติดชาร์ปแฟลทแบบเดียวกัน

minor scale มีกี่แบบ

minor scale ต่อมาจะเขียนทับศัพท์เป็นภาษาไทยว่าสเกลไมเนอร์นะคะ สเกลไมเนอร์จะมีทั้งหมด 3 แบบด้วยกันดังนี้

  1. Natural minor เล่นเหมือนญาติในคีย์เมเจอร์ทุกอย่างยกเว้นเริ่มต้นและจบโน้ตไม่เหมือนกัน เช่นในคีย์ C Major เราจะไม่ติดชาร์ปแฟลทอะไรเลย เวลาเล่นคีย์ A minor ก็จะไม่ติดชาร์ปแฟลทเช่นเดียวกัน แต่เราจะเริ่มเล่นที่ตัว A และจบที่ตัว A เราเรียกสเกลนี้ว่า Natural minor เพราะคำว่า natural นั้นแปลว่า ธรรมชาติ ซึ่งก็คือเล่นแบบธรรมชาติ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรใดๆทั้งสิ้น เราจะเล่นเหมือนคีย์ Major ทุกประการโดยที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรเลยค่ะ
  2. Harmonic minor ติดชาร์ปแฟลทเหมือนญาติในคีย์เมเจอร์ แต่ตัวที่ 7 ของสเกลไมเนอร์นั้นจะต้องเล่นสูงขึ้นครึ่งเสียง เช่นในคีย์ A harmonic minor เราจะเล่นโดยที่ไม่ติดชาร์ปแฟลทเหมือนคีย์ C Major แต่ตัวที่ 7 ของสเกล A minor ( A B C D E F G) จะต้องสูงขึ้นครึ่งเสียง คือเราจะเล่นตัว G เป็น G # แทนค่ะ
  3. Melodic minor ขาขึ้นกับขาลงไม่เหมือนกัน ขาขึ้นจะติดชาร์ปแฟลทเหมือนญาติในคีย์เมเจอร์ แต่ตัวที่ 6 และ 7 จะเล่นสูงขึันครึ่งเสียง ขาลงจะเล่นเหมือนญาติทางเมเจอร์หรือเล่นเหมือน Natural minor เช่นคีย์ A melodic minor เราจะเล่นโดยที่ไม่ติดชาร์ปแฟลทเหมือน C Major ( A B C D E F G) แต่ขาขึ้นตัวที่ 6 และ 7 (F และ G) จะต้องเล่นสูงขึ้นเราจึงจะเล่นดังนี้ (A B C D E F# G# A) ขาลงจะเล่นเหมือน Natural minor หรือเหมือนคีย์ C Major ซึ่งก็คือจะไม่ติดชาร์ปแฟลทเลย ดังนั้นขาลงจะเล่นเป็น A G F E D C B A

ตัวอย่างสเกล C Major และ A minor

C Major ScaleC D E F G A B C – C B A G F E D C
(คีย์ C Major ไม่ติดชาร์ปแฟลท)
A Natural minor A B C D E F G A – A G F E D C B A
(A Natural minor จะไม่ติดชาร์ปแฟลทเหมือน C Major scale)
A Harmonic minorA B C D E F G# A – A G# F E D C B A
( A Harmonic minor ตัวที่ 7 คือตัว G จะเล่นสูงขึ้นครึ่งเสียง)
A Melodic minor – A B C D E F# G# A – A G F E D C B A
(A Melodic minor ขาขึ้นตัวที่ 6 และ 7 คือตัว F และ G เล่นสูงขึ้น ขากลับจะเล่นเหมือน Natural minor scale)

โน้ตสเกลไมเนอร์

เมื่อเพื่อนๆได้ทำความเข้าใจวิธีการสร้างสเกลทางไมเนอร์แล้ว เราจะมาฝึกแบบฝึกหัดกันทั้งหมดทุกคีย์เลยนะคะ จะมีบางคีย์ที่เราจะไม่นิยมใช้เช่น คีย์ D# minor ส่วนใหญ่แล้วเราจะเล่นเป็นคีย์ Eb minor แทน ดังนั้นครูจึงไม่ได้ทำโน้ตในคีย์ที่เราไม่ใช้กันนะคะ

สิ่งสำคัญในการฝึกสเกลทางไมเนอร์ก็คือ เวลาที่เพื่อนๆฝึกแต่ละคีย์นั้น ควรจะทำความเข้าใจว่าโน้ตแต่ละตัวนั้นมันมาได้อย่างไร แล้วทำไมต้องติดชาร์ปแฟลทเพิ่มบางที่ หากเราทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ก็จะทำให้เราจำสเกลได้ง่ายขึ้นค่ะ

สำหรับเพื่อนๆที่ต้องการโน้ตไมเนอร์สเกลพร้อมนิ้ว สามารถดาวน์โหลดได้จากลิงค์ด้านล่างเลยค่ะ

เช่นเดียวกันกับสเกลทางเมเจอร์ หากเพื่อนๆ ฝึกจาก tetrachord ก่อนก็จะทำให้เล่นได้ง่ายขึ้นมากเพราะเราไม่ต้องกังวลเรื่องของนิ้วที่จะใช้เล่น จึงสามารถโฟกัสเรื่องของโน้ตได้ง่ายกว่าค่ะ

หวังว่าเพื่อนๆจะได้ประโยชน์จากการอ่านบทความนี้กันไปพอสมควร แต่อย่าอ่านเฉยๆนะคะ ดาวน์โหลดโน้ตไปฝึกกันด้วยค่ะ


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *