เตรียมสอบเข้าเอกดนตรีต้องสอบทฤษฎีเรื่องอะไรบ้าง

ปัจจุบันกระแสนิยมในการเรียนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัยนั้นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หลายๆมหาวิทยาลัยก็ได้เปิดสาขาดนตรีเพิ่มขึ้นมากมาย หากเพื่อนๆต้องการไอเดียเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยดนตรีที่โด่งดังในไทยล่ะก็ สามารถคลิกเข้าไปอ่านได้ที่บทความ เปรียบเทียบมหาวิทยาลัยดนตรี 5 แห่ง จะได้ช่วยเป็นทางเลือกนะคะ สำหรับการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ในเรื่องของทฤษฎีเพื่อนๆจะต้องเตรียมตัวเรื่อง ต่างๆดังนี้ค่ะ

1. ระดับเสียง (Pitch)
2. กุญแจเสียง (Clef)
3. เครื่องหมายแปลงเสียง (Accidental)
4. ระดับเสียงเต็ม (Whole Step) ระดับครึ่งเสียง (Half Step)
5. โน้ตเอนฮาร์โมนิก (Enharmonic )
6. จังหวะ (Rhythm) เครื่องหมายกำหนดจังหวะ Time Signature
7. Simple Time, Compound Time และ Complex Time
8. บันไดเสียง (Scale) เมเจอร์และไมเนอร์ และ Diatonic triad  ใน Scale
9. ขั้นคู่เสียง (Interval) และการพลิกกลับ
10. ทรัยแอด (Triad) Major, Minor, Diminished, Augmented
11. คอร์ด 7
12. การย้ายบันไดเสียง (Transposition)
13. คำศัพท์ดนตรี (Musical Term)
14. วิเคราะห์บทเพลง (Analysis)

ในหลายๆมหาวิทยาลัย การสอบทฤษฎีนั้นจะรวมไปถึงการสอบประวัติศาสตร์ดนตรีและการสอบโสตทักษะ (Ear Training) ด้วย และนอกจากนี้บางมหาวิทยาลัยยังกำหนดให้สอบทฤษฎีดนตรีไทยเพิ่มอีกด้วย ในบทความนี้ครูจะพูดถึงเรื่องการเตรียมตัวสอบทฤษฎีดนตรีสากลเท่านั้นค่ะ

เพื่อนๆอ่านหัวข้อที่จะต้องสอบแล้วอย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ บางชื่ออาจจะไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่และฟังดูเหมือนว่าสอบเยอะไปหมด แต่จริงๆแล้วก็ไม่ได้เยอะมากจนเตรียมตัวไม่ได้ค่ะ เราไปดูรายละเอียดกันเลยว่าแต่ละข้อนั้นคืออะไรบ้าง

1. ระดับเสียง (Pitch)

แน่นอนว่าการอ่านโน้ตถือว่าเป็นพื้นฐานหลักในการเรียนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว การอ่านโน้ตนั้นเราจะอ่านโน้ตทุกตัว ไม่ใช่แค่โน้ตที่อยู่ในบรรทัด 5 เส้นเท่านั้น แต่รวมถึงโน้ตที่อยู่นอกเส้นซึ่งเราจะต้องขีดเส้นเล็กๆเพิ่มจากบรรทัด 5 เส้น ซึ่งเราเรียกโน้ตแบบนี้ว่า เส้นน้อยหรือ Ledger line ค่ะ ดูตัวอย่างด้านล่างของ ledger line ประกอบนะคะ

สำหรับเพื่อนๆที่ยังอ่านโน้ตไม่คล่อง สามารถคลิกอ่านบทความ สอนอ่านโน้ตง่ายๆ ละเอียดที่สุด หรือลองเช็ค คอร์สเรียนการอ่านโน้ตฉบับสมบูรณ์ ที่ครูตั้งใจทำมากๆ ซึ่งในคอร์สจะสอนอย่างละเอียด มีเทคนิคให้จำ มีทั้งแบบฝึกหัดออนไลน์และนักเรียนยังสามารถดาวน์โหลดแบบฝึกหัดไปทำเพิ่มได้มากกว่า 1000 ข้อ รับรองว่าถ้าเรียนจบคอร์สแล้วจะสามารถอ่านโน้ตได้คล่องขึ้นมากๆเลยค่ะ

2. กุญแจเสียง (Clef)

สำหรับเรื่องของกุญแจเสียงนั้น เพื่อนๆคงจะชินกับกุญแจซอลและกุญแจฟากันอยู่แล้ว แต่หากเพื่อนๆต้องการสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัยเราจะเพิ่มกุญแจโด (C Clef) ขึ้นมา ซึ่งกุญแจโดนั้นจะมีหลายแบบด้วยกันแต่อันที่เราใช้บ่อยๆจะมี 2 อันได้แก่ กุญแจอัลโตและกุญแจเทเนอร์ค่ะ

จากรูปด้านล่างจะเห็นว่าเราสามารถเรียกกุญแจซอล (treble clef) ได้ว่า G Clef เนื่องจากตรงเส้นที่ครูขีดสีแดงไว้นั้นเป็นตัวบอกโน้ตตัว G ค่ะ กุญแจฟา (bass clef) ก็สามารถเรียกว่า F Clef ได้เช่นกัน ตรงเส้นสีแดงเป็นตัวระบุโน้ตตัว F ในกุญแจโดนั้น เราเรียกว่า C Clef เพราะตรงกึ่งกลางของกุญแจที่ครูขีดเส้นสีแดงไว้จะเป็นตัวกำหนดโน้ตตัว C ค่ะ

3. เครื่องหมายแปลงเสียง (Accidental)

เครื่องหมายแปลงเสียงก็ได้แก่ชาร์ป แฟลทและเนเชอรัลค่ะ โดยชาร์ปแแฟลทก็คือเครื่องหมายกำกับที่ทำให้เราเล่นโน้ตสูงขึ้นหรือต่ำลงกว่าตัวโน้ตปกติค่ะ

เครื่องหมายชาร์ปจะเล่นสูงขึ้นครึ่งเสียง เครื่องหมายแฟลทจะเล่นต่ำลงครึ่งเสียง เครื่องหมายนเนเชอรัลแปลว่ายกเลิกชาร์ปแฟลททั้งหมดค่ะ

นอกจากชาร์ปแฟลทธรรมดาแล้ว เราก็ยังมีดับเบิลชาร์ปและดับเบิลแฟลทอีกด้วยค่ะ เพื่อนๆดูตัวอย่างได้ที่รูปด้านล่างเลยค่ะ

4. ระดับเสียงเต็ม (Whole Step) ระดับครึ่งเสียง (Half Step)

ระดับเสียงเต็มและครึ่งเสียงนั้นก็คือระยะห่างระหว่างโน้ต 2 ตัว

half step (ระดับครึ่งเสียง) จะเป็นโน้ตตัวที่ติดกันตัวถัดไป เช่น จาก F -F#, C-C#, E-Eb

whole step (ระดับเสียงเต็ม) whole step นั้นจะเท่ากับ 2 half step แปลว่าเราจะหา whole step โดยหาจากโน้ตครึ่งเสียง แต่เราจะทำทั้งหมด 2 ครั้ง เช่น whole step ของโน้ต C จะเท่ากับ C-C# (1 half step) C#-D (1 half step) ดังนั้น whole step ของ C จะเท่ากับ D ค่ะ

5. โน้ตเอนฮาร์โมนิก (Enharmonic)

โน้ตเอนฮาร์โมนิก คือโน้ตที่เขียนต่างกันแต่จริงๆแล้วเป็นโน้ตตัวเดียวกัน เช่น โน้ตตัว E# กับ F แม้จะเขียนต่างกันแต่ทั้งสองโน้ตนี้ก็คือโน้ตตัว F ครูจะยกตัวอย่างอีกสักสองสามตัวเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นค่ะ Bb – A# ก็คือตัวเดียวกันค่ะ , Db-C#และ Gb-F# ก็เช่นกัน

6. จังหวะ (Rhythm) เครื่องหมายกำหนดจังหวะ Time Signature

สิ่งที่นักเรียนจะต้องเตรียมตัวคือการอ่านจังหวะเบื้องต้น รวมถึงจังหวะพวกเขบ็จทั้งหลายและทริเปล็ต (Triplet) ครูเขียนบทความ สอนอ่านโน้ตดนตรีง่ายๆ เอาไว้ เพื่อนๆสามารถคลิกเข้าไปเรียนได้เลยค่ะ

ส่วนเรื่องของ Time Signature นั้น ก็คือเครื่องหมายกำหนดจังหวะ เช่น 2/4, 3/4, 6/8, 2/2 โดยตัวเลขด้านบนนั้นเป็นตัวกำหนดว่าใน 1 ห้องจะมีทั้งหมดกี่จังหวะ ส่วนเลขด้านล่างเป็นตัวกำหนดว่าโน้ตใดมีค่าเท่ากับ 1 จังหวะ

  • เลข 4 ด้านหมายถึง ตัวดำ = 1 จังหวะ
  • เลข 2 หมายถึง ตัวขาว = 1 จังหวะ
  • เลข 8 หมายถึงตัวเขบ็จ 1 ชั้น = 1 จังหวะ

เพื่อนๆสามารถอ่านบทความ 3/4 และ 6/8 ต่างกันอย่างไร จะได้เข้าใจรายละเอียดได้มากขึ้นค่ะ

7. Simple Time, Compound Time และ Complex Time

Simple Time คือ อัตราจังหวะธรรมดา ซึ่งก็แปลตรงๆได้ว่าเรานับกันไปตามตัวโน้ตธรรมดาค่ะ โดยเราจะใช้ Time Signature ที่ตัวเลขด้านบนเป็นเลข 4 เช่น 2/4, 3/4, 4/4

ยกตัวอย่าง 4/4 เราก็จะนับจังหวะในแต่ละห้องเป็น 1-2-3-4 ถ้าเป็น 3/4 เราก็จะนับจังหวะแต่ละห้องเป็น 1-2-3

Compound Time คืออัตราจังหวะที่นับแบบผสม 3 พยางค์ ส่วนใหญ่จะเป็น Time Signature ที่ตัวล่างเป็นเลข 8 เราเรียกอัตราจังหวะแบบผสมเนื่องจาก เราจะนับจังหวะแบบนี้เป็นกลุ่มใหญ่ ลองดูตัวอย่างประกอบด้านล่างค่ะ

เราจะแบ่งกลุ่มจังหวะโดยการเอา 3 มาหารเลขตัวบน เช่นหากจังหวะเป็น 3/8 ก็จะเอา 3 หาร 3 ได้ 1 เท่ากับเราจะมี 1 กลุ่มจังหวะ 6/8 ก็จะเอา 3 หาร 6 จะได้ 2 เราก็จะได้ 2 กลุ่ม 9/8 เอา 3 หาร 9 ได้ 3 จะได้ 3 กลุ่ม ส่วน 12/8 เอา 3 หาร 12 ได้ 4 ก็จะเป็น 4 กลุ่มจังหวะ ดูตัวอย่างประกอบด้านล่างค่ะ

Complex Time อัตราจังหวะซ้อน คืออัตราจังหวะที่ไม่สม่าเสมอ เช่น 5/4, 7/8, 11/16 เป็นต้น

8. บันไดเสียง (Scale) เมเจอร์และไมเนอร์ และ Diatonic triad  ใน Scale

บันไดเสียงก็จะมีตั้งแต่คีย์ C Major ที่ไม่ติดชาร์ปแฟลท ไปจนถึงคีย์ C# Major ที่ติด 7#และคีย์ Cb Major ที่ติด 7b

นอกจากนี้เพื่อนๆจะต้องรู้คีย์ไมเนอร์ทุกคีย์ ซึ่งในคีย์ minor นั้นเราจะต้องรู้ทั้ง natural minor, harmonic minor และ melodic minor ดูตัวอย่างด้านล่างค่ะ

C major Scale = C D E F G A B C (ไม่ติดชาร์ปแฟลท)

เราจะหาญาติทางไมเนอร์ได้ด้วยการนับโน้ตลงจากสเกล 3 ตัว คือจาก C ไป B และไป A ก็จะได้ญาติทางไมเนอร์ซึ่งแชร์ key signature เดียวกัน คือในคีย์ A minor จะไม่ติดชาร์ปแฟลทเหมือนกับคีย์ C โดยจะแบ่งคีย์ไมเนอร์ได้เป็น 3 แบบดังนี้ค่ะ

A natural minor = A B C D E F G A (เล่นเหมือนคีย์ C Major ทุกประการ)

A harmonic minor = A B C D E F G# A (ตัวที่ 7 ของสเกลจะเล่นสูงขึ้นครึ่งเสียง)

A melodic minor = A B C D E F# G# A G F E D C B A (ขาขึ้นตัวที่ 6 และ 7 จะเล่นสูงขึ้นครึ่งเสียง ขาลงจะเล่นเหมือนกับ natural minor)

Diatonic triad คือคอร์ดทั้ง 7 คอร์ด ที่สร้างขึ้นจากสเกลทั้งเมเจอร์และไมเนอร์ คอร์ดที่ได้นั้นจะขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างคอร์ดจากตำแหน่งที่เท่าไหร่ของสเกล เช่นในคีย์ C Major หากเราสร้างคอร์ดจากตำแหน่งที่ 3 เราจะได้คอร์ด E minor หากเราสร้างคอร์ดจากตำแหน่งที่ 5 เราจะได้เป็น G Major ซึ่งกฏนี้จะใช้เหมือนกันกับทุกคีย์ค่ะ คือ แหน่งที่ 1 ของคอร์ดก็จะเป็นคอร์ด Major เสมอ ตำแหน่งที่ 2 จะเป็น minor เสมอ ตำแหน่งที่ 3 จะเป็น minor เสมอ เพื่อนๆดูได้ตามตัวอย่างด้านล่างค่ะ แต่ diatonic ของ major scale และ minor scale จะไม่เหมือนกันซึ่งครูได้ยกตัวอย่างมาให้ดูทั้ง diatonic ของ major และ minor ด้านล่างค่ะ

9. ขั้นคู่เสียง (Interval) และการพลิกกลับ

ขั้นคู่เสียงคือระยะห่างระหว่างเสียงของโน้ต 2 ตัว ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือ โน้ตตัว C – E เราจะนับจากตัว C ไปหา Eก็จะได้ระยะเสียงเท่ากับ 3 แต่ทั้งนี้เราต้องบอกว่ามันเป็นคู่ 3 ประเภทไหน ซึ่งก็จะมีอยู่ 2 แบบคือ major และ minor ขั้นคู่เสียงที่เราใช้จะมีทั้งหมดดังนี้ค่ะ

  • major 2nd = C-Db
  • Major 2nd = C-D
  • minor 3rd = C-Eb
  • Major 3rd = C- =E
  • Perfect 4th = C-F
  • Perfect 5th = C-G
  • minor 6th = C-Ab
  • Major 6th = C-A
  • minor 7= C-Bb
  • Major 7 =C-B
  • Octave = C-B

บางครั้งข้อสอบจะถามลึกลงไปถึงขั้นคู่ diminish และ augmented ด้วย สำหรับเรื่อง interval นี้ครูจะไม่ลงไปในรายละเอียดนะคะ เนื่องจากมันจะใช้เวลาค่อนข้างมาก จะต้องอาศัยทั้งบทความเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะเลย

ขั้นคู่พลิกกลับก็คือ หากเราพลิกกลับโน้ตจาก C-Bb (minor 7) ก็จะได้โน้ตเป็น Bb-C เราจะได้เป็นคู่ Major 2nd ซึ่งในข้อสอบก็จะมีการถามลักษณะนี้ค่ะ

ขั้นคู่ Enharmonic คำว่า Enharmonic นั้นมีความหมายว่าอะไรก็ตามที่ให้เสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกัน สำหรับขั้นคู่ Enharmonic ก็คือขั้นคู่ที่มีการเขียนต่างกันแต่ให้เสียงเดียวกัน เช่น C-Eb กับ C-D# ตัว Eb และ D# นั้นให้เสียงเดียวกันแต่เขียนไม่เหมือนกัน เวลาที่เราหาคู่เสียงก็จะมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน C-Eb จะเรียกว่า minor 3rd C-D# จะเรียกว่า Augmented 2nd

10. ทรัยแอด (Triad)

ทรัยแอดคือ โน้ตที่สร้างขึ้นมาจากตัวที่ 1-3-5 ของสเกล จริงๆแล้วก็เหมือนกับคอร์ดนั่นเอง แต่ว่าคำว่าคอร์ดนั้นอาจะมีโน้ตมากกว่า 3 ตัวก็ได้ ดังนั้นคอร์ดที่มีโน้ตแค่ 3 ตัวเราก็จะเรียกมันว่าทรัยแอดค่ะ

ทรัยแอดจะมีทั้งหมด 4 แบบด้วยกันได้แก่ Major Minor Diminish และ Augmented โดยเราจะมีสูตรการหาดังนี้ค่ะ

สมมุติว่าเราจะหาทรัยแอดของคีย์ C Major เราก็จะสร้างสเกล C Major ขึ้นมาค่ะ จากตัวอย่างเราจะมีตำแหน่งตัวเลขของโน้ตในสเกล ซึ่งเราจะเอาโน้ตที่ตรงกับเลขเหล่านั้นมาแทนในสูตร ใน major ทรัยแอด เราจะใช้สูตร 1-3-5 เราก็จะเอาโน้ตที่อยู่ในตำแหน่ง 1-3-5 มาแทนซึ่งได้แก่ C-E-G ในการหา Augmented เราก็จะใช้ 1-3-5# เราก็จะได้โน้ตเป็น C-E-G# ค่ะ

11. คอร์ด 7

คอร์ด 7 จะมีทั้งหมด 5 แบบด้วยกัน เพื่อนๆจะต้องรู้จักวิธีหาคอร์ด 7 ทั้ง 5 แบบนี้เราจะสร้างจากสเกลเช่นกัน สมมุติว่าเราต้องการหา 7 คอร์ดของคีย์ C เราจะมีวิธีหาโดยใช้การแทนสูตรดังนี้ค่ะ

ก่อนอื่นก็เอาสเกล C Major มาตั้งเพื่อที่จะได้รู้ตำแหน่งของโน้ตแต่ละตัวค่ะ

  • C D E F G A B
  • 1 2 3 4 5 6 7

จากนั้นก็เทียบสูตรของ 7 ทั้ง 5 แบบดังนี้ค่ะ

  • Major 7 = 1-3-5-7 = C E G B
  • Dominant 7 = 1-3-5-7b = C E G Bb
  • minor 7 = 1-3b-5-7b = C Eb G Bb
  • half diminish 7 = 1-3b-5b7b = C Eb Gb Bb
  • diminish 7 = 1-3b-5b-7bb = C Eb Gb Bbb

หากเพื่อนๆต้องการรายละเอียดและวิธีจำสูตรการหาคอร์ด 7 ทั้ง 5 แบบนี้สามารถคลิกอ่านได้ที่บทความ เคล็ดลับจำคอร์ด 7 ทั้ง 5 แบบ

12. การย้ายบันไดเสียง (Transposition)

การย้ายบันไดเสียงคือการเล่นทำนองเดิมแต่เปลี่ยนไปเล่นในคีย์อื่นที่สูงขึ้นหรือต่ำลง สมมุติว่าเราเล่นเพลงในคีย์ C อยู่ แต่เราต้องการเล่นในคีย์ G major เราก็จะต้องเปลี่ยนโน้ตที่จะเล่นโดยย้ายไปตำแหน่ง G Major scale แทน ยกตัวอย่างง่ายๆดังนี้ค่ะ

สมมุติว่าเรามีโน้ตเพลงในคีย์ C Major ก่อนอื่นเราก็ต้องหาตำแหน่งของโน้ตที่เราเล่นว่าเป็นตัวที่เท่าไหร่ในสเกล ดูตัวอย่างประกอบด้านล่างนะคะ เพื่อนๆจะเห็นที่ครูเขียนว่าโน้ตเพลงดั้งเดิม ครูจะมีตัวเลขกำกับโน้ตทุกตัว ซึ่งตัวเลขนี้จะเป็นตัวระบุว่าโน้ตที่เราเล่นนั้นเป็นตัวที่เท่าไหร่ของสเกล เช่น C คือเลข 1, D คือเลข 2, E คือ 3 จากนั้นเราก็เอาตัวเลขเหล่านี้มาแทนในตำแหน่งของคีย์ G Major เลข 1 คือ G เลข 2 คือ A เลข 3 คือ B เมื่อเราได้ตัวโน้ตทุกตัวแล้วก็เอามาใส่จังหวะให้เหมือนกัน เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จค่ะ

มีข้อควรระวังเล็กน้อยในการ Transpose เพลงก็คือ ในคีย์ที่เราจะ Transpose ไปนั้นเพื่อนๆจะต้องดูว่าคีย์นั้นติดชาร์ปแฟลทกี่ตัว อย่างเช่นในคีย์ G Major นั้นจะติดชาร์ปตัวที่ 7 คือตัว F# หากเรา Transpose ไปหาโน้ตตัวที่ 7 ก็จะต้องติดชาร์ปด้วยค่ะ

13. คำศัพท์ดนตรี (Musical Term)

เวลาที่เราเล่นดนตรีนั้น หากผู้ประพันธ์ต้องการสื่อสารกับเราว่าเราควรเล่นเพลงนั้นๆอย่างไร เขาจะใช้ภาษาทางดนตรีส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอิตาเลียนบางครั้งอาจมีภาษาฝรั่งเศสบ้างหากเราเล่นเพลงของผู้ประพันธ์ชาวฝรั่งเศส คำศัพท์เหล่านั้นก็เช่นคำว่า

  • Adagio – ช้ามาก
  • Allegro – เร็ว สนุกสนาน
  • Andante – เร็วปานกลางเหมือนเดินเล่น
  • Crescendo – ค่อยๆดังขึ้น
  • Diminuendo – ค่อยๆเบาลง
  • Ritardando – ค่อยๆช้าลง

่ยังมีคำศัพท์ทางดนตรีอีกมากมายที่เพื่อนๆจะต้องจำเพื่อนำไปใช้ในการสอบเข้า ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดนอกจากจะท่องจำแล้ว เวลาที่เราเล่นดนตรี หากเราเห็นเครื่องหมายเหล่านี้เพื่อนๆก็ควรพยายามแปลทุกตัว นอกจากจะช่วยให้เราจำคำศัพท์ได้แม่นยำแล้ว ยังช่วยให้เราเล่นดนตรีด้วยความเข้าใจมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

14. วิเคราะห์บทเพลง (Analysis)

การวิเคราะห์บทเพลงนั้นก็เหมือนกับการนำทฤษฎีดนตรีที่เราเรียนมาไปใช้นั่นเองค่ะ เมื่อเราคล่องในทฤษฎีพื้นฐานแล้วเราก็จะเริ่มดูบทเพลงสั้นๆว่าแต่ละเพลงนั้นมีวิธีการประพันธ์อย่างไรบ้าง ในการวิเคราะห์บทเพลงนั้น สำหรับการสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัย สิ่งที่จะต้องทำก็คือเพื่อนๆจะต้องดูว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่อยู่ในคีย์อะไร มี Time Signature เป็นอะไร เป็นแบบ simple time หรือ compound time มีการใช้คอร์ดอะไรในเพลงบ้าง ประมาณนี้ค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับการเตรียมตัวในการสอบเข้าเรียนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยอาจจะง่ายหรือยากกว่าที่ครูกล่าวมาเล็กน้อย หลังจากที่ครูเขียนจนจบบทความ ครูก็คิดว่าการสอบนั้นมีรายละเอียดเยอะอยู่พอสมควรเลยทีเดียว เพื่อนๆก็ควรเตรียมตัวกันไว้เนิ่นๆ จะได้เรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไปค่ะ จริงๆแล้ววิธีเรียนทฤษฎีดนตรีที่ดีที่สุดก็คือ เวลาที่เราเรียนการเล่นเครื่องดนตรีกับครู หรือที่เราเรียกกันว่าเรียนไพรเวทส่วนตัว เราก็สามารถขอให้ครูแทรกเรื่องทฤษฎีไปด้วยทุกสัปดาห์ก็จะได้ผลดีที่สุดค่ะ


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *