ซ้อมดนตรีอย่างไรให้เก่งเร็ว- ฝึกเล่นดนตรีด้วยตัวเองต้องอ่าน!

โดยทั่วๆไปแล้วนักเรียนส่วนมากจะซ้อมดนตรีไม่ถูกต้องซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาในการซ้อมมากขึ้นและไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยหงุดหงิดที่เล่นเพลงไม่คล่องสักที วันนี้ครูมีเทคนิคดีๆมาฝากกัน จริงๆแล้วถือว่าเป็นกฏเหล็กในการซ้อมเลยทีเดียวก็ว่าได้ ถ้าทำตามนี้รับรองว่าเล่นเพลงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมแน่นอนค่ะ

วิธีซ้อมดนตรีให้เก่งเร็วมี 9 เทคนิคคือ 1. ตั้งตารางการซ้อมให้ได้ทุกวัน 2. วอร์มด้วยแบบฝึกหัด 3. เขียนนิ้วลงไป 4. แบ่งเพลงซ้อมเป็นท่อนๆ 5. เริ่มซ้อมจากช้าๆ 6. ใช้ปากกาขีดเขียน 7. ค้นคว้าหรือสอบถามวิธีซ้อมในท่อนที่เล่นไม่ได้ 8.ใช้เมโทรโนมในการซ้อม 9. บันทึกเสียงเวลาซ้อม

พอรู้หัวข้อคร่าวๆในการซ้อมแล้วเดี๋ยวเรามาลองดูรายละเอียดกันว่าเราจะทำอย่างไรให้การซ้อมของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเล่นเปียโนป๊อบ ครูมีคอร์สสอนเปียโนที่จะทำให้เพื่อนๆสามารถเล่นเปียโนได้ภายใน 10 วัน ซึ่งจะเหมาะกับเพื่อนๆจะไม่เคยเล่นเปียโนมาก่อนหรือเพื่อนๆที่เคยเรียนเปียโนมาบ้างแล้วแต่ไม่เคยเล่นเพลงป๊อบจากการอ่านคอร์ด ในคอร์สนี้จะเน้นการเล่นเพลงป๊อบและการนำความรู้ที่เรียนไปเล่นกับเพลงป๊อบเพลงอื่นๆ เรียนคอร์สเดียวจะสามารถเล่นเพลงได้เป็นพันๆเพลง หากสนใจสามารถคลิกดูรายละเอียดคอร์สได้ ที่นี่ ค่ะ

ตั้งตารางการซ้อมให้ได้ทุกวัน

การซ้อมดนตรีอย่างสม่ำเสมอนั้นมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากเวลาที่เราทำอะไรซ้ำๆโดยเฉพาะการออกกำลังกายหรือซ้อมดนตรี สมองกับกล้ามเนื้อจะทำงานร่วมกันทำให้เกิดความจำกล้ามเนื้อขึ้นมาซึ่งเราเรียกว่า Muscle memory ความจำกล้ามเนื้อนี้จะทำให้เราสามารถทำกิจกรรมเดิมๆได้โดยอัตโนมัติ แปลว่าเราไม่ต้องคิดว่าเราจะเล่นอย่างไรแต่ว่ามือมันไปเองนั่นแหละค่ะ ครูเคยซ้อมเปียโนวันละหลายช.ม. แต่ไม่ได้ซ้อมติดต่อกันทุกวันเนื่องจากไม่มีเวลา ผลคือครูเล่นพอได้ในวันที่ซ้อมหลาย ช.ม. แต่ถัดจากนั้นอีก 2-3 วันก็ลืมหมด ที่เป็นแบบนี้เพราะว่าสมองยังไม่ได้สร้างความจำกล้ามเนื้อขึ้นมาเนื่องจากไม่มีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ซ้อมน้อยๆแต่ทุกวันดีกว่าซ้อมเยอะๆแต่นานๆครั้งค่ะ

วอร์มด้วยแบบฝึกหัด

แบบฝึกหัดฝึกเทคนิคนั้นมีความจำเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะวอร์มเรื่องนิ้ว ลมหายใจ ระดับเสียง ความแข็งแรงของเสียง และอื่นๆอีกมากมาย ครูจะยกตัวอย่างหนึ่งในการวอร์มนิ้วของเปียโนนะคะ สเกลถือเป็นแบบฝึกหัดสำหรับวอร์มนิ้วอย่างหนึ่งที่นักเรียนเปียโนควรเล่น หลังจากที่เราฝึกสเกลจนคล่องและซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เวลาที่เราไปเจอเพลงเช่นเพลง Sonata ที่มีการใช้สเกลเยอะๆเราสามารถเล่นได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องนำมาแยกฝึกต่างหากเลย เนื่องจากเราได้ฝึกเรื่องนี้มาเป็นร้อยๆครั้งแล้วนั่นเอง หรือถ้าเรามีการฝึกแบบฝึกหัดเรื่องคอร์ดมาจนคล่อง เวลาที่เราเล่นเพลงป๊อบเราสามารถเล่นคอร์ดนั้นๆได้ทันที และยังทำให้เราสามารถใส่ลูกเล่นต่างๆได้ลื่นไหลรวมถึงการ voicing การ improvise ก็จะทำให้ง่ายขึ้นเยอะค่ะ

เขียนนิ้วลงไปหรือมาร์กลมหายใจ

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก การเล่นดนตรีโดยที่เราไม่แน่ใจว่าเราจะใช้นิ้วไหนในท่อนไหน เราจึงเล่นแต่ละครั้งโดยใช้นิ้วที่ไม่เหมือนเดิมซึ่งส่งผลให้ซ้อมได้ไม่คล่องสักทีเพราะสมองไม่ได้สร้างความจำกล้ามเนื้อขึ้นมา ดังนั้นก่อนเล่นเราจึงควรหานิ้วที่ถูกต้องทั้งเพลง ลองเล่นทั้งเพลงดูว่านิ้วที่อยู่บนโน้ตเหมาะกับนิ้วเราหรือไม่ ถ้าเกิดเราเล่นได้สบายก็ไม่ต้องแก้ แต่ถ้าท่อนไหนที่เราคิดว่านิ้วไม่เหมาะกับเรา ก็แก้ไขลงไป และซ้อมด้วยนิ้วใหม่นี้ทุกครั้ง การมาร์กลมหายใจในการร้องเพลงก็เช่นกัน เราควรมาร์กทั้งเพลงเราจะได้ฝึกร้องได้เหมือนกันทุกครั้งค่ะ

แบ่งเพลงซ้อมเป็นท่อนๆ

การซ้อมที่ถูกต้องจะต้องเจาะซ้อม หมายความว่าเราจะซ้อมเฉพาะตรงที่เราเล่นไม่ได้ ดังนั้นครูจึงแนะนำให้นักเรียนแบ่งเพลงเป็นท่อนๆ ถ้าเพลงสั้นอาจจะแบ่งเป็น 4 ท่อน เพลงยาวๆอาจแบ่งได้ถึง 20 ท่อน หลังจากเราแบ่งเพลงแล้วก็เริ่มซ้อมทีละท่อน สมมุติเราแบ่งเป็น A B C D วันจันทร์เริ่มซ้อมจากท่อน A จนคล่อง วันอังคารทวนท่อน A สัก 2 – 3 รอบ และฝึกเล่นท่อน B เป็นหลัก วันพุธซ้อมรวมท่อน A และ B วันพฤหัส ซ้อมท่อน C ซ้อมประมาณแบบนี้นะคะ หลังจากที่ซ้อมได้ทุกท่อนจนคล่องก็รวมเล่นทั้งเพลงค่ะ อย่างนี้เราก็จะเล่นเพลงได้คล่องทั้งเพลงและสามารถเก็บรายละเอียดของเพลงได้ดีด้วยค่ะ

เริ่มซ้อมจากช้าๆ

การเล่นเร็วได้ในบางท่อนแต่ไม่ตลอดเพลงฟังดูไม่ดีเลยค่ะ เราไม่ควรเปลี่ยนจังหวะทั้งเพลงเพราะคนแต่งเพลงเค้ามีคอนเซ็ปท์ที่เค้าคิดเอาไว้ว่าเพลงควรจะเป็นอย่างไรแต่เราเอามาเล่นซะเละเลย แบบนี้ต้องแก้ไขค่ะ สิ่งที่เราต้องทำคือ มาดูกันว่าท่อนไหนที่เราเล่นไม่ได้ เราต้องเริ่มซ้อมแบบช้าๆก่อน เอาช้าแบบที่ว่าเราสามารถเล่นจังหวะเท่ากันได้ทั้งท่อน เล่นได้ในที่นี้หมายถึงเล่นโดยเก็บรายละเอียดของเพลงได้ทุกเม็ดเลยนะคะ หลังจากที่เราแน่ใจว่าเราเล่นได้แล้วก็ค่อยๆเพิ่มความเร็วขึ้นวันละนิดค่ะ และเพิ่มความเร็วขึ้นจนถึงที่คนแต่งเค้ากำหนดไว้ ซ้อมช้าๆแบบนี้จะทำให้เราเก็บรายละเอียดเพลงได้ดีขึ้นและเพราะมากขึ้นค่ะ

ใช้ปากกาขีดเขียน

เวลาเราเรียนดนตรีเราไม่ต้องกลัวว่าโน้ตดนตรีจะเปรอะเปื้อน ถ้าตรงไหนเล่นไม่ได้ให้เอาปากกามาวง หรือตรงไหนเรามีไอเดียว่าเราจะเล่นอย่างไรเพื่อเพิ่มสีสันให้กับบทเพลงก็เอาปากกามาเขียนเลยค่ะ ตรงไหนที่เล่นผิดตลอดก็อาจใช้สีแดงไปเลยจะได้เห็นชัดๆครั้งหน้าจะได้ไม่เล่นผิดอีก ตอนที่ครูสอนโน้ตของนักเรียนทุกคนจะเต็มไปด้วยปากกาหลากสีและรวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆทั้งดาว ทั้งสามเหลี่ยม เทคนิคการใช้สีสันที่ต่างตันก็ช่วยให้เห็นข้อผิดพลาดได้ชัดขึ้น ยังไงก็ลองเอาไปใช้กันดูนะคะ

ค้นคว้าและหาวิธีซ้อมในท่อนที่เล่นไม่ได้

เวลาที่เราเล่นท่อนเดิมๆซ้ำๆหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ยังเล่นไม่ได้นั้น แสดงว่าเราซ้อมไม่ถูกค่ะ เราอาจจะไม่รู้วิธีซ้อมตรงเทคนิคยากๆของท่อนนั้น เราไม่ควรฝืนซ้อมต่อไปเพราะจะทำให้เราเสียเวลาค่ะ วิธีที่จะช่วยได้คือ ถามครูผู้สอนว่าจะฝึกท่อนนี้อย่างไรหรือเราสามารถค้นคว้าเองได้จากยูทูปว่ามีใครสอนเพลงนี้หรือไม่ แล้วท่อนที่เราติดเค้าสอนวิธีซ้อมอย่างไร การซ้อมที่ถูกต้องนั้นช่วยประหยัดเวลาได้มากเลย ตอนครูเรียนเปียโนระดับมหาวิทยาลัย มีอยู่เพลงหนึ่งครูซ้อมมาหลายสัปดาห์แล้วแต่ก็ยังเล่นได้ไม่ดี วันหนึ่งครูมีมาสเตอร์คลาสและได้เรียนกับอาจารย์จากรัสเซียท่านหนึ่ง เค้าสอนครูแค่ 15 นาที ครูเล่นท่อนนั้นได้ทันที ดังนั้นถ้าเราคิดว่าเราซ้อมมากพอแล้วแต่ก็ไม่เห็นผลลัพธ์สักที เราก็ควรจะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญค่ะ

ใช้เมโทรโนมในการซ้อม

การใช้เมโทรโนม (เครื่องเคาะจังหวะ) จะช่วยให้เราสามารถคุมจังหวะเพลงของเราได้ดีมากขึ้น บางครั้งในท่อนที่เราเล่นคล่องเราอาจจะเล่นเร็วมากโดยที่เราไม่รู้ตัว ในท่อนที่ยากเราอาจจะลดความเร็วลงโดยที่เราไม่รู้ตัวเช่นกัน การเล่นจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอเช่นนี้ทำให้เพลงของเราฟังไม่ดีและยิ่งถ้าเราเล่นกับคนอื่นเป็นวงก็จะทำให้เพื่อนร่วมวงเล่นยากมากขึ้น ดังนั้นจึงควรฝึกใช้เมโทรโนม โดยฝึกช้าๆและเพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อยๆจนเราสามารถเล่นทั้งเพลงได้ในจังหวะเดียวกันค่ะ

บันทึกเสียงเวลาซ้อม

การบันทึกเสียงเวลาซ้อมช่วยให้เราเห็นจุดด้อยของเพลงที่เราเล่น เวลาที่เราเล่นนั้นเราให้ความสนใจกับสิ่งที่เราเล่นไม่ว่าจะเป็นโน้ต คอร์ด หรือเนื้อร้อง ทำให้เราอาจไม่ได้รายละเอียดยินหลายๆอย่าง การอัดเสียงทำให้เราได้ยินว่าเราเล่นได้ดีแล้วหรือยัง เราเล่นตรงท่อนนี้ไม่เนียน หรือตรงนี้เสียงกระด้างเกินไป หลังจากเราได้ฟังจากที่เราอัดแล้วเราก็จะได้นำไปแก้ไขข้อบกพร่องทั้งหลายและก็ทำให้เราเล่นได้ดีขึ้นค่ะ

เอาล่ะค่ะ ถ้าใครที่กำลังมีปัญหาในการซ้อมดนตรีก็ลองเอาเทคนิคทั้ง 9 ข้อนี้ไปปรับใช้ อาจจะดูเหมือนยุ่งยากแต่ถ้าทำให้ถูกตั้งแต่ต้นก็จะทำให้เราซ้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ