จังหวะ 3/4 กับ 6/8 ต่างกันอย่างไร

เครื่องหมายกำหนดจังหวะ (time signature) ที่อยู่ด้านซ้ายสุดถัดจากกุญแจบนบรรทัด 5 เส้นนั้นมีความสำคัญมากๆ หากเราตีความผิดเราก็จะเล่นเพลงนั้นผิดไปเลย วันนี้ครูจะมาอธิบายกันให้เข้าใจว่าเครื่องหมายกำหนดจังหวะนั้นมีความสำคัญอย่างไร และมีกี่แบบกันบ้างค่ะ

จังหวะ 2/4, 3/4, 4/4 เป็นจังหวะที่เรียกว่า simple time ส่วนจังหวะ 3/8, 6/8, 9/8, 12/8 เป็นจังหวะแบบ compound time จังหวะแบบ simple time (จังหวะที่เป็นส่วน 4) ตัวดำจะเท่ากับ 1 จังหวะ จังหวะแบบ compound time (จังหวะที่เป็นส่วน8) ตัวเขบ็จ 1 ชั้นจะเท่ากับ 1 จังหวะ ตัวดำจะเท่ากับ 2 จังหวะ ดังนั้นในจังหวะ 3/4 จะมีตัวดำ 3 ตัวใน 1 ห้อง ส่วน 6/8 จะมีตัวเขบ็จ 1 ชั้น 6 ตัวใน 1 ห้อง

เดี๋ยวครูจะมาอธิบายตัวเลขด้านบนและด้านล่างอย่างละเอียดเพื่อนๆจะได้เข้าใจกันมากขึ้นนะคะ

ตัวเลขด้านล่าง

ตัวเลขด้านล่างนั้นมีความสำคัญมากเพราะจะเป็นตัวบอกค่าของโน้ต สิ่งที่เราเคยเรียนมาว่าตัวดำเท่ากับ 1 จังหวะนั้นเป็นแค่จังหวะพื้นฐานเท่านั้น เพราะค่าของตัวโน้ตนั้นจะไม่ตายตัว แต่จะผกผันไปตามตัวเลขด้านล่างของ time signature

ตัวเลขด้านล่างนั้นสำหรับจังหวะแบบ simple time เช่น 3/4 เลขด้านล่างจะเป็นเลข 4 ตัวเลขด้านล่างนี้จะเป็นตัวบอกค่าของจังหวะค่ะ ซึ่งเลข 4 ในที่นี้จะหมายถึง ตัวดำเท่ากับ 1 จังหวะ จังหวะแบบ compound time เช่น 6/8 เลขด้านล่างที่เป็นเลข 8 หมายความว่า เขบ็จ 1 ชั้นเท่ากับ 1 จังหวะ ส่วนจังหวะแบบ cut time เช่น 2/2 ตัวเลขด้านล่างซึ่งเป็นเลข 2 นั้นจะหมายความว่า ตัวขาวเท่ากับ 1 จังหวะ ดูตัวอย่างประกอบได้จากด้านล่างค่ะ

ตัวเลขด้านบน

ตัวเลขด้านบนจะเป็นตัวบอกว่าใน 1 ห้องมีทั้งหมดกี่จังหวะ ถ้าหาก Time signature ระบุว่า 2/4 ก็จะหมายความว่า ในห้องหนึ่งจะมี 2 จังหวะ , 3/4 หมายความว่าใน 1 ห้องจะมี 3 จังหวะ , 6/8 หมายความว่าใน 1 ห้องมี 6 จังหวะ, 12/8 หมายความว่าใน 1 ห้องมี 12 จังหวะ

1.จังหวะแบบ simple time : 2/4, 3/4, 4/4

ก่อนอื่นเลยเราจะมาดูจังหวะแบบ simple time กันก่อนนะคะ คำว่า simple นั้นหมายความว่า “เรียบง่าย” ซึ่งจังหวะประเภทนี้ก็เลยจะเป็นจังหวะที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ตามที่เราได้เรียนกันมาแล้วว่า โน้ตตัวดำเท่ากับ 1 จังหวะ ตัวขาว 2 จังหวะ ตัวกลม 4 จังหวะ ตัวเขบ็จหนึ่งชั้น 1/2 จังหวะ เราจะคงคอนเซ็ปท์ของจังหวะไว้อย่างนั้น หากเพื่อนๆที่ยังไม่มีความรู้เรื่องจังหวะพื้นฐาน คลิกอ่านบทความ จังหวะดนตรีพื้นฐาน ก่อนนะคะ สำหรับเพื่อนๆที่คล่องแล้วเราจะไปต่อกันเลยค่ะ

จังหวะ 2/4 – เลข 2 ด้านบนหมายความว่าใน 1 ห้องจะมี 2 จังหวะ เลข 4 ด้านล่างหมายความว่า เราจะใช้ค่าของโน้ตตัวดำเท่ากับ 1 จังหวะ

จังหวะ 3/4 – เลข 3 ด้านบนหมายความว่าใน 1 ห้องจะมี 3 จังหวะ เลข 4 ด้านล่างหมายความว่า เราจะใช้ค่าของโน้ตตัวดำเท่ากับ 1 จังหวะ

จังหวะ 4/4 – เลข 4 ด้านบนหมายความว่าใน 1 ห้องจะมี 4 จังหวะ เลข 4 ด้านล่างหมายความว่าเราจะใช้ค่าของโน้ตตัวดำเท่ากับ 1 จังหวะ

2.จังหวะแบบ compound time : 3/8, 6/8, 9/8, 12/8

สำหรับจังหวะแบบ compound time นั้น ค่าของตัวโน้ตจะไม่เท่ากับแบบ simple time สิ่งที่เราได้เคยเรียนมาตลอดว่า ตัวดำเท่ากับ 1 จังหวะนั้น บัดนี้มันจะไม่เป็นความจริงอีกต่อไปค่ะ เพราะถ้าเพื่อนๆเห็น time signature ที่เลขด้านล่างเป็นเลข 8 ตัวดำจะมีค่าเท่ากับ 2 จังหวะ ส่วนตัวเขบ็จ 1 ชั้นจะมีค่าเท่ากับ 1 จังหวะค่ะ

ถ้าเราเห็นจังหวะที่เลขตัวล่างเป็นเลข 8 เราจะต้องเพิ่มค่าโน้ตทุกตัวเท่าหนึ่ง คือ ตัวกลมจะเท่ากับ 8 จังหวะ ตัวขาวประจุด 6 จังหวะ ตัวขาว 4 จังหวะ ตัวดำ 2 จังหวะ ตัวเขบ็จ 1 ชั้น 1 จังหวะ และตัวเขบ็จสองชั้น 1/2 จังหวะ

จังหวะ 3/8 – เลข 3 ด้านบนหมายความว่าใน 1 ห้องจะมี 3 จังหวะ เลข 8 ด้านล่างหมายความว่าเราจะใช้ค่าของโน้ตตัวเขบ็จ 1 ชั้นเท่ากับ 1 จังหวะ

จังหวะ 6/8 – เลข 6 ด้านบนหมายความว่าใน 1 ห้องจะมี 6 จังหวะ เลข 8 ด้านล่างหมายความว่าเราจะใช้ค่าของโน้ตตัวเขบ็จ 1 ชั้นเท่ากับ 1 จังหวะ

จังหวะ 9/8 – เลข 9 ด้านบนหมายความว่าใน 1 ห้องจะมี 9 จังหวะ เลข 8 ด้านล่างหมายความว่าเราจะใช้ค่าของโน้ตตัวเขบ็จ 1 ชั้นเท่ากับ 1 จังหวะ

จังหวะ 12/8 – เลข 12 ด้านบนหมายความว่าใน 1 ห้องจะมี 12 จังหวะ เลข 8 ด้านล่างหมายความว่าเราจะใช้ค่าของโน้ตตัวเขบ็จ 1 ชั้นเท่ากับ 1 จังหวะ

การจับกลุ่มของจังหวะแบบ compound time

จังหวะแบบ compound time นั้นจะมีการจัดจังหวะเป็นกลุ่มใหญ่ โดยในแต่ละกลุ่มจะมี 3 จังหวะย่อย ดูตัวอย่างประกอบ

จังหวะแบบ 3/8 จะมี 1 กลุ่มใหญ่ เราสามารถนับได้ 2 แบบคือ 1-2-3และ 1&&

จังหวะแบบ 6/8 จะมี 2 กลุ่มใหญ่ เราสามารถนับได้ 2 แบบคือ 1-2-3-4-5-6 และ 1&& 2&&

จังหวะแบบ 9/8 จะมี 3 กลุ่มใหญ่ เราสามารถนับได้ 2 แบบคือ 1-2-3-4-5-6-7-8-9 และ 1&& 2&& 3&&

จังหวะแบบ 12/8 จะมี 3 กลุ่มใหญ่ เราสามารถนับได้ 2 แบบคือ 1-2-3-4-5-6-7-8-9-10-11-12 และ 1&& 2&& 3&& 4&&

ตัวอย่างของโน้ตที่ใช้บ่อยในจังหวะแบบ compound time

จากตัวอย่างด้านล่างนี้ จะเป็นจังหวะที่ใช้บ่อยในจังหวะแบบ compound time โดยจังหวะในแต่ละห้องนั้นจะเท่ากับ 3 จังหวะ

3. จังหวะแบบ Cut time : 2/2, 3/2, 4/2

จังหวะแบบ cut time นั้น ตัวขาวจะเท่ากับ 1 จังหวะ ตัวดำจะเท่ากับ 1/2 จังหวะ ตัวเขบ็จ 1 ชั้นจะเท่ากับ 1/4 จังหวะ และตัวกลมจะเท่ากับ 2 จังหวะ พูดง่ายๆเลยคือค่าของจังหวะจะน้อยลง 1 เท่าตัว

จังหวะ 2/2 – เลข 2 ด้านบนหมายความว่าใน 1 ห้องจะมี 2 จังหวะ เลข 2 ด้านล่างหมายความว่า เราจะใช้ค่าของโน้ตตัวขาวเท่ากับ 1 จังหวะ

จังหวะ 3/2 – เลข 3 ด้านบนหมายความว่าใน 1 ห้องจะมี 3 จังหวะ เลข 2 ด้านล่างหมายความว่า เราจะใช้ค่าของโน้ตตัวขาวเท่ากับ 1 จังหวะ

จังหวะ 4/2 – เลข 4 ด้านบนหมายความว่าใน 1 ห้องจะมี 4 จังหวะ เลข 2 ด้านล่างหมายความว่า เราจะใช้ค่าของโน้ตตัวขาวเท่ากับ 1 จังหวะ

นี่ก็เป็น time signature ที่เราใช้ในการเล่นเพลงต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วเพลงป๊อบจะใช้แบบ simple time และ compound time เท่านั้นเราจะไม่ค่อยเห็นแบบ cut time สักเท่าไหร่ แต่ในเพลงคลาสสิคนั้นเราก็อาจจะเจอแบบ cut time กันได้แต่ก็ไม่บ่อยเช่นกัน ยังมี time signature ที่ครูไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้เพราะเราจะไม่ได้เจอกันบ่อยนัก เช่น 5/8, 7/8, 6/4 เป็นต้น ซึ่ง time signature เหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในเพลงคลาสสิคสมัยใหม่ ซึ่งเราจะเจอกันน้อยมากๆ หวังว่าเพื่อนๆจะได้ความรู้ในเรื่องของ time signature กันไปพอสมควร พบกันใหม่กับบทความฉบับหน้าค่ะ