เริ่มแต่งเพลงต้องทำอย่างไร – สอนแต่งเพลงเบื้องต้น

สำหรับนักดนตรีมือใหม่ที่ตอนนี้เริ่มอยากจะมีเพลงเป็นของตัวเองแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร วันนี้ครูมีสูตรการแต่งเพลงง่ายๆที่ทุกคนสามารถทำได้แน่นอน ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยค่ะ

วิธีการแต่งเพลงมีทั้งหมด 3 ขั้นตอน โดยเริ่มจากการหาทางคอร์ด จากนั้นจึงใส่ทำนองเพลง โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือการด้นสด (Improvise) เมื่อได้คอร์ดและทำนองเพลงแล้วก็ถึงขั้นตอนการใส่เนื้อร้อง วิธีใส่เนื้อร้องที่ง่ายที่สุดคือให้พล็อตเรื่องก่อนว่าเราจะพูดเกี่ยวกับเรื่องอะไร ในตอนต้นควรค่อยๆเกริ่นเรื่อง และเก็บจุดที่สำคัญที่สุดไว้ตอนกลางเพลงก็จะทำให้เพลงน่าสนใจขึ้น เมื่อได้องค์ประกอบทั้ง 3 แล้วก็สามารถเพิ่มเครื่องดนตรีได้ตามที่ต้องการ

การเริ่มต้นแต่งเพลงนั้นไม่มีวิธีที่ตายตัว เราอาจจะเริ่มด้วยการแต่งเนื้อร้องก่อนแล้วค่อยใส่ทำนองหรืออาจจะเริ่มจากแต่งทำนองก่อนและใส่เนื้อร้องทีหลัง ทั้งนี้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนนะคะ สำหรับบทความนี้ครูจะเริ่มที่การแต่งทำนองและใส่เนื้อร้องทีหลัง พร้อมแล้วเราก็ไปดูกันเลยว่าเราจะมีขั้นตอนการแต่งเพลงอย่างไร

การเลือกคีย์และการหาทางคอร์ดในการแต่งเพลง

โดยทั่วๆไปนั้นคีย์ที่ง่ายที่สุดในการแต่งเพลงคือคีย์ C เนื่องจากเล่นง่ายและไม่ติดชาร์ปแฟลทในการเล่น แต่ถ้าใครอยากร้องเพลงที่แต่งเองอาจจะต้องมีการใช้คีย์อื่นๆเพราะบางทีอาจจะร้องไม่ถึง หรือบางทีอาจจะต่ำเกินไป

สำหรับวันนี้ครูจะสอนโดยเริ่มจากคีย์ C ก่อน ทางคอร์ดก็จะมีอยู่ 4-5 แบบ แต่แบบที่ใช้บ่อยสุดก็จะเป็นทางคอร์ด 1 – 5 – 6 – 4 ในคีย์ C ก็จะมีคอร์ด C – G – Am – F ซึ่งถ้าหากใครต้องการแต่งเพลงในคีย์อื่นครูจะยกตัวอย่างให้ 3-4 คีย์ได้แก่

key A = A – E – F#m – D

key G = G – D – Em – C

key F = F – C – Dm – Bb

key Bb= Bb- F – Gm- Eb

สำหรับคีย์ C ที่มีคอร์ด C – G – Am -F เราก็กดตามตัวอย่างข้างล่างนี้เลยค่ะ จะกดแบบไหน คอร์ดละกี่จังหวะก็เลือกได้ตามใจชอบเลย หรือจะแตกโน้ตเป็นตัวๆ (broken chord) ก็ได้ค่ะ

การกดคอร์ดกีตาร์คีย์ C Major
การกดคอร์ดเปียโนคีย์ C Major

พอเราได้ทางคอร์ดแล้วเราก็จะมาแพลนว่าจะใช้คอร์ดละกี่จังหวะหรือกี่ห้องดี และจะใช้ Time signature อะไรดี และจะแบ่งท่อนอย่างไร เราไปดูกันว่ามีการแบ่งท่อนเพลงป๊อบอย่างไรบ้าง

เพลงป๊อบแบ่งได้เป็นกี่ท่อน อะไรบ้าง

เพลงป๊อบส่วนใหญ่จะมีท่อนหลักๆอยู่ 3 ท่อนได้แก่ verse Bridge Chorus ซึ่งจะมีการนำทั้ง 3 ท่อนนี้มาใช้ซ้ำไปมาหลายครั้งและจะมีส่วนของดนตรีมาคั่น ดังนี้

Intro – 4 ห้อง (ช่วงของดนตรีก่อนเริ่มบทเพลง)

Verse 1 – 8 ห้อง (ท่อนที่เริ่มเนื้อเพลง จะเรียบๆไม่หวือหวา คล้ายกับการเล่าเรื่อง )

Bridge – 8 ห้อง (ท่อนที่เชื่อมระหว่าง Verse ไปเข้าท่อนฮุก (Chorus) บางครั้งจะมีการเปลี่ยนคีย์)

Chorus 1 – 8 ห้อง (เรียกอีกชื่อว่าท่อนฮุก ท่อนนี้จะเป็นท่อนพีคของเพลง)

Instrumental – 4 ห้อง (ช่วงของทำนองก่อนกลับไปท่อน Verse)

Verse 2 – 2-8 ห้อง (ท่อนนี้จะมีทำนองเหมือนกับ Verse 1 แต่จะเปลี่ยนเนื้อร้อง)ฺ

Bridge – 8 ห้อง (เล่นแบบเดิมกับท่อน Bridge อันแรก)

Chorus 2 -8 ห้อง (เล่นเหมือนกับ chorus 1)

Bridge – 8 ห้อง (เล่นเหมือนเดิม)

Chorus 3 – 8 ห้อง (เล่นเหมือนกับ chorus 1)

Chorus outro – 16 ห้อง (เล่นคล้ายกับ Chorus 1 แต่จะเปลี่ยนเล็กน้อยเพื่อนำไปสู่ท่อนจบ)

Outro fade – ท่อนบรรเลงดนตรีก่อนจบเพลง

การเลือก Time Signature เพื่อใช้ในการแต่งเพลง

Time signature เป็นตัวกำหนดว่าแต่ละห้องของเพลงนั้นมีกี่จังหวะ โดยทั่วไปเพลงป๊อบส่วนใหญ่จะมีจังหวะเป็น 4/4 หมายความว่าห้องหนึ่งจะมี 4 จังหวะ (ตัวดำเท่ากับ 1 จังหวะ) บางครั้งอาจจะเป็นแบบ 6/8 แปลว่า 1 ห้องมี 6 จังหวะ (ตัวเขบ็จ 1 ชั้นเท่ากับ 1 จังหวะ)

ทั้งสองแบบนี้ต่างกันตรงที่จังหวะแบบ 4/4 จะให้ความหนักแน่น จังหวะ 6/8 จะทำให้เพลงมีความรู้สึกเหมือนกับเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

เพลงที่ใช้จังหวะแบบ 6/8 เช่นเพลง Perfect ของ Ed Sheran หรือเพลงคู่ชีวิตของค็อคเทล

ตัวอย่าง

ถ้าเอาแบบง่ายๆก็ให้เริ่มจาก 4/4 ก่อนนะคะ ก็คือในหนึ่งห้องเราจะตีคอร์ดทั้งหมด 4 ที ในการเล่นเปียโนก็จะกดคอร์ด 4 ครั้ง เพื่อนๆสามารถเปลี่ยนวิธีการเล่นคอร์ดได้ในหลายๆสไตล์ อาจจะใช้ Broken Chord แทนการเล่น Block Chord ก็ได้

หลังจากเพื่อนๆได้ทางคอร์ด มีการวางแผนท่อนของเพลงและเลือก Time signature ได้แล้วตอนนี้เราก็จะมาอัดคอร์ดทั้งหมดกัน ที่ครูแนะนำให้อัดนั้นเพื่อที่ว่าเวลาเราใส่ทำนองก็จะได้ง่ายขึ้นเพราะเราจะไม่ต้องไปกังวลกับการเล่นคอร์ดนั่นเอง

วิธีการแต่งทำนองเพลงทำอย่างไร

การแต่งทำนองเพลงโดยการใช้โน้ตจากสเกล

วิธีการแต่งทำนองนั้นจะมีรายละเอียดค่อนข้างมากกว่าการหาทางคอร์ด ทำนองนั้นเราจะสร้างมาจากสเกลของคีย์นั้นๆ โดยเมื่อเราเลือกคอร์ดได้แล้วเราก็ต้องดูว่าเราเล่น key อะไร ในกรณีที่เราเลือกคีย์ C การแต่งทำนองก็จะง่ายเพราะสเกล C อย่างที่บอกจะไม่มีชาร์ปแฟลทเลย โน้ตในสเกล C ก็จะเป็น C D E F G A B

แต่ถ้าหากว่าเราเลือกคีย์อื่นสเกลของคีย์นั้นๆก็จะแตกต่างออกไปและจะต้องมีชาร์ปหรือแฟลทเพิ่ม ยกตัวให้ดูด้านล่างนี้นะคะ

key A = A – E – F#m – D สเกลที่ใช้คือ A B C# D E F# G# A
key G = G – D – Em – C สเกลที่ใช้คือ G A B C D E F# G
key F = F – C – Dm – Bb สเกลที่ใช้คือ F G A Bb C D E F
key Bb= Bb- F – Gm- Eb สเกลที่ใช้คือ Bb C D Eb F G A Bb

การเล่นคอร์ดกีตาร์ในคีย์ A Major
การเล่นคอร์ดเปียโนในคีย์ A Major

จากตัวอย่างข้างต้นเพื่อนๆจะเห็นว่าสเกลที่ใช้ของในแต่ละคีย์นั้น บางตัวจะติดชาร์ปหรือแฟลท เวลาที่เราเลือกทำนองที่จะเอามาใส่ในเพลง เราก็ต้องเลือกมาจากสเกลของคีย์ที่เราเลือกนั่นเอง

อย่างเช่นเราเลือกคีย์ A เมื่อเราวางคอร์ดแล้ว เราก็จะต้องเลือกทำนองจากโน้ต A B C# D E F# G# A มาใส่ในคอร์ดของเรา ครูถึงบอกว่าถ้าเราเพิ่งเริ่มแต่งเพลงควรเริ่มจากคีย์ C ก่อนจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องติดชาร์ปแฟลทที่โน้ตตัวไหน

สมมุติว่าเราเลือกคีย์ C นะคะ เราก็เอาโน้ตจากสเกล C Major ได้แก่ ตัว C D E F G A B มาใช้ในเพลง โดยมีจุดสำคัญนิดหน่อยคือ ในจังหวะที่ 2 และ 4 เราควรเลือกโน้ตจากในคอร์ดที่เราใช้ เช่น ในคอร์ด C จะประกอบไปด้วยโน้ตตัว C E G ในจังหวะที่ 2 และ 4 เราควรใช้โน้ตตัว C E หรือ G ส่วนในจังหวะอื่นนั้นจะใช้โน้ตอะไรก็ได้

สำหรับใครที่มือโปรแล้วไม่จำเป็นต้องทำตามนี้เพราะเราสามารถเลือกใช้โน้ตที่ไม่ได้อยู่ในคอร์ดนั้นๆได้ซึ่งมันก็จะมีวิธีที่ซับซ้อนกว่านี้ แต่ถ้าเก่งแล้วคงไม่ต้องมาอ่านวิธีการแต่งเพลงเบื้องต้นของครูเนอะ ดังนั้นเพื่อนๆที่เพิ่งเริ่มหัดแต่งเพลงก็ควรทำตามนี้นะ ตัวอย่างตามข้างล่างนี้นะคะ

จากตัวอย่างก็จะเห็นว่าในคอร์ด C ครูจะใช้โน้ตตัว C E หรือ G ลงในจังหวะที่ 2 และ 4 ส่วนในคอร์ด G ครูจะใช้โน้ตตัว G B หรือ D ลงในจังหวะที่ 2 หรือ 4 เช่นกัน

การใส่ทำนองจากการฮัมทำนองทำอย่างไร

วิธีนี้จัดเป็นวิธีที่ง่ายเพราะไม่ต้องเอาเรื่องของทฤษฎีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง วิธีการแต่งทำนองนั้นมีขั้นตอนดังนี้

เราสามารถอัดเสียงทางคอร์ดที่เราเลือกไว้ เราสามารถตีคอร์ด 4 ครั้งใน 1 ห้องหรือเราสามารถเล่นเปลี่ยนสไตล์การตีคอร์ดเป็นแบบอื่นที่เราชอบก็ได้ เราควรอัดให้ครบทุกห้องตามท่อนเพลงที่เราได้แพลนเอาไว้

หลังจากที่เราอัดเรียบร้อยแล้วเราก็เล่นเพลงที่เราอัดไว้ได้เลย ระหว่างนั้นก็ฮัมทำนองไปพร้อมๆกัน ระหว่างที่เราฮัมทำนองนั้นอย่าลืมอัดเสียงไปพร้อมๆกันด้วย เพราะว่าหลายครั้งเราได้ทำนองที่ดีแต่พอจบเพลงก็กลับลืมไปซะอย่างนั้น ถ้าเราอัดเอาไว้เราก็จะสามารถกลับมาฟังได้นั่นเอง

คราวนี้มาลองวิเคราะห์เพลงแต่ละท่อนกันดีกว่า ว่าลักษณะของทำนองเป็นอย่าไร ทำนองของเพลงในท่อน verse นั้นส่วนใหญ๋ระดับเสียงจะไม่กว้างมากนัก จะไล่โน้ตขึ้นลงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ผิดกับท่อนคอรัสหรือฮุก ระดับเสียงจะกว้างกว่าเพราะต้องการให้เพลงนั้นดูยิ่งใหญ่และโชว์พลังของคนร้อง

จังหวะของในท่อน verse ก็จะค่อนข้างละเอียดกว่า มีการใช้โน้ตเร็วๆอย่างเขบ็จ 1 ชั้น มีจังหวะที่น่าสนใจแบบมีการยกจังหวะบ่อยครั้งและลักษณะจะเหมือนกับการเล่าเรื่องหรือบ่นเป็นชุดๆ เนื้อหาค่อนข้างเยอะ ทีนี้ตอนท่อนฮุกเนี่ยก็จะตรงกันข้ามเลย ท่อนฮุกจะร้องโน้ตน้อยกว่าและก็ปล่อยจังหวะลากเสียงยาว เนื้อหาก็จะไม่ค่อยมีเรื่องราวมากนักเพราะเล่าไปเป็นชุดตั้งแต่แรกแล้วค่ะ

การแต่งเพลงในส่วนของเนื้อร้องทำอย่างไร

คราวนี้ก็มาถึงเนื้อร้องกันบ้างแล้ว เพลงจะดังหรือไม่ดังนั้นเนื้อร้องเป็นส่วนที่เรียกได้ว่าสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ มีหลายวิธีในการแต่งเนื้อร้อง ครูจะยกมา 2 ตัวอย่างนะคะ

แต่งเนื้อร้องโดยพล็อตเรื่องก่อน

โดยเราอาจจะเริ่มจากการพล็อตเรื่องคร่าวๆก่อนว่าเราอยากจะพูดเรื่องอะไร จะเอาเรื่องอกหัก หรือรักแบบมีความสุขก็ว่ากันไป หลังจากนั้นเราก็แพลนเรื่องคร่าวๆ สมมุติเราจะเอาเรื่องอกหัก เราก็เลือกว่าเอาอกหักแบบไหนอะ แบบยังไม่เคยคบกัน คบกันแล้วแล้วเลิกกัน ต่อมาก็สโคปให้แคบไปอีกว่าที่เลิกกันเนี่ยตกลงกันว่าจะเลิกเพราะไปด้วยกันไม่ได้หรือว่าโดนทิ้งอะ สมมุติว่าโดนทิ้ง เราก็เริ่มแบ่งเป็นท่อนๆเลย

ท่อน Verse

verse ก็เริ่มเกริ่นๆเรื่องกันก่อนเช่น เราคบกับเค้า เราก็เห็นแล้วว่าเวลาเค้ายิ้ม เค้าไม่เคยยิ้มแบบเต็มหัวใจ มันเหมือนมีอะไรบางอย่างในใจเขาเสมอ เราไม่เคยเข้าถึงเบื้องลึกในจิตใจของเธอเลย อะไรประมาณนี้

ท่อน Bridge

พอท่อน bridge ก็อาจจะทำให้เรื่องมันดำเนินไปข้างหน้านิดหน่อยเช่น และวันหนึ่งเธอก็เริ่มพูดออกมาว่าจริงๆแล้วคนที่เธอรักนั้นไม่ใช่เรา เธอไม่เคยลืมคนคนนั้นที่เธอเคยเคียงข้าง เธอรักเค้าคนนั้น เธอพยายามรักฉันแล้วแต่มันก็ทำไม่ได้

ท่อน Chorus

chorus ท่อนนี้ก็ทำยังไงอะ ลองคิดดูนะว่าผู้ชายเค้าสารภาพแล้วว่าเค้ารักแฟนเก่าอะ เราก็ยังไงอะ ร้องห่มร้องไห้ใช่มะ เราก็คิดออกมาเป็นคำพูดที่เราอยากจะต่อว่าผู้ชาย เช่น แล้วทำไมถึงหลอกกันมาตลอด หรือแล้วทำไมเพิ่งมาบอก 5 ปีนี่ไม่มีความหมายเลยใช่มั้ย แล้วก็พูดซ้ำๆนะท่อนนี้น่ะ เนื้อหาไม่ต้องมากนัก แต่เอาให้มันโดน

ท่อน Verse 2

เสร็จแล้วก็กลับมาท่อน Verse อีกที คราวนี้ก็ต้องเปลี่ยนเนื้อหานิดหน่อย ก็ยังคงต้องบ่นเหมือนท่อนแรกนั่นแหละ ให้คิดว่าเรากำลังระบายกับเพื่อนสนิทอะ เราเจอแบบนี้แล้วเราก็อัดอั้นและอยากหาใครสักคนที่จะรับฟังเรา เราก็เนี่ยเล่าเรื่องเก่าๆตอนที่คบกันอะแฟนเป็นยังไง เล่าไม่ให้เหมือนกับตอนแรก เปลี่ยนเรื่องนิดหน่อย เดี๋ยวคนฟังจะเบื่อค่ะ

ท่อน Chorus outro

ต่อมามันก็ซ้ำไปซ้ำมานะคะ สุดท้ายก็มาเปลี่ยนอีกทีตอน chorus outro ตอนนี้หลังจากร้องห่มร้องไห้ตามที่ร้องไว้ในท่อนฮุก ตอนนี้ก็อาจจะเป็นการหาทางออกให้ชีวิตหรือว่าปลงในเรื่องนี้ เช่น แล้วจะให้ชั้นทำยังไง ในเมื่อเธอบอกว่าเธอรักเขา แล้วจะให้ชั้นทนอยู่กับเธอได้ยังไง ในเมื่อใจเธอมีแต่เขา ชั้นคงต้องบอกลานับแต่นี้ อะไรแบบนี้

ตัวอย่างก็เป็นประมาณนี้นะคะ แต่เวลาแต่งก็ต้องเอาไปปรับให้มันฟังดูดีหน่อย อันนี้ก็แค่เป็นการเล่าเรื่องคร่าวๆ พอมันเป็นเพลงก็เลือกคำให้สวยงาม หาคำให้มันเข้ากับทำนอง อาจจะมีคำคล้องจองบ้างแต่จำไว้ว่าไม่ใช่การแต่งกลอน ไม่ต้องคล้องกันทุกประโยค เพราะถ้าแต่งแบบนั้นมันจะเชยมากเลยนะคะ

แต่งเนื้อร้องโดยหาคำที่ติดหูแล้วค่อยหาเนื้อร้อง

อีกวิธีหนึ่งนะคะ อันนี้เนี่ยเป็นวิธีของพี่ชายครูเอง เมื่อก่อนพี่ชายครูเคยอยู่แกรมมี่และแต่งเพลงดังๆอยู่หลายเพลงเลย ที่นึกได้ตอนนี้ก็เพลง “น้ำเต็มแก้ว” ของ ดา เอ็นโดรฟิน วิธีของเค้าก็คือ เค้าจะคิดคำเด็ดๆก่อน เช่นคำว่าน้ำเต็มแก้วเนี่ย แล้วเค้าก็ค่อยมาคิดเนื้อเรื่องว่าจะเอาเรื่องอะไรให้มันเข้ากับคำนี้ ซึ่งใครจะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ เวลาเลือกคำจำไว้ว่าจะต้องให้มันลงกับทำนองเพราะภาษาไทยมันมีวรรณยุกต์ เพราะฉะนั้นมันจำกำหนดไว้ว่าเราจะใช้ระดับเสียงไหนที่จะทำให้คำฟังไม่เพี้ยน แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็ง่ายหน่อยเพราะเค้าไม่มีวรรณยุกต์ค่ะ จะเสียงไหนก็เข้าหมด

เริ่มซ้อมและอัดเสียงได้เลย

หลังจากที่เพื่อนๆได้ทางคอร์ด ทำนองและเนื้อร้องแล้ว ก็เอามารวมกันเลยค่ะ ซ้อมให้คล่องและก็เริ่มอัดเสียงได้เลย

เราสามารถใช้โทรศัพท์หรือใช้คอมพิวเตอร์อัดเสียงก็ได้ สำหรับการอัดเสียงด้วยคอมพิวเตอร์นั้น ก็มีโปรแกรมอย่าง Audacity ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ค่อนข้างง่ายและไม่ยุ่งยาก แต่การอัดเสียงด้วยคอมพิวเตอร์ก็จะต้องมีไมโครโฟนและสาย USB ที่จะนำมาต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ด้วย เอาไว้คราวหน้าครูจะมาสอนวิธีการอัดเสียงแบบละเอียดอีกที เพื่อนๆจะได้รู้วิธีง่ายๆในการอัดเสียงกันนะคะ

หวังว่าเพื่อนๆพอจะได้ไอเดียในการแต่งเพลงกันไปพอสมควร พบกันใหม่กับบทความฉบับหน้าค่ะ


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *