สำหรับครูที่กำลังเตรียมนักเรียนสอบเกรดและนักเรียนที่กำลังจะสอบเกรด วันนี้เรามีเทคนิคดีๆสำหรับเตรียมตัวให้ได้คะแนนดีๆกับการสอบเกรดดนตรีของ Trinity ค่ะ สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าสอบเกรดดนตรีของสถาบัน Trinity คืออะไร มีกี่เกรด และสอบอะไรบ้าง สามารถอ่านได้ที่ สอบ Trinity มีสอบอะไรบ้าง เตรียมตัวอย่างไร หรือถ้าใครที่ยังลังเลว่าจะเลือกสอบเกรดดนตรีของ Trinity หรือ ABRSM ดี คลิ๊กอ่านบทความ สอบดนตรีของ Trinity หรือ ABRSM ดีกว่ากัน ได้เลยค่ะ
สำหรับวันนี้เราจะมาพูดเฉพาะการสอบเกรดของ Trinity แบบตัวต่อตัวเท่านั้น ไม่รวมการสอบแบบดิจิตัลนะคะ การเตรียมตัวสอบให้ได้คะแนนดี มีดังนี้ค่ะ
1. เตรียมเพลงสอบ 3 เพลงก่อน
สำหรับครูที่กำลังเตรียมนักเรียนสอบเกรดดนตรีของ trinity สิ่งที่ครูควรเตรียมเป็นอันดับแรกเลยคือเพลงสอบทั้ง 3 เพลง เนื่องจากเพลงมีคะแนนมากถึง 66 คะแนน ซึ่งแปลว่าถ้านักเรียนเล่นดีทั้ง 3 เพลงก็เกือบจะสอบผ่านแล้ว โดยคะแนนผ่านนั้นจะอยู่ที่ 60 คะแนน เราจึงต้องโฟกัสเรื่องเพลงให้มากที่สุดและเพลงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาฝึกมากที่สุด ยากที่สุดและยาวที่สุด ดังนั้นนักเรียนควรจะมีเวลาในการฝึกเล่นให้มากเพื่อที่จะได้ฝึกได้คล่องและแม่นยำ
การเล่นเพลงเพื่อนๆควรแบ่งเพลงเป็นท่อนๆ จะมีท่อนมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความยาวของบทเพลง อย่างเพลงเกรดต้นๆอาจจะแบ่งได้ 4-6 ท่อน เพลงเกรดสูงๆอย่างเกรด 6-8 อาจจะแบ่งได้ 10-15 ท่อน เวลาซ้อมก็ควรจะซ้อมเป็นท่อนๆ นักเรียนควรจะสามารถขึ้นเพลงได้ทุกท่อน เช่น หากครูเรียกให้เล่นท่อนที่ 5 นักเรียนควรจะเริ่มเล่นจากท่อนที่ 5 ได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องไปเริ่มตั้งแต่ท่อนที่ 1 ใหม่ ทั้งนี้เพื่อที่ว่าเกิดเราเล่นหลุดในห้องสอบเราและเราไม่สามารถเล่นต่อได้ เราก็จะได้กระโดดไปเริ่มในท่อนที่ติดกันได้ทันที ให้นักเรียนฝึกแบบนี้ทุกเพลงจนสามารถเริ่มได้ทุกท่อน และควรเล่นทั้งเพลงสัก 1-2 รอบต่อวัน
ช่วงใกล้สอบให้ฝึกเล่นทั้ง 3 เพลงติดต่อกันโดยไม่พัก เพื่อที่จะได้ฝึกเรื่องสมาธิและเรื่องของกำลังในการเล่นจะได้ไม่เหนื่อยเวลาที่ต้องเล่นในห้องสอบค่ะ
2. ใส่ใจกับรายละเอียดในเพลง เทคนิค รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกและการตีความเพลง
สำหรับเรื่องนี้นั้นครูคงอธิบายอะไรมากไม่ได้เท่าไหร่ เพราะเรื่องนี้จะขึ้นอยู่กับทักษะของครูที่สอนเลยว่ามีความรู้ในเรื่องของดนตรีมากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญที่ครูต้องใส่ใจมีดังนี้
- เก็บรายละเอียดทุกอย่างในเพลงให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Dynamics (ความดังเบา) Articulations (ความสั้นยาวของโน้ต) phrasing (ประโยคเพลง) Slur (สเลอ) Fingering (การเลือกใช้นิ้ว) ความเร็วของเพลง และอื่นๆอีกมากมาย
- ซ้อมกับเมโทรโนม สำหรับเพลงที่อยู่ในยุคบาโรค, คลาสสิค และ 20 century ควรจะซ้อมกับเมโทรโนมตลอดเพื่อให้นักเรียนเล่นจังหวะสม่ำเสมอทั้งเพลง ส่วนยุคที่ไม่ต้องใช้เมโทรโนมคือยุคโรแมนติค เพราะต้องการเล่นให้มีอารมณ์มากๆ และต้องมีการยืดหรือเร่งจังหวะบ่อยๆดังนั้นหากใช้เมโทรโนมจะทำให้เล่นแข็งได้
- ฝึกเทคนิคแยกออกมาในท่อนที่เล่นไม่ได้ ในเพลงที่เร็วๆหรือเพลงที่ต้องใช้การกดคอร์ดกว้างๆ หากนักเรียนติดขัดเล่นไม่ได้หรือเล่นได้แต่ช้ากว่าจังหวะที่กำหนด ให้ครูนำท่อนนี้ออกมาฝึกต่างหาก โดยหากครูไม่รู้ว่าจะฝึกอย่างไรให้ศึกษาหาความรู้จากทางยูทูปหรือถามครูที่มีประสบการณ์มากกว่า สำหรับเรื่องเทคนิคนั้น การฝึกซ้อมบ่อยๆก็ไม่ได้ช่วยให้เล่นได้ เพราะเราจะมีวิธีฝึกเฉพาะของเทคนิคนั้นๆจึงจะเล่นได้ค่ะ สำหรับเพื่อนๆที่อยากได้เทคนิคการเล่นเปียโน สามารถอ่านบทความ 10 เทคนิคการเล่นเปียโนที่จะทำให้เล่นเปียโนเก่งขึ้นทันที ซึ่งก็อาจจะพอช่วยเรื่องเทคนิคในบางเรื่องได้บ้างค่ะ
- ตีความเพลงให้ตรงกับยุคสมัยและสไตล์ของดนตรี สำหรับการเล่นดนตรีคลาสสิคนั้น แต่ละยุคก็จะมีวิธีการเล่นที่แตกต่างกัน เช่นในเปียโน สำหรับยุคบาโรคนั้นจะไม่ใช้เพดเดิล หรือในยุคคลาสสิคจะใช้เพดเดิลเพียงเล็กน้อย แต่ในยุคโรแมนติคเพดเดิลต้องฉ่ำ ซึ่งตรงนี้ครูต้องหาว่าเพลงอยู่ในยุคไหนแล้วก็ศึกษาเพิ่มเติมว่าควรเล่นอย่างไร อาจจะดูตัวอย่างในยูทูปก็ได้ แต่ตรงนี้ก็ต้องระวังเพราะบางครั้งเราอาจเลือกตัวอย่างที่ผิดก็ได้ ทั้งนี้ก็ควรเลือกอย่างระมัดระวังค่ะ
- เล่นให้มีอารมณ์ความรู้สึก ข้อนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการสอบดนตรีในระดับสูงๆ เพราะนอกจากเราจะต้องเล่นโน้ตให้ถูกต้องแล้ว เราต้องเล่นโดยแสดงความรู้สึกผ่านออกมาในบทเพลง เช่นถ้าเป็นเพลงเร็วๆสนุกๆเราก็ต้องถ่ายทอดออกมาให้คนฟังรู้สึกสนุก หรือเพลงที่ช้าๆเศร้าๆ เราต้องเล่นให้เศร้า เราอาจจะผูกเป็นเรื่องราวให้นักเรียนฟังจะได้เข้าใจว่าเพลงนี้ต้องการสื่ออะไร ตรงไหนอย่างไร
3. ฝึก Excercise สลับกับ Scale
เมื่อครูสอนเพลงนักเรียนครบหมดแล้ว ก็ให้เริ่มสอนสเกล อาจจะให้นักเรียนวันละ 2 สเกล และให้ excercse 1 ข้อ ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนไม่ต้องจำสเกลเยอะจนเกินไป เพราะหากเราให้นักเรียนฝึกสเกลหลายๆสเกลในครั้งเดียวก็จะทำให้นักเรียนเกิดการสับสนได้
สำหรับการฝึก Excercise ให้ดูว่าบทนั้นๆต้องการฝึกเรื่องอะไร เช่นบทนี้อาจจะฝึกเรื่องคอร์ด ก็ต้องให้แน่ใจว่าเราเล่นคอร์ดได้เนี้ยบจริงๆ หรือหากฝึกเรื่องความแข็งแรงของนิ้ว ก็ต้องเล่นให้ชัดเจนทั้ง 5 นิ้ว โดยที่ไม่มีนิ้วไหนที่อ่อนแรง หากมีปัญหาก็ให้แยกออกมาซ้อมตรงท่อนที่เล่นไม่ได้เช่นเดียวกับการเล่นเพลงสอบ
4. ฝึกสเกลโดยเรียกสลับกัน
หลังจากที่นักเรียนเล่นสเกลได้ครบหมดแล้ว สิ่งที่ครูควรทำคือ เราควรเขียนชื่อสเกลลงไปบนกระดาษทุกสเกลโดยเรียงสลับกันไปมา จากนั้นก็เรียกให้นักเรียนเล่นตามนั้น ไม่ต้องเรียงตามที่ข้อสอบบอกไว้ เนื่องจากเวลากรรมการเรียกสเกลจะไม่เรียกทุกอัน นักเรียนจึงต้องใช้ทักษะการฟังว่ากรรมการเรียกสเกลอะไร เพราะหากเราเรียกไปตามที่ในข้อสอบเขียนไว้ เด็กจะจำแบบอัตโนมัติว่าต้องเล่นสเกลไหนก่อนโดยที่ไม่ได้ฟังว่าครูเรียกสเกลอะไร
4. ฝึก Block Chord สำหรับ อาร์เพจจิโอ
ให้นักเรียนฝึกเล่น Block Chord สำหรับอาร์เพจจิโอที่จะต้องเล่น (Block Chord คือการเล่นคอร์ดโดยกดพร้อมกัน) หากนักเรียนต้องเล่นอาร์เพจจิโอ Ab Major ครูควรให้นักเรียนฝึกกด Block Chord ก่อนโดยกดโน้ต Ab -C -Eb พร้อมกันจากนั้นค่อยแตกไปเล่นอาร์เพจจิโออีกที ดูตัวอย่างด้านล่าง
ในอาร์เพจจิโอ diminish และ dominant ก็เช่นกัน เด็กควรฝึกกดเป็น Block Chord เช่น หากข้อสอบให้เล่นอาร์เพจจิโอ A diminish ก็ให้กด A C Eb Gb แล้วจากนั้นค่อยแตกไปเล่นอาร์เพจจิโออีกที
การฝึกเช่นนี้จะช่วยให้นักเรียนจำเป็นภาพได้ง่ายขึ้น เวลาที่ครูสอนสามารถเรียกอาร์เพจจิโอทุกคีย์แล้วให้นักเรียนกดคอร์ดอย่างเดียวโดยที่ยังไม่ต้องเล่นอาร์เพจจิโอ เพื่อเช็คดูว่านักเรียนจำโน้ตที่จะต้องเล่นได้ไหม เมื่อสามารถกดได้ทันทีหลังจากที่ครูเรียกก็แสดงว่านักเรียนแม่นแล้ว เมื่อจำได้แม่นยำแล้วก็ค่อยแตกไปเล่นอาร์เพจจิโออีกทีหนึ่ง
เวลาสอบก็อาจจะแนะนำให้นักเรียนลองเอามือวางไปที่คอร์ดเพื่อเช็คโน้ตก่อนที่จะเล่นอาร์เพจจิโอ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เล่นได้แม่นยำมากขึ้น แต่จำไว้ว่าเวลาเอามือไปลองวางที่คอร์ด ให้วางเฉยๆไม่ต้องกดให้มีเสียงนะคะ
5. ฝึก sight reading ทุกวัน
สำหรับ Sight Reading นั้น ครูอาจจะฝึกกับนักเรียนในคลาสเรียนสัก 10 นาทีทุกครั้งที่มีการเรียนการสอน หลังจากนั้นให้นักเรียนนำกลับมาฝึกที่บ้านวันละ 1 บทตั้งแต่เริ่มเตรียมตัวสอบเลย เพราะการฝึก Sight Reading นั้น ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะสามารถเล่นได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการฝึกซ้อมเป็นประจำทุกวันเพื่อให้ชินกับจังหวะและโน้ตแบบต่างๆ
เทคนิคสำคัญในการ Sight Reading สำหรับเปียโนนั้นคือ เราควรอ่านเป็นคอร์ดหรือขั้นคู่เสียงแทนที่จะอ่านทีละตัวตามโน้ต โดยเราสามารถดูลักษณะการวางโน้ต เช่นถ้ามีโน้ต 3 ตัวกดพร้อมกันและอยู่ในช่องหมดทุกตัว เราก็จะกดโน้ตตัวเว้นตัว หรือหากเจอโน้ตที่ทับเส้นและอีกตัวอยู่ในช่องแต่ติดกันก็จะกดคีย์ 2 ตัวติดกัน ดูตัวอย่างด้านล่าง
สำหรับครูคนไหนที่นักเรียนยังอ่านโน้ตไม่คล่อง สามารถเข้ามาอ่านบทความ อ่านโน้ตเปียโนง่ายๆ-ละเอียดที่สุด
6. ฝึก Ear training สม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มเรียนดนตรี
Ear Training นั้นเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการเตรียมตัวสอบเลย เนื่องจากหากนักเรียนหูเพี้ยนก็จะฝึกไม่ได้เลย แต่หากนักเรียนที่หูไม่เพี้ยนสามารถร้องได้ตรง ก็ให้ฝึกเล่นและร้องไปด้วยตั้งแต่เริ่มเรียนเลย เมื่อร้องได้ตรงแล้วก็ค่อยๆเริ่มฝึกร้องขั้นคู่เสียง ฝึกปรบจังหวะตามเพลงที่เราเล่น สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถฝึกได้อย่างเป็นธรรมชาติในทุกบทเรียน แม้ว่าจะไม่ได้สอบเกรดก็ตาม การฝึกตั้งแต่เริ่มต้นจะช่วยปูพื้นฐานให้นักเรียนในเรื่องของหูซึ่งจะทำให้ง่ายขึ้นในการเตรียมตัวสอบในแต่ละเกรด
สำหรับเรื่องของการสอบร้องขั้นคู่เสียงซึ่งเป็นพื้นฐานในเรื่องของ Ear Training เกรดต้นๆนั้นมีวิธีฝึก 2 แบบคือ
- ร้องตามเสกลโดยการมูฟโด – เราจะต้องร้องโน้ตตัวแรกที่ได้ยินเป็นตัวโด จากนั้นก็ค่อยไล่ตามสเกล c major ไปเรื่อยๆ พอเสียงไปตรงกับตัวไหนก็หยุดที่ตัวนั้นแล้วดูว่าเป็นโน้ตตัวอะไร เช่นไปจบที่ตัว E ก็จะเป็นคู่ Major 3rd แต่ถ้าต่ำกว่าเล็กน้อยก็จะเป็น minor 3rd
- จำเป็นเพลง – เช่นถ้าเป็นคู่ Major 2nd ก็จะเป็นเพลง Happy birthday ถ้าเป็นคู่เสียงแบบ Perfect 4th ก็จะเป็นเพลงแต่งงาน เวลาที่กรรมการเล่นก็ให้ฟังและคิดว่าเป็นเพลงอะไร จากนั้นก็ตอบคู่เสียงตามที่เราได้ยิน
สำหรับนักเรียนที่เป็น Perfect Pitch นั้นก็แค่ฟังเอาว่าเป็นโน้ตตัวอะไร จากนั้นก็เอาโน้ตมาคิดเทียบกับทฤษฏีดนตรีอีกที
ในเกรดระดับสูงที่ต้องฟังเพลงและอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับเพลง ครูต้องศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคการประพันธ์เพลง เช่นต้องรู้ว่า Texture ของเพลงเป็นแบบไหน และต้องรู้ศัพท์เทคนิคทางดนตรีเช่น Syncopation, Imitation, sequence และอื่นๆ เพื่อที่จะมาสอนนักเรียนอีกที นักเรียนควรจดช็อตโน้ตว่าศัพท์แต่ละตัวหมายความว่าอย่างไร พยายามทำความเข้าใจและท่องศัพท์เหล่านั้นให้ขึ้นใจ เพื่อที่จะนำมาอธิบายเพลงค่ะ
7. ฝึกเล่นทั้งโปรแกรมบ่อยๆ
เมื่อหัดทุกส่วนของการสอบครบหมดแล้ว เวลาซ้อมที่บ้านนักเรียนควรจะเล่นทั้งโปรแกรมบ่อยๆเช่น เล่นสเกลทั้งหมด ต่อด้วยเพลงทั้งหมดและ Excercise ทั้งหมด ส่วนเวลาที่เรียนกับครูนั้นครูควรเรียกสเกลแบบสุ่มและ Excercise แบบสุ่มเพื่อที่นักเรียนจะได้ฝึกฟังคำสั่งของกรรมการ และถ้าเป็นไปได้ครูควรฝึกเรียกเป็นภาษาอังกฤษด้วย นักเรียนจะได้มีความเคยชินกับภาษาอังกฤษ เวลาสอบก็จะได้ไม่ตื่นเต้นเพราะกลัวจะฟังไม่รู้เรื่องค่ะ
8. อัดวีดีโอเพิ่มความตื่นเต้นและเช็คความผิดพลาด
เมื่อเล่นได้ทั้งหมดแล้ว ทีนี้ก็พร้อมที่จะอัดวีดีโอแล้ว ข้อดีของการอัดวีดีโอนั้นคือเราจะได้ฟังข้อผิดพลาดที่เราเล่นว่าเราเล่นตรงไหนพลาดหรือเล่นตรงไหนไม่เพราะ บางที่กระแทกเกินไปหรือดังเกินไปหรือไม่ เมื่อได้ยินแล้วก็จะได้มาปรับให้ไพเราะขึ้น ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ การอัดวีดีโอการเล่นของเรานั้นจะช่วยทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น ส่วนใหญ่เด็กจะเล่นผิดในท่อนที่ไม่เคยเล่นผิด ดังนั้นหากนักเรียนเล่นท่อนไหนผิด เราก็จะได้นำท่อนนั้นท่อนมาให้นักเรียนฝึกมากขึ้น
9. แสดงต่อหน้าสาธารณชนก่อนการสอบ
ความตื่นเต้นนั้นถือเป็นอุปสรรคที่ใหญ่หลวงในการเล่นดนตรีเลย แม้ว่าเราจะซ้อมมาดีขนาดไหน หากวันจริงเราตื่นเต้นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ เราก็ไม่สามารถเล่นเพลงได้ดี แต่เราสามารถทำให้ความตื่นเต้นลดลงไปได้ด้วยการเล่นต่อหน้าคนอื่นบ่อยๆ โดยเราอาจจะเริ่มจากเล่นให้คุณพ่อคุณแม่ฟังก่อน จากนั้นก็อาจจะเล่นให้เพื่อนและญาติพี่น้องฟัง จะเป็นการดีมากหากครูจัดคอนเสิร์ตเตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนสอบเกรด โดยเชิญแขกมาฟังเยอะๆ เพื่อที่จะได้ให้นักเรียนเกิดความตื่นเต้น เมื่อเล่นบ่อยๆต่อหน้าคนก็จะทำให้การตื่นเต้นนั้นลดลงไปได้ และเวลาที่เราเล่นนั้นหากเราเล่นท่อนไหนพลาดเราก็กลับมาฝึกท่อนนั้นเพิ่ม เพราะหากเราเล่นพลาดแสดงว่าเราฝึกท่อนนั้นไม่มากพอ หรือเทคนิคไม่แข็งแรงพอ เราก็จะรู้ได้ทันท่วงทีก่อนที่จะถึงเวลาสอบค่ะ
10. ไปลองเล่นในสถานที่จริงก่อนสอบ
ปกติทางสถาบัน Trinity จะมีให้จองเวลาสำหรับซ้อมกับห้องสอบจริง หากนักเรียนได้ไปลองเล่นในห้องสอบนั้นก็จะทำให้ลดความตื่นเต้นลงไปได้เช่นกัน และสำหรับเครื่องดนตรีเปียโนนั้นควรไปเล่นในห้องสอบจริงๆอย่างมาก เพราะเปียโนแต่ละตัวจะมีความยากง่ายในการเล่นไม่เหมือนกัน บางตัวคีย์จะหนัก บางตัวเบา บางตัวทำความดังเบายาก บางตัวเพดเดิลเบลอ ทั้งนี้หากเราได้ไปลองซ้อมกับห้องจริงเราก็จะสามารถปรับการเล่นได้ดียิ่งขึ้น
แถมเล็กน้อยก่อนจบ เพื่อนๆควรเลือกให้นักเรียนสอบ scale ก่อนเนื่องจากสเกลนั้นคะแนนน้อยกว่าเพลง และการเล่นสเกลก็เป็นการวอร์มที่จะทำให้เราเล่นเพลงได้ดีขึ้น ดังนั้นเราควรวอร์มนิ้วด้วยการเล่นสเกลก่อนที่จะเล่นเพลงค่ะ
สำหรับคำแนะนำนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนของครูเท่านั้น ซึ่งครูบางท่านอาจจะเห็นแตกต่างได้ ทั้งนี้เพื่อนๆอาจจะไม่ต้องทำตามทั้งหมดแต่อาจจะนำคำแนะนำบางส่วนไปปรับใช้ให้เข้ากับนักเรียนของตัวเองอีกทีค่ะ
Leave a Reply