หากเพื่อนๆต้องการที่จะเล่นดนตรี การอ่านโน้ตถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยทีเดียวค่ะ การอ่านโน้ตได้คล่องจะช่วยให้เราสามารถฝึกเพลงได้เร็วและ sight reading ได้เร็วเช่นกัน เพื่อนๆคนไหนต้องการเคล็ดลับการ sight reading คลิกอ่านได้ ที่นี่ หากยังไม่แน่ใจว่าเราควรฝึกอ่านโนัต คลิกอ่านบทความ เรียนเปียโนจำเป็นต้องอ่านโน้ตหรือไม่ หากมั่นใจว่าอยากฝึกการอ่านโน้ตแน่ๆ อ่านต่อได้เลยค่ะ
สำหรับวันนี้ครูจะมาสอนวิธีการอ่านโน้ต 2 วิธีได้แก่
1.การอ่านโน้ตแบบวิธีลัด
2.การอ่านโน้ตแบบดั้งเดิมด้วยวิธีการนับบรรทัด 5 เส้น
ครูแนะนำให้นักเรียนศึกษาวิธีที่ 2 เพราะจะเป็นวิธีการอ่านโน้ตที่ได้ผลยืนยาวกว่า แต่ทั้งนี้ครูก็จะแนะนำวิธีที่ 1 ไว้ด้วย เผื่อเพื่อนๆคนไหนอยากได้วิธีแบบรวดรัด เมื่อเพื่อนๆอ่านบทความจบแล้ว สิ่งสำคัญที่จะต้องทำก็คือจะต้องทำแบบฝึกหัดการอ่านโน้ตเยอะๆเพื่อที่จะได้มีความแม่นยำมากขึ้น
เพื่อนๆคนไหนที่อยากศึกษาวิธีการอ่านโน้ตหรือเคยเรียนด้วยตัวเองแล้วแต่ก็อ่านไม่คล่องสักที ครูแนะนำ คอร์สเรียนการอ่านโน้ตฉบับสมบูรณ์ ในคอร์สนี้จะครอบคลุมเนื้อหาการอ่านโน้ตทั้งหมด ซึ่งจะมีรายละเอียดมากกว่าในบทความนี้ ครูสอนแบบเป็นสเต็ปและมีเทคนิคในการจำโน้ตต่างๆ พร้อมทั้งแบบฝึกหัดให้ทำหลังจากเรียนจบทุกบทเรียนมากกว่า 1000 ข้อ รับรองว่าเรียนจบแล้วจะอ่านโน้ตได้คล่องแคล่วเลยค่ะ
1. การอ่านโน้ตแบบวิธีลัด -การอ่านโน้ตโดยการจำเป็นประโยค
การอ่านโน้ตด้วยวิธีนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมมากและก็ได้ผลเร็วทันตาเห็น เพราะเพื่อนๆสามารถจำตำแหน่งของโน้ตต่างๆจากประโยคได้เลย เวลาเห็นโน้ตปุ๊บก็บอกได้ทันทีว่าเป็นโน้ตอะไร สำหรับตัวครูเองครูไม่ค่อยได้ใช้วิธีนี้เพราะเมื่อนักเรียนต้องอ่านโน้ตที่เกินจากบรรทัด 5 เส้นก็จะงงทันที แต่อย่างไรครูก็จะนำเสนอวิธีนี้ให้เพื่อนๆดูกันนะคะ แล้วลองตัดสินใจดูว่าแบบไหนเหมาะกับเพื่อนๆค่ะ
เราจะท่องโน้ตกุญแจซอลโดยแบ่งเป็นโน้ตทับเส้นและโน้ตในช่องดังนี้
- โน้ตทับเส้น ท่องว่า Every good boy does fine แทนโน้ตตัว E G B D F
- โน้ตในช่อง มาจากคำว่า FACE แทนโน้ตตัว F A C E
เราจะท่องโน้ตกุญแจฟาโดยแบ่งเป็นโน้ตทับเส้นและโน้ตในช่องดังนี้
- โน้ตทับเส้น ท่องว่า Good Boys Do Fine Always แทนโน้ตตัว G B D F A
- โน้ตในช่อง ท่องว่า All Cows Eat Grass แทนโน้ตตัว A C E G
โน้ตที่นอกเหนือจากประโยคเหล่านี้เราก็จะใช้การนับแบบเส้นและช่อง ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อด้านล่างดังนี้ โดยครูจะอธิบายแบบละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นกันเลย เพื่อที่นักเรียนจะได้เข้าใจวิธีการอ่านโน้ตอย่างถูกต้องโดยที่ไม่ต้องท่องจำค่ะ ครูแนะนำวิธีนี้อย่างมากเนื่องจากเป็นการเรียนจากความเข้าใจจึงได้ผลที่ดีกว่าและยั่งยืนกว่าแบบแรกค่ะ
2. การอ่านโน้ตแบบดั้งเดิมด้วยวิธีการนับบรรทัด 5 เส้น
บรรทัด 5 เส้นคืออะไร
บรรทัดห้าเส้นเป็นวิธีการบันทึกโน้ตทางดนตรี ซึ่งเวลาที่ใช้เขียนบันทึกโน้ตนั้นก็จะต้องมีองค์ประกอบอื่นๆไม่ว่าจะเป็นกุญแจ (clef) เครื่องหมายกำหนดจังหวะ (time signature) เครื่องหมายบอกคีย์ (key signature) บนบรรทัด 5เส้นนั้นจะมีเส้นทั้งหมด 5 เส้น ซึ่งครูได้ทำเป็นตัวเลข 1-5 ด้วยสีแดง และก็จะมีช่องทั้งหมด 4 ช่อง ครูได้ทำเป็นเลข 1-4 ด้วยสีฟ้า โน้ตที่อยู่บนตัวเลขสีแดงเราก็จะเรียกว่าโน้ตทับเส้น และโน้ตที่อยู่บนตัวเลขสีฟ้าก็จะเรียกว่าโน้ตในช่อง
โน้ตทับเส้นและโน้ตในช่อง
โน้ตทับเส้นคือโน้ตที่อยู่บนเส้น 1- 5 (หรืออยู่บนเส้นน้อย ซึ่งจะอธิบายในภายหลัง)
โน้ตในช่องคือโน้ตที่อยู่บนช่องที่ 1-4 (หรืออยู่ระหว่างเส้นน้อย)
ตัวโน้ตมีตัวอะไรบ้าง
ตัวโน้ตจะมีทั้งหมด 7 ตัว ตามหลักสากลเราจะใช้เป็นอักษรภาษาอังกฤษคือ C D E F G A B และมีการอ่านแบบ solfege ซึ่งจะอ่านเป็น โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โดยมีการเทียบโน้ตแบบภาษาอังกฤษกับโน้ตแบบ solfege ไว้ดังนี้ C(โด) D(เร) E(มี) F(ฟา) G(ซอล) A(ลา) B(ที)
การไล่โน้ต C D E F G A B ทำอย่างไร
การเรียงโน้ตจาก C D E F G A B หรือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที จะเรียงสลับกันระหว่างช่องกับเส้น โดยจะเริ่มจากช่องหรือเส้นก็ได้ เช่น เส้น-ช่อง-เส้น-ช่อง-เส้น-ช่อง
เปียโนใช้กุญแจเสียงอะไรบ้าง
ในการบันทึกโน้ตเปียโนเราจะต้องมีการใส่กุญแจเสียงเอาไว้ที่ด้านซ้ายมือ เพื่อที่เราจะสามารถระบุได้ว่าเป็นโน้ตอะไร โดยกุญแจเสียงที่สำคัญในการเล่นเปียโนคือ กุญแจซอลและกุญแจฟา
กุญแจซอลส่วนมากจะใช้เล่นในที่มือขวาและกุญแจฟาส่วนมากจะเล่นที่มือซ้าย แต่ก็ไม่เสมอไปนะคะ บางครั้งถ้าโน้ตที่กุญแจซอลต่ำมากก็จะใช้มือซ้ายเล่นแทน หรือถ้าโน้ตที่กุญแจฟาสูงมากก็จะใช้มือขวาเล่นแทนเช่นกัน นอกจากนี้ก็จะมีการเล่นข้ามมือด้วย
การอ่านโน้ตของกุญแจซอลและกุญแจฟาจะไม่เหมือนกัน เวลาที่เราเล่นเปียโนการเขียนโน้ตก็จะมีทั้งกุญแจซอลและกุญแจฟา ซึ่งเราเรียกวา grand staff
แม้ว่าการอ่านกุญแจซอลและกุญแจฟานั้นจะอ่านไม่เหมือนกัน แต่กุญแจซอลและกุญแจฟาจะใช้โน้ตร่วมกันตัวหนึ่งคือโน้ตตัว C (เฉพาะโน้ตตัว C ตรงกลางเปียโนซึ่งเราเรียกว่า middle C)
จากรูปด้านบน โน้ตตัว C ของกุญแจซอลและกุญแจฟาจะเล่นโน้ตตัวเดียวกัน ซึ่งคือตัว C ที่ 4 นับจากซ้ายสุดของเปียโน เพื่อนๆจะสังเกตว่าโน้ตตัว C จะอยู่นอกบรรทัด 5 เส้น และมีเส้นเล็กๆขีดระหว่างโน้ต โน้ตลักษณะนี้เราเรียกว่าโน้ตทับเส้นเช่นกัน แต่เราเรียกขีดเล็กๆนั้นว่า เส้นน้อยหรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ledger line
การอ่านโน้ตโดยวิธีนับแบบ step
เมื่อเรารู้จักตัว C แล้ว วิธีการหาโน้ตต่อไปก็ไล่โน้ตแบบเดียวกับการไล่โน้ตในบรรทัด 5 เส้น คือเราจะไล่โน้ตสลับระหว่างเส้น-ช่อง ไปเรื่อยๆ เมื่อไล่จากโน้ตตัว C บนกุญแจซอลก็จะได้เป็น C D E F G A B และสามารถไล่ต่อขึ้นไปเรื่อยๆ (ดูตัวอย่างจากรูปด้านล่าง) ส่วนในมือซ้าย กุญแจฟา เมื่อเรารู้ตัว middle C แล้ว เราก็ไล่โน้ตลงโดยสลับระหว่างเส้น – ช่อง ไปเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งเวลาที่เราไล่โน้ตลงนั้นเราก็จะไล่ตัวอักษรลงเป็น C B A G F E D C เพื่อนๆจำเป็นต้องฝึกไล่โน้ตไปกลับเพื่อจะช่วยเวลาอ่านโน้ตที่ไล่ลงนะคะ
ตัวอย่างการไล่โน้ตของกุญแจซอลและกุญแจฟาบนโน้ตเปียโนและบนคีย์เปียโน
เพื่อนๆจะเห็นว่าตัว D และตัว B จะอยู่บนเส้นและใต้เส้น (ดูภาพประกอบด้านล่าง) ทั้งนี้เราจัดโน้ตลักษณะนี้ว่าอยู่ในช่องเช่นกัน ลองจินตนาการง่ายๆว่า โน้ตตัว D นั้น อยู่ระหว่างเส้นน้อย (ledger line) และเส้นแรกของบรรทัด 5 เส้น ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นโน้ตในช่องเช่นกัน แต่เราจะไม่เห็นเส้นน้อยนี้เวลาที่มีการบันทึกโน้ต เพราะเส้นน้อยจะใช้เวลาที่จำเป็นเท่านั้น
การอ่านโน้ตบนเส้นน้อย (ledger line)
เส้นน้อยคือเส้นที่มีการขีดเพิ่มจากบรรทัด 5 เส้น ซึ่งก็มีวิธีการเขียนโน้ตเหมือนกับบนบรรทัด 5 เส้น ปกตินั้นเส้นน้อยจะไม่ได้ขีดไว้ตลอดเวลา แต่จะขีดเฉพาะเวลาที่ใช้เท่านั้น ซึ่งทำให้นักเรียนหลายๆคนงงว่าอ่านอย่างไร ลองดูในตัวอย่างข้างล่าง รูปบนครูขีดเส้นสีฟ้าเอาไว้ซึ่งเป็นเส้นที่ปกติจะไม่ได้ขีดไว้ ครูจะเรียกมันว่าเส้นในจินตนาการ ทีนี้เวลาที่เราเขียนโน้ตลงไป เราก็จะเขียนสลับระหว่างเส้นกับช่องเหมือนกับบนบรรทัด 5 เส้นเลยค่ะ ดูตัวอย่างจากภาพข้างล่างนะคะ
เวลาที่นักประพันธ์เพลงบันทึกโน้ตลงไปก็จะเอาเส้นน้อยในจินตนาการออกแล้วขีดแค่เป็นเส้นสั้นๆเมื่อเวลาที่ใช้เท่านั้น (ดูภาพด้านบนอันล่าง)
ในโน้ตกุญแจฟาก็มีเส้นน้อยเช่นกันและก็มีวิธีเขียนเช่นเดียวกันดังภาพด้านล่าง
การอ่านโน้ตด้วยการจำแลนด์มาร์ก
เนื่องจากเป็นการยากที่จะจำโน้ตทั้งหมดได้ โดยเฉพาะนักเรียนทีเพิ่งเริ่มเรียนเปียโน ดังนั้นการจำด้วยการใช้แลนมาร์กจะช่วยให้เพื่อนๆอ่านโน้ตได้ง่ายขึ้น ซึ่งแลนด์มาร์กที่เพื่อนๆจะต้องจำมีดังนี้
หมายเหตุ C1, C1, C3, C4, C5, C6 คือตำแหน่งของโน้ตตัว C บนคีย์บอร์ด ซึ่ง C1 ก็จะเป็นโน้ตตัว C ตัวแรกที่นับจากทางด้านซ้ายของเปียโน Middle C คือ C4
วิธีง่ายๆในการจำแลนมาร์กของโน้ตคือ ให้สังเกตว่าโน้ตที่กุญแจซอลและกุญแจฟาจะมีความสมมาตรกัน (ตรงข้ามกันแต่เหมือนกัน) สามารถสังเกตได้ที่โน้ตตัว C4 ทั้งสองกุญแจก็จะเขียนเหมือนกัน แต่ C4 ของกุญแจซอลจะอยู่ด้านล่าง กุญแจฟาจะอยู่ด้านบน
จากนั้นก็จะข้ามไปที่โน้ตตัว G (ซอล) วิธีจำง่ายๆคือ หัวของกุญแจซอลจะเริ่มตรงเส้นที่ 2 ซึ่งตรงกับตัว “ซอล” พอดี ในกุญแจฟา หัวของกุญแจฟาก็จะเริ่มที่เส้นที่ 2 (นับจากด้านบนลงมา) ซึ่งจะตรงกับโน้ตตัว “ฟา” เช่นกัน (ดูตัวอย่างด้านล่างภาพซ้ายสุด)
โน้ตตัวอื่นก็มีความสมมาตรเช่นกัน เช่น รูปที่ 2 ตัว C จะอยู่ช่องที่ 3 เหมือนกัน โน้ตตัว Fและ G จะอยู่เส้นบนสุดและล่างสุด รูปสุดท้ายโน้ตตัว C จะอยู่บนเส้นน้อยเส้นที่ 2 ทั้งคู่
ตอนนี้เราไปดูกันว่าโน้ตที่ตำแหน่งแลนด์มาร์กจะเล่นบนคีย์เปียโนตรงไหนบ้าง
เมื่อรู้ตำแหน่งของโน้ตบนแลนด์มาร์กได้ขึ้นใจแล้ว ทีนี้เราก็นับโน้ตจากแลนด์มาร์กขึ้นหรือลงดังในภาพ ในภาพนี้เรามีโน้ตแลนด์มาร์กที่ตัว C ซึ่งโน้ตที่อยู่ถัดไปทางซ้ายมือของตัว C ก็จะนับตัวอักษรลงเป็นโน้ต B และ A ส่วนโน้ตที่อยู่ถัดไปทางขวามือก็จะนับตัวอักษรขึ้นเป็น D E F
อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นการนับโน้ตจากแลนด์มาร์กตัว G บนกุญแจซอล และแลนด์มาร์กตัว F บนกุญแจฟา ซึ่งมีวิธีนับแบบเดียวกับข้างบน (ดูภาพประกอบด้านล่าง)
นี่ก็เป็นวิธีอ่านโน้ตแบบละเอียด หากเราจะเล่นดนตรีการอ่านโน้ตถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆเลย หากเราอ่านโน้ตไม่ได้เราก็จะต้องท่องจำโน้ตและเวลาที่ต้องเล่นเพลงยาวๆหรือยากๆก็จะทำให้เล่นไม่ได้นะคะ หวังว่าคุ่มือการอ่านโน้ตนี้ จะช่วยให้เพื่อนๆเกิดความเข้าใจและรู้วิธีการอ่านโน้ตอย่างถูกต้อง ทั้งนี้การจะอ่านโน้ตให้คล่องนั้น นอกจากจะแยกออกมาอ่านและฝึกทำแบบฝึกหัดแล้ว คอร์สเรียนการอ่านโน้ตฉบับสมบูรณ์ มีแบบฝึกหัดให้ฝึกมากกว่า 1000 ข้อ ทำให้เกิดความแม่นยำในการอ่านโน้ตมากขึ้น การฝึกอ่านโน้ตพร้อมกับเล่นเปียโนไปด้วยก็จะช่วยให้เพื่อนๆจำได้มากขึ้นด้วยค่ะ
Leave a Reply