สื่อการสอน 5 สิ่งที่ครูสอนดนตรีควรมี – ดาวน์โหลดฟรี

สวัสดีคุณครูทุกท่านค่ะ ก่อนอื่นขอแนะนำตัวเล็กน้อยค่ะ ครูชื่อลีลาค่ะ ครูสอนเปียโนมาตั้งแต่อายุ 18 เคยสอนตั้งแต่ระดับเด็กเล็กๆจนถึงระดับมหาวิทยาลัยค่ะ ครูมีประสบการณ์สอนมาประมาณ 22 ปี ช่วงแรกที่สอนก็มีปัญหาหลายอย่างเช่นเด็กอ่านโน้ตไม่คล่อง Sight Reading ไม่ได้และก็ปัญหาอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าครูทุกท่านก็น่าจะมีปัญหาคล้ายๆกันอยู่ค่ะ

วันนี้ครูเลยจะมาแชร์สื่อการสอนที่ช่วยครูลีลาได้มากๆเลย พร้อมทั้งมีดาวน์โหลดสื่อการสอนให้สำหรับผู้ที่สนใจด้วยค่ะ ครูเพิ่งจะเริ่มทำสื่อการสอนได้ไม่นานนี้เองค่ะ แต่ก่อนจะหาเอาจากอินเตอร์เน็ตแต่ช่วงนี่อยากจะทำเองมากกว่าค่ะจะได้ตรงประเด็นกับเรื่องที่สอนค่ะ นอกจากนี้ครูยังมีโน้ตเพลงป๊อบสำหรับนักเรียนระดับต้นและโน้ตเพลงคริสมาสต์ให้ดาวน์โหลดฟรีกันด้วยค่ะ หากครูท่านใดหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจก็สามารถลงทะเบียนอีเมลล์เอาไว้ได้ค่ะ ครูก็จะมีสื่อการสอนต่างๆเอามาฝากกันเรื่อยๆ ซึ่งจะให้เฉพาะกับผู้ที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้นค่ะ เพื่อนๆที่ต้องการดาวน์โหลดสื่อการสอนในบทความนี้สามารถดาวน์โหลดได้ด้านล่างนี้เลยค่ะ


1. บรรทัด 5 เส้นขนาดใหญ่

ในการเรียนดนตรีนั้นการอ่านโน้ตถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ เชื่อว่าครูหลายๆคนต้องเคยประสบปัญหาเดียวกันแน่ๆ คือทักษะทางด้านการเล่นของเด็กนั้นล้ำหน้าไปกว่าทักษะการอ่านโน้ตค่อนข้างมาก เมื่อก่อนตอนที่ครูเริ่มสอนใหม่ๆก็จะพยายามให้เด็กอ่านโน้ตเพลงที่เรียนนั่นแหละ อ่านไปเรื่อยๆแล้วก็คิดว่าเดี๋ยวเด็กก็ได้เอง แล้วก็ให้เด็กทำแบบฝึกหัดในหนังสือ Theory ที่เข้าชุดกันกับเล่ม Lesson เช่นหนังสือพวก Notespeller ของ Hal Leonard หรือหนังสือ Theory ของ Alfred จริงๆแล้ววิธีนี้สุดท้ายเด็กก็อ่านโน้ตได้ค่ะแต่ว่าก็ยังอ่านไม่เร็วอยู่ดี

หลังจากนั้นพอเริ่มมีเทคโนโลยีมากขึ้น ครูก็ดาวน์โหลดแอพชื่อ Note Rush มาใช้ (ดูภาพด้านบน) ซึ่งเด็กๆก็ชอบมาก Note Rush นั้นเป็นเกมส์ทายโน้ตซึ่งจะมี theme ต่างๆเช่น halloween, summer, soccer, space และก็อื่นๆอีกหลายอย่างค่ะ เด็กจะกดโน้ตตามที่เห็น ถ้ากดถูกก็จะมีเสียง ติ๊ง ดังขึ้นแล้วก็มีโน้ตใหม่ขึ้นมา ปัญหาของแอพนี้ก็คือเด็กสามารถกดโน้ตได้ถูกแต่เขากลับจำไม่ได้ว่าโน้ตชื่ออะไร และก็ไม่สามารถนับไล่โน้ตบนบรรทัด 5 เส้นได้ถูกต้อง ครูเลยกลับมาใช้วิธีดั้งเดิมที่สุดเลยคือ การใช้บรรทัด 5 เส้นธรรมดาและให้เด็กฝึกเขียน โดยเริ่มต้นคือให้เด็กฝึกเขียนโน้ตจากเส้นสลับกับช่องขึ้นไปเรื่อยๆ ฝึกแบบนี้จนจนคล่อง จากนั้นก็เริ่มสอนเขียนตัว โด และ เร และก็ไล่ขึ้นไปสลับระหว่างช่องกับเส้นให้แม่นที่สุด เพื่อนๆเชื่อมั้ยว่าแค่การเขียนไล่จากโน้ตทับเส้นสลับกับโน้ตทับช่องนั้นเป็นอะไรที่ท้าทายมากเลยทีเดียว เด็กส่วนมากทำไม่ได้ค่ะ ครูก็เลยต้องบอกว่า โน้ตทับเส้น 1 ต่อด้วยโน้ตบนช่อง 1 และทับเส้น 2 ตามด้วยช่อง 2 ทำแบบนี้อยู่หลายครั้งจนเด็กเริ่มเข้าใจค่ะ แล้วก็ค่อยสอนไล่โน้ตอีกที

อีกปัญหาของครูที่มีก็คือ พอครูย้ายมาสอนที่อเมริกา เด็กส่วนใหญ่เรียนการอ่านโน้ตแบบ C D E แทนที่จะเป็นแบบ โด เร มี ซึ่งการเรียนแบบ C D E นั้นทำให้การอ่านโน้ตยากขึ้นไปอีกค่ะเพราะเด็กไล่โน้ตลงไม่คล่อง หากเพื่อนๆเพิ่งเริ่มสอนนักเรียนขอแนะนำว่าให้ใช้เป็นแบบ โด เร มี ค่ะ จะง่ายกับการเรียนมากๆเลย สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่อยากได้บรรทัด 5 เส้นแบบเส้นใหญ่ๆ ทั้งกุญแจซอลและกุญแจฟา รวมถึงบรรทัด 5 เส้นแบบไม่ใหญ่มากไปฝึกกับเด็กๆ ก็สามารถลงทะเบียนและดาวน์โหลดบรรทัด 5 เส้นไปใช้กันได้เลยค่ะ ลงทะเบียนได้ตรงด้านบนของบทความนะคะ

2. แบบฝึกหัดทฤษฏีดนตรี

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเกมส์ฝึกอ่านโน้ตสำหรับเด็กค่ะ อาจจเป็นแบบฝึกหัดที่ให้เด็กระบายสีตามตัวอย่างด้านบนหรือจะเป็นแบบฝึกหัดให้เติมโน้ตหรือโยงเส้นก็สนุกค่ะ เด็กๆจะชอบมากๆทำให้เด็กไม่เบื่อด้วยค่ะ เพราะบางครั้งเวลาที่เด็กเรียน 1 ช.ม. เราจะให้เด็กเล่นเปียโนทั้งชั่วโมงก็ค่อนข้างยากค่ะ เด็กจะเบื่อและก็ไม่อยากเรียนค่ะ การนำแบบฝึกหัดพวกนี้ไปใช้ก็ช่วยได้มากๆเลยค่ะ นอกจากจะทำให้เด็กสนุกแล้วก็ยังทำให้แม่นเรื่องการอ่านโน้ตด้วยค่ะ ครูทำแบบฝึกหัดสไตล์นี้เอาไว้เยอะมากๆเลยค่ะ เพื่อนสามารถดาวน์โหลดไปใช้กับเด็กๆได้ที่ด้านบนของบทความเลยค่ะ

3. หนังสือสำหรับ Sight Reading

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าการอ่านโน้ตนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากๆในการเรียนดนตรี การให้นักเรียนฝึก Sight Reading เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอนั้นช่วยให้นักเรียนฝึกเพลงได้เร็วมากขึ้นและอ่านโน้ตได้เร็วขึ้นมากจริงๆค่ะ เพื่อนๆเคยเจอมั้ยคะที่เวลาที่เราให้เพลงใหม่กับเด็กแล้วเราต้องสอนแบบแทบจะป้อนกันทุกโน้ตเลยก็ว่าได้ การสอนแบบนั้นเหนื่อยมากจริงๆค่ะ แต่หากเราให้นักเรียนฝึก Sight Reading เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอแล้วเนี่ย นักเรียนจะค่อยๆรู้วิธีการฝึกเพลงจากการอ่านโน้ตเองค่ะ

การหัด Sight Reading นั้นเราก็สามารถเริ่มจากโน้ตง่ายๆเช่นโน้ตที่อยู่ใน C position (C-G) และ middle C position ก่อน โดยเริ่มจากโน้ตจังหวะง่ายๆ แบบว่าง่ายมากๆ เช่นโน้ตตัวกลม โน้ตตัวขาวและตัวดำ อย่าเพิ่งให้โน้ตเขบ็จเพราะจะทำให้เด็กงง แบบว่าต้องโฟกัสการอ่านโน้ตแล้วยังต้องโฟกัสการอ่านจังหวะอีก มันก็จะยากเกินไป ให้เน้นเรื่องของการอ่านโน้ตไปก่อน จนเขาเริ่มแม่นใน C position แล้วก็ค่อยๆขยับเพิ่มโน้ตที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆค่ะ ส่วนเรื่องจังหวะนั้นให้ไปแยกสอนต่างหากค่ะ สำหรับหนังสือที่ครูใช้สำหรับ Sight Reading คือหนังสือ A line a day หลังจากที่สอนนักเรียนด้วยหนังสือเล่มนี้แล้ว นักเรียนของครูสามารถ Sight Reading ได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียวค่ะ

4. เครื่องเคาะจังหวะ

นอกจากการอ่านโน้ตแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเรื่องของจังหวะค่ะ จังหวะนั้นเป็นเรื่องที่สอนให้สนุกได้ไม่ยากเลยค่ะ เด็กๆชอบเล่นตบแปะกันอยู่แล้วเราก็สามารถให้เด็กฝึกปรบจังหวะโดยปรบกับครู ปรบที่ตัก ปรบสลับมือก็ทำให้เด็กเล็กๆสนุกได้ไม่ยากค่ะ หรือว่าถ้าใครจะใช้การแทนจังหวะด้วยผลไม้นั้นก็สนุกไม่แพ้กันค่ะ เช่นเราจะเรียกโน้ตตัวดำว่า แพร์ เรียกโน้ตเขบ็จ 1 ชั้นว่า แอปเปิล เรียกโน้ตสามพยางค์ว่า บานานา ครูเขียนบทความการสอนจังหวะเด็กเล็กๆจากผลไม้เอาไว้ หากเพื่อนสนใจสามารถคลิกอ่านบทความได้ ที่นี่ ค่ะ ในบทความนี้เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดเกมส์ไปเล่นกับเด็กๆได้เลยค่ะ

นอกจากวิธีการสอนจังหวะข้างต้นแล้ว สิ่งที่เด็กเล็กๆชอบก็คือการมีอุปกรณ์ในการเคาะจังหวะค่ะ เช่นไม้ตีกลอง แทมบูรีน หรืออาจจะเป็นกระป๋องที่ใส่หินหรือข้าวสารลงไปให้เด็กเขย่าก็ได้ค่ะ เด็กๆจะชอบมากๆเลย นอกจากนี้ก็อย่าลืมใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ด้วย ลองหาแอพฝึกปรบจังหวะในโทรศัพท์มือถือก็ได้ค่ะ เด็กๆก็จะสนุกกับการเรียนจังหวะค่ะ

อีกอย่างที่ขาดไม่ได้เลยคือ เมโทรโนมค่ะ เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดจากโทรศัพท์ก็ได้ แต่สำหรับครูจะชอบใช้เมโทรโนมรุ่นตามภาพด้านล่างค่ะ สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ ที่นี่ ค่ะ เมโทรโนมลักษณะนี้จะมีการแกว่งไม้เหล็กตรงกลางไปทางซ้ายและขวาซึ่งช่วยให้เรามองเห็นได้ดีเวลาที่จังหวะตก นอกจากนี้เสียงก็ดังดีและเสียงก็ไม่แหลมแบบเครื่องดิจิตัลค่ะ

5. ไม้ไอติม

นี่ก็เป็นอีกพร๊อพหนึ่งที่จะทำให้การสอนของเราสนุกมากขึ้น อันนี้ครูไม่ได้คิดเองแต่เห็นฝรั่งเขาทำกันค่ะ ขอยืมภาพมาประกอบด้วยเลยนะคะ เราก็เอาไม้ไอติมมาทำเป็นรูปจังหวะต่างๆแล้วก็ให้เด็กๆฝึกปรบตามกันค่ะ นอกจากนี้เราก็ยังเล่นเกมส์อื่นๆจากไม้ไอติมได้อีกด้วย

อย่างเกมส์นี้เราก็จะเอาไม้ไอติมมาเขียนเป็นแพทเทิร์นของจังหวะที่แตกต่างกันไป แล้วก็เอาใส่ไว้ในขวดโหลให้เแล้วก็ให้นักเรียนจับไม้ไอติมขึ้นมาแล้วก็ปรบจังหวะตามค่ะ ถ้าเอาให้สนุกมากขึ้นก็ให้จับเวลาด้วย เช่นจับเวลา 5 นาที ถ้าเด็กปรบตามไม้ไอติมได้ถูกก็ให้เก็บไม้เอาไว้ พอครบ 5 นาทีก็ให้นับดูว่าได้ไม้ไอติมกี่อัน แล้วก็ลองทำอีกรอบว่าภายใน 5 นาทีได้ไม้ไอติมมากขึ้นหรือไม่ อีกอย่างหนึ่งที่สามารถทำเพิ่มเติมได้ก็คือให้เราเขียนคำว่า Busted! ซึ่งถ้านักเรียนได้ไม้อันนี้จะต้องใส่กลับเข้าไปใหม่ในขวดโหลแล้วก็จับไม้ใหม่ค่ะ อันนี้ครูลองเล่นกับเด็กๆแล้วก็ชอบกันมากๆเลยค่ะ

6. แฟลชการ์ด

สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ แฟลชการ์ดค่ะ สมัยก่อนที่ครูสอนก็จะมีขายอยู่แค่เจ้าเดียวค่ะ เป็นของ Alfred แต่สมัยนี้มีให้เลือกกันมากมายหลายอย่างเลยค่ะ สิ่งที่ครูไม่ค่อยชอบในแฟลชการ์ดของ Alfred ก็คือมันรวมทุกเรื่องเกินไปจนทำให้ไม่สามารถโฟกัสเป็นเรื่องๆกับนักเรียนได้ เวลาที่ต้องการให้นักเรียนฝึกอ่านโน้ตก็หาการ์ดไม่เจอค่ะ ครูว่าจัดเป็นกลุ่มๆเป็นเรื่องๆไปเลยก็น่าจะดีกว่ามากๆเลยค่ะ สำหรับแฟลชการ์ดนั้นครูยังไม่มีให้ดาวน์โหลดค่ะ แต่ก็กำลังมีโปรเจคจะทำอยู่ค่ะ อีกไม่นานก็น่าจะพร้อมให้เพื่อนๆดาวน์โหลดไปใช้กันได้ค่ะ

7. Music Teacher Planner

Music Teacher Planner ก็คือพวกเอกสารที่จะช่วยบันทึกจดจำเกี่ยวกับการสอนดนตรีของเราค่ะ เช่นเอกสารสำหรับตารางการสอน เอกสารสำหรับวางแผนการสอน สมุดการบ้านสำหรับนักเรียน เอกสารสำหรับให้นักเรียนใช้บันทึกการซ้อม และอื่นๆอีกมากค่ะ หากเรามีเอกสารเหล่านี้ครบก็จะทำให้การจัดการต่างๆง่ายขึ้นค่ะพร้อมทั้งทำให้เราดูเป็นมืออาชีพมากขึ้นด้วยค่ะ

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนดนตรีที่ครูคิดว่าน่าจะช่วยให้ครูทุกท่านสอนดนตรีได้ง่ายขึ้นและสนุกมากขึ้นค่ะ จริงๆก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ครูอยากมาแชร์ค่ะ แต่กลัวว่าบทความจะยาวเกินไป เอาไว้วันหลังจะมาแชร์เพิ่มเติมนะคะ