สอนอ่านโน้ตจังหวะเขบ็จสองชั้นแบบละเอียด

จากประสบการณ์สอน 20 กว่าปี ครูเห็นว่านักเรียนหลายๆคนยังเกิดความสับสนในการเล่นจังหวะในกลุ่มเขบ็จสองชั้นมากๆ วันนี้ครูจะมาสอนวิธีการปรบจังหวะเขบ็จสองชั้นทุกแบบอย่างละเอียดค่ะ ส่วนเพื่อนๆคนไหนที่สนใจฝึกอ่านโน้ตสามารถคลิกได้ที่ สอนอ่านโน้ตเปียโนง่ายๆ ละเอียดที่สุด หรือลงเรียนคอร์สออนไลน์ การอ่านโน้ตฉบับสมบูรณ์ ที่ครูตั้งใจทำมากๆเพื่อให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการอ่านโน้ต ซึ่งครูรับรองว่าหลังจากเรียนจบคอร์สแล้วจะสามารถอ่านโน้ตได้อย่างคล่องแคล่วแน่นอนค่ะ

สำหรับเพื่อนๆที่เป็นครูสอนดนตรีเด็กเล็กสามารถคลิกบทความฝึกปรบจังหวะได้จาก การปรบจังหวะจากผลไม้ ซึ่งจะมีความสนุกสนานและสามารถดาวน์โหลดแบบฝึกหัดไปทำกันได้ด้วยค่ะ และหากเพื่อนๆเพิ่งเริ่มหัดปรบจังหวะ ให้ฝึกจาก การปรบจังหวะพื้นฐาน กันก่อนค่ะแล้วค่อยมาอ่านบทความนี้ค่ะ แต่ถ้าเพื่อนๆคนไหนที่ปรบจังหวะพื้นฐานได้แล้ว เราไปต่อกันเลยค่ะ

ก่อนอื่นเราจะมาดูความสัมพันธ์ของจังหวะแต่ละแบบกันก่อนนะคะ

จากรูปเราจะเห็นว่า โน้ตตัวกลมซึ่งมีค่าเท่ากับ 4 จังหวะนั้นจะเท่ากับโน้ตตัวขาว 2 ตัว โน้ตตัวขาว 1 ตัวจะเท่ากับโน้ตตัวดำ 2 ตัว โน้ตตัวดำ 1 ตัวจะเท่ากับโน้ตตัวเขบ็จ 1 ชั้น 2 ตัว และสุดท้ายโน้ตตัวเขบ็จ 1 ชั้น 1 ตัวจะเท่ากับโน้ตเขบ็จ 2 ชั้น 2 ตัวค่ะ เมื่อเราเทียบระหว่างโน้ตตัวดำและตัวเขบ็จสองชั้น เราจะเห็นได้ว่า โน้ตตัวดำ 1 ตัวจะเท่ากับเขบ็จสองชั้น 4 ตัวค่ะ และนี่ก็จะเป็นพื้นฐานในการปรบจังหวะเขบ็จสองชั้นของเราในวันนี้ค่ะ

เขบ็จสองชั้นนั้นจะมีจังหวะ 6 แบบด้วยกัน ซึ่งเราจะมาฝึกปรบมือกันดังนี้ค่ะ

1. การนับจังหวะเขบ็จสองชั้นแบบที่1

วิธีการที่ง่ายที่สุดในการนับจังหวะเขบ็จสองชั้นนั้น เราจะต้องเทียบกับเขบ็จ 1 ชั้นดังรูปด้านล่างก่อนค่ะ

จากรูปด้านบนเราจะเห็นว่าเขบ็จ 1 ชั้นนั้นจะนับ 1 (วัน) และ & (แอนด์) เราจะยึดจังหวะนี้เป็นหลักในการนับนะคะ ทีนี้ให้เพื่อนๆลองดูบรรทัดที่ 2 ที่เป็นเขบ็จ 2 ชั้น จะสังเกตว่าตัวที่ 1 และตัวที่ 3 จะตรงกับจังหวะของ1 และ & ในเขบ็จหนึ่งชั้น เวลาที่เราเล่นโน้ตจังหวะเขบ็จสองชั้นให้เพื่อนๆนับจังหวะ 1 e & a ( วัน- อี- แอนด์ -อะ) นับออกเสียงและปรบจังหวะพร้อมกับทุกตัวที่ออกเสียง เมื่อฝึกได้คล่องแล้วให้ฝึกกับเครื่องเคาะจังหวะ (เมโทรโนม) และปรบทั้งหมด 4 เซ็ตค่ะ

วิธีนับจังหวะของเขบ็จสองชั้นที่ติดต่อกันหลายๆเซ็ตมีดังนี้ค่ะ เราจะนับ1 e & a – 2 e & a – 3 e & a – 4 e & a ตามลำดับค่ะ ดูภาพประกอบจากด้านล่างนะคะ

2. การนับจังหวะเขบ็จสองชั้นชั้นแบบที่ 2

สำหรับเขบ็จสองชั้นแบบที่สองนี้ เราจะพบเจอบ่อยมากๆ ส่วนใหญ่แล้วนักเรียนจะเล่นจังหวะนี้ได้ค่อนข้างดี หากเพื่อนๆสามารถนับจังหวะนี้ได้แล้วก็อย่าเพิ่งผ่านข้อนี้ไปค่ะ เพราะครูจะมาเทียบค่าของมันให้ดู เราจะได้เข้าใจการนับจังหวะนี้ได้แม่นยำมากขึ้นค่ะ

จากรูปด้านบนเราจะเห็นว่าจังหวะเขบ็จสองชั้นแบบที่สองนี้จะตรงกับตัวแรกและตัวสุดท้ายของเขบ็จสองชั้นแบบที่หนึ่ง ซึ่งก็คือตัว 1 และ a หากเราเพิ่งเริ่มฝึกจังหวะนี้ ให้เพื่อนๆฝึกนับโดยนับจังหวะทุกตัวคือ 1 e & a นับเสียงดังๆออกมาทุกตัว จากนั้นเวลาที่เราปรบมือเราจะปรบมือแค่ตัว 1 และ a เท่านั้น หลังจากที่ฝึกจนคล่องแล้ว ให้นับ 1 ออกเสียง จากนั้นนับ e และ & ในใจ สุดท้ายก็นับ a เสียงดังพร้อมกับปรบมือไปด้วยค่ะ หากเพื่อนๆซ้อมกับเครื่องเคาะจังหวะก็จะทำให้แม่นยำมากขึ้นค่ะ วิธีซ้อมกับเครื่องเคาะจังหวะ แรกเริ่มให้เคาะจังหวะทุกตัวเลยคือ เคาะตัว 1 e & a หลังจากฝึกจนคล่องแล้วก็ค่อยเปิดจังหวะเฉพาะจังหวะที่ 1 ค่ะ

3. การนับจังหวะเขบ็จสองชั้นแบบที่ 3

จังหวะเขบ็จสองชั้นแบบที่สามนี้ นักเรียนหลายๆคนมักจะปรบจังหวะไม่เป็น ส่วนใหญ่แล้วจะชอบเดาจังหวะกัน ซึ่งจริงๆแล้วจังหวะนี้ก็ไม่ได้ยากไปกว่าแบบอื่นๆเลย ดูภาพประกอบการปรบจังหวะนี้ด้านล่างได้เลยค่ะ

จากรูปเราจะเห็นว่าจังหวะเขบ็จสองชั้นแบบที่สามนี้ จะเล่นตรงกับจังหวะที่ 1, &, a เวลาที่เราฝึกจังหวะนี้ก็ให้เพื่อนๆนับให้ครบทุกจังหวะก่อนคือ นับ 1 e & a โดยสองสามครั้งแรกให้ปรบจังหวะของด้านล่างก่อน คือปรบทุกตัว จากนั้นเมื่อคล่องแล้วก็ให้ตัดจังหวะ e ออกไปแต่ยังคงออกเสียง e อยู่ เมื่อคล่องขึ้นให้ออกเสียงแค่จังหวะ 1, &, a พร้อมกับปรบมือ ฝึกกับเครื่องเคาะจังหวะจนคล่องเช่นกันค่ะ

4. การนับจังหวะเขบ็จสองชั้นแบบที่ 4

วิธีการปรบจังหวะนี้ก็คล้ายๆกับแบบที่ 3 จะมีข้อแตกต่างเล็กน้อย ดูการเทียบจังหวะได้จากรูปด้านล่างค่ะ

จากรูปด้านบนจะเห็นว่าจังหวะเขบ็จสองชั้นแบบที่ 4 นั้น จะตรงกับตัว 1, e, & วิธีฝึกก็คือให้เพื่อนๆฝึกปรบจังหวะบรรทัดที่ 2 ก่อน โดยพูดออกเสียง 1 e & a ออกมาดังๆแล้วก็ปรบมือพร้อมกับเปล่งเสียงทุกตัว เมื่อปรบมือได้คล่องแล้ว ทีนี้ก็ฝึกปรบมือที่จังหวะด้านบน เราก็เปล่งเสียงออกมาทุกตัวเช่นกันคือตัว 1 e & a แต่เราจะปรบมือตรงคำว่า 1 e & เท่านั้น เมื่อคล่องแล้วก็ปรบมือเขบ็จสองชั้นแบบที่ 4 ติดต่อกันหลายๆชุด โดยนับ 1 e & a – 2 e & a- 3 e & a – 4 e & a และก็เหมือนเดิม ให้ซ้อมกับเครื่องเคาะจังหวะค่ะ

5. การนับจังหวะเขบ็จสองชั้นแบบที่ 5

สำหรับจังหวะนี้เราจะเห็นได้ไม่บ่อยเท่ากับ 4 แบบแรก เพื่อนๆหลายๆคนเมื่อเห็นจังหวะแบบนี้แล้วอาจจะไปกันไม่ถูกเลย จริงๆแล้วจังหวะนี้ก็มีวิธีการปรบแบบเดียวกับจังหวะด้านบน ครูจะเทียบค่าจังหวะให้ดูตามรูปด้านล่างค่ะ

จังหวะเขบ็จสองชั้นแบบที่ 5 นี้จะปรบมือตรงตัว 1 e a วิธีฝึกก็ทำเช่นเดียวกันกับแบบที่ 3 และ 4 คือเราจะฝึกปรบจังหวะด้านล่างก่อนโดยนับ 1 e & a และปรบมือพร้อมกับเวลาที่เราออกเสียงทุกตัว เมื่อปรบจนคล่องแล้วเราก็มาฝึกปรบจังหวะด้านบนกัน โดยให้เพื่อนๆออกเสียง 1 e & a ให้ครบทุกตัว แต่เวลาปรบมือให้เว้นตรงตัว & เอาไว้ เมื่อฝึกจนคล่องแล้วให้ลองออกเสียงแค่ตัว 1 e a โดยตัว & ให้ออกเสียงในใจเท่านั้น

6. การนับจังหวะเขบ็จสองชั้นแบบที่ 6

มาถึงจังหวะสุดท้ายกันแล้วนะคะ สำหรับจังหวะนี้ก็อาจจะพบเจอไม่บ่อยเท่าไหร่ จริงๆอาจพบจังหวะแบบนี้น้อยกว่าแบบที่ 5 อีกด้วย เพื่อนๆหลายๆคนเลยอาจจะไม่ชินกับจังหวะนี้ เดี๋ยวเราไปดูกันว่าจะปรบจังหวะนี้อย่างไรค่ะ

จากรูปด้านบนจะเห็นว่าจังหวะเขบ็จสองชั้นแบบที่ 6 นี้จะตรงกับตัว 1 e วิธีการฝึกก็ให้ฝึกจากจังหวะด้านล่างเช่นกัน เมื่อคล่องแล้วก็ค่อยมาฝึกจังหวะด้านบนค่ะ หลังจากฝึกได้คล่องแล้วให้ปรบจังหวะ 4 เซ็ตติดต่อกัน โดยนับ 1 e & a – 2 e & a- 3 e & a- 4 e & a จนคล่องค่ะ

7. เปรียบเทียบจังหวะเขบ็จสองชั้นทั้ง 6 แบบ

ครูจะเทียบจังหวะทั้ง 6 แบบให้ดูกันตามรูปข้างล่างนะคะ เพื่อนๆจะได้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นค่ะ

8. ฝึกปรบจังหวะแต่ละแบบเป็นเซ็ต

เมื่อเพื่อนๆฝึกการปรบจังหวะแต่ละแบบได้คล่องแล้ว ให้เพื่อนๆปรบเป็นเซ็ต แต่ละแบบก็จะปรบ 4 รอบ เมื่อฝึกจนคล่องแล้วใหัฝึกปรบต่อกันไปตั้งแต่ข้อ 1 – 6 โดยไม่ต้องเบรกแต่ละข้อค่ะ

9. นำจังหวะทั้ง 6 แบบมาผสมกัน

เมื่อเพื่อนๆฝึกปรบจังหวะแต่ละแบบจนคล่องแล้ว ให้นำจังหวะเขบ็จสองชั้นแต่ละแบบมามิกซ์กันเพื่อฝึกปรบจังหวะที่แตกต่างกันค่ะ ครูจะยกตัวอย่างให้เพื่อนๆฝึกปรบมือ 3 แบบนะคะ เมื่อปรบได้คล่องแล้วก็ให้เพื่อนๆสร้างโจทย์เองได้เลยค่ะ

นี่ก็เป็นวิธีฝึกการปรบจังหวะทั้ง 6 แบบที่ครูนำมาขยายความให้กระจ่างขึ้น หวังว่าเพื่อนๆจะเข้าใจเรื่องของจังหวะเขบ็จสองชั้นกันมากขึ้นค่ะ อย่าลืมว่าเพื่อนๆจะต้องฝึกปรบไปด้วยไม่ใช่อ่านเฉยๆนะคะ ไม่อย่างนั้นไม่มีทางปรบจังหวะได้คล่องแน่นอนค่ะ พบกันใหม่กับบทความฉบับหน้าค่ะ


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *