สอนอ่านจังหวะโน้ตดนตรีง่ายๆ

เพื่อนๆที่เริ่มเรียนดนตรี ไม่ว่าจะเรียนกับครูหรือเรียนเองก็จะต้องประสบปัญหาในเรื่องของการอ่านจังหวะกันมาบ้างแน่นอน วันนี้ครูจะมาสอนจังหวะพื้นฐานง่ายๆ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่โน้ตตัวกลมไปจนถึงตัวเขบ็จสองชั้นค่ะ หากเพื่อนๆเข้าใจจังหวะพื้นฐานแล้วสามารถข้ามมาอ่านวิธีการฝึกปรบจังหวะเขบ็จสองชั้นแบบละเอียดได้ ที่นี่ ค่ะ หรือหากเพื่อนๆคนไหนเป็นครูสอนดนตรี สามารถเข้าไปอ่านวิธีการสอนเด็กเล็กปรบจังหวะได้ที่ ฝึกปรบจากหวะจากผลไม้ ในบทความนี้ก็จะมีวิธีการสอนเด็กปรบจังหวะแบบง่ายๆและสนุก เพื่อนๆยังสามารถดาวน์โหลดเกมส์ต่างๆไปฝึกกับเด็กๆได้ด้วยค่ะ

เพื่อนๆที่สนใจฝึกอ่านโน้ตดนตรี สามารถคลิกอ่านได้ที่บทความ สอนอ่านโน้ตเปียโนง่ายๆ-ละเอียดที่สุดได้หรือเช็คคอร์สเรียนออนไลน์เรื่อง การอ่านโน้ตฉบับสมบูรณ์ ในคอร์สจะมีแบบฝึกหัดให้ทำทุกบทและสามารถตรวจคำตอบได้ทันที หลังจากเรียนจบแล้วจะสามารถอ่านโน้ตได้คล่องแน่นอนค่ะ

1. โน้ตตัวกลม (Whole Note)

โน้ตตัวกลมนั้นมีค่าเท่ากับ 4 จังหวะ หมายความว่าถ้าเราเห็นโน้ตตัวกลม ให้เรากดโน้ตหรือร้องโน้ตตัวนั้นและแช่เอาไว้จนครบ 4 จังหวะ ดูตัวอย่างได้จากด้านล่างค่ะ

โน้ตตัวกลม 1 ตัว
โน้ตตัวกลมหลายตัว

2. โน้ตตัวขาว (Half Note)

โน้ตตัวขาวจะมีค่าเท่ากับ 2 จังหวะ ให้เพื่อนๆลองดูชื่อโน้ตที่เป็นภาษาอังกฤษดูนะคะ โน้ตตัวกลมในข้อแรกเรียกว่า whole note แปลว่าทั้งหมด ซึ่งในที่นี้จะมีค่าเท่ากับ 4 จังหวะ ส่วนโน้ตตัวขาวนี้เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า half note ซึ่ง half แปลว่าครึ่งหนึ่ง ดังนั้นครึ่งหนึ่งของ whole note ก็จะเท่ากับ 2 จังหวะนั่นเองค่ะ ดังนั้นโน้ตตัวขาวจะมีค่าเท่ากับ 2 จังหวะ

ลองดูภาพประกอบด้านล่างเพื่อที่จะได้เข้าใจคอนเซ็ปท์ให้ลึกซึ่งมากขึ้น เพราะการอ่านจังหวะในระดับกลางนั้นจะมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก ค่าของจังหวะจะเปลี่ยนไปตาม Time Signature (เครื่องหมายบอกจังหวะ) ดังนั้นครูอยากให้เพื่อนๆศึกษาด้วยความเข้าใจมากกว่าการจำ เวลาที่เราเรียนทฤษฏีในระดับสูงขึ้นจะได้ไม่งงค่ะ

วิธีการเล่นก็คือ เราจะกดโน้ตพร้อมกับนับ 1 จากนั้นให้แช่โน้ตจนครบ 2 จังหวะแล้วยกขึ้นค่ะ ดูรูปประกอบได้จากด้านล่างค่ะ

โน้ตตัวขาว 1 ตัว
โน้ตตัวขาวหลายตัว

3. โน้ตตัวดำ (Quarter Note)

โน้ตตัวดำจะมีค่าเท่ากับ 1 จังหวะ ซึ่งเมื่อเราลองดูชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้นค่ะ คำว่า Quarter แปลว่า 1/4 ซึ่งก็คือ 1/4 ของ Whole Note (ตัวกลมมีค่า 4 จังหวะ) นั่นเอง 1/4 ของ 4 ก็จะทำกับ 1 ดังนั้นโน้ตตัวนี้จึงมีค่าเท่ากับ 1 จังหวะค่ะ

วิธีการเล่นก็กดโน้ตหรือร้องโน้ตแล้วนับ 1 จากนั้นก็แช่ไว้แล้วยกออกก่อนที่จะนับจังหวะที่ 2 ค่ะ

โน้ตตัวดำ 1 ตัว
โน้ตตัวดำหลายตัว

4. โน้ตตัวขาวประจุด (Dotted Half Note)

โน้ตตัวขาวประจุด 1 ตัว
โน้ตตัวขาวประจุดหลายตัว

สำหรับโน้ตตัวนี้จะมีค่าเท่ากับ 3 จังหวะ ครูจะอธิบายเกี่ยวกับจุดให้ละเอียดขึ้นเล็กน้อยดังนี้นะคะ จุดนั้นจะอยู่ด้านข้างของตัวโน้ต (โน้ตสากลนั้นจะมีจุดอีกแบบหนึ่งที่อยู่ด้านล่างหรือด้านบนของตัวโน้ต เรียกว่า staccato ซึ่งแปลว่าให้เล่นสั้นๆ) จุดด้านข้างนี้จะมีค่าเท่ากับครึ่งหนึ่งของโน้ตตัวด้านหน้า จากรูปด้านบน โน้ตตัวหน้าคือโน้ตตัวขาวซึ่งมีค่า 2 จังหวะ ดังนั้นจุดด้านข้างที่มีค่าเท่ากับครึ่งหนึ่งของตัวข้างหน้าก็จะเท่ากับ 1 จังหวะ เมื่อเรานำ 2+1 ก็จะได้เป็น 3 โน้ตตัวนี้จึงมีค่าเท่ากับ 3 จังหวะค่ะ นอกจากตัวขาวประจุดแล้วก็จะมีโน้ตที่ประจุดตัวอื่นๆอีกด้วย คอนเซ็ปท์ในการคิดจังหวะก็เหมือนกันค่ะ ครูจะยกภาพประกอบด้านล่างเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นนะคะ

5. โน้ตเขบ็จ 1 ชั้น (Eighth Note)

โน้ตเขบ็จ 1 ชั้นจะมีค่าเท่ากับ 1/2 จังหวะ หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของตัวดำค่ะ โน้ตตัวนี้เมื่ออยู่เดี่ยวๆก็จะมีลักษณะเหมือนกับรูปภาพด้านบน แต่ถ้าอยู่ด้วยกัน2 ตัวขึ้นไปก็จะจับตัวกัน โดยหางจะชนกันตามภาพด้านล่างค่ะ

ถ้ามีมากกว่า 2 ตัว ไม่ว่าจะ 3 ตัวหรือ 4 ตัว หางก็จะชนกันทุกตัว การนับจังหวะของโน้ตในลักษณะนี้ เราก็จะนับเป็น 1 & เวลาเล่นเราจะเล่นโน้ต 2 ตัวนี้ภายใน 1 จังหวะค่ะ

โน้ตเขบ็จ 1 ชั้น 1 ตัว
โน้ตเขบ็จ 1 ชั้นหลายตัว

6. โน้ตสามพยางค์ (Triplet)

โน้ตสามพยางค์นี้เราจะเล่นโดยการรวบโน้ตทั้ง 3 ตัวนี้ภายใน 1 จังหวะค่ะ ซึ่งวิธีการนับก็จะเป็น 1 & & 2 & & 3 && ไปเรื่อยๆค่ะ ดูภาพดูอย่างประกอบด้านล่างค่ะ

โน้ต 3 พยางค์ 1 ตัว
โน้ต 3 พยางค์หลายตัว

7. โน้ตเขบ็จ 2 ชั้น ( Sixteenth Note)

โน้ตเขบ็จ 2 ชั้นก็จะมีความเร็วมากกว่าโน้ตเขบ็จ 1 ชั้น 1 เท่าตัวค่ะ เวลาเล่นเราจะต้องรวบโน้ตทั้ง 4 ตัวนี้ให้ได้ภายใน 1 จังหวะค่ะ วิธีการนับเราจะใช้คำว่า 1 e & a หรือบางครั้งจะใช้ว่า ทาคาทาคา

โน้ตเขบ็จ 2 ชั้น 1 ตัว
โน้ตเขบ็จ 2 ชันหลายตัว

สำหรับโน้ตเขบ็จ 2 ชั้นนั้น จะมีโน้ตแบบอื่นๆที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งครูเชื่อว่านักเรียนหลายๆคนต้องเคยงงกันมาบ้างว่าแต่ละแบบนั้นเล่นอย่างไร ให้เพื่อนๆดูภาพประกอบด้านล่างนะคะ

แถวด้านซ้ายมือ ครูจะเทียบจังหวะเขบ็จ 1 ชั้นเป็นหลัก ซึ่งจังหวะจะเป็น 1 & เพื่อนๆจะเห็นเส้นสีแดงที่ครูลากจากด้านบนมาด้านล่าง ซึ่งโน้ตทุกตัวที่อยู่ตรงเส้นสีแดงเส้นแรกซ้ายสุดจะอยู่ในจังหวะเดียวกันคือจังหวะที่ 1 ส่วนเส้นที่สองจะตรงกับจังหวะ &

รูปภาพในด้านขวามือก็เช่นกัน เส้นสีแดงจะเป็นตัวเทียบว่าจังหวะแต่ละแบบลงจังหวะที่ 1 และจังหวะ & ตรงไหนบ้าง เวลาเล่นก็ให้เพื่อนๆนับในใจว่า 1 e & a ทุกครั้งเวลาเล่นโน้ตในกลุ่มนี้ค่ะ

ครูจะยกตัวอย่างวิธีการนับจังหวะในกลุ่มนี้มา 1 จังหวะนะคะ ดูภาพประกอบด้านล่างค่ะ เราจะปรบจังหวะของโน้ตบรรทัดที่ 2 เพื่อนๆจะเห็นว่าโน้ตจะตรงกับจังหวะที่ 1, & และ a เวลาเราเล่นก็ให้เรานับดังๆว่า 1 e & a แล้วกดโน้ตแค่ตรงตัวที่ 1 จากนั้นเว้นตรง e และกดอีกทีตรงตัว & และ a สำหรับการเล่นโน้ตแบบอื่นๆในกลุ่มนี้ก็ทำเช่นเดียวกันค่ะ

เพื่อนๆสามารถคลิกอ่าน วิธีการปรบจังหวะเขบ็จสองชั้นทั้ง 6 แบบอย่างละเอียดได้ที่ สอนอ่านโน้ตเขบ็จสองชั้นอย่างละเอียด

8. ตัวหยุด (Rest)

8.1 ตัวหยุดทั้งห้อง (Whole Rest)

สำหรับตัวหยุดนี้เพื่อนๆหลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นตัวหยุด 4 จังหวะ แต่จริงๆแล้วตัวหยุดนี้หมายความว่าหยุดทั้งห้องค่ะ หากเราใช้ตัวหยุดนี้ใน Time Signature (เครื่องหมายบอกจังหวะ) 4/4 ก็จะเท่ากับหยุด 4 จังหวะ หากใช้ใน 3/4 ก็จะแปลว่าหยุด 3 จังหวะ และถ้าใช้ใน 2/4 ก็จะแปลว่าหยุด 2 จังหวะนั่นเองค่ะ

8.2 ตัวหยุด 2 จังหวะ (Half Rest)

ตัวหยุดนี้จะมีหน้าตาคล้ายกับตัวหยุดทั้งห้อง แต่ให้เพื่อนๆจำไว้ว่า ตัวหยุด 2 จังหวะจะมีลักษณะเหมือนหมวกค่ะ

8.3 ตัวหยุด 1 จังหวะ (Quarter Rest)

ตัวหยุดนี้จะมีค่าเท่ากับ 1 จังหวะ หน้าตาจะคล้ายๆกับนกแต่วาดในแนวตั้ง

8.4 ตัวหยุด 1/2 จังหวะ (Eighth Rest)

ตัวหยุดนี้เป็นตัวหยุดสำหรับโน้ตเขบ็จ 1 ชั้นค่ะ

8.5 ตัวหยุด 1/4 จังหวะ (Sixteenth Rest)

ตัวหยุดนี้เป็นตัวหยุดสำหรับโน้ตเขบ็จ 2ชั้นค่ะ

9. อัตราส่วนของจังหวะบนแผนภาพ

วิธีง่ายๆที่จะทำให้เพื่อนๆมองเห็นค่าของโน้ตต่างๆก็คือแผนภาพค่ะ ดูตัวอย่างแผนภาพด้านล่างประกอบค่ะ

ตัวบนสุดคือโน้ตตัวกลมซึ่งมีค่าเท่ากับ 4 จังหวะ โน้ตตัวกลมจะแยกได้เป็นโน้ตตัวขาว 2 ตัว ซึ่งรวมกันได้เท่ากับ 4 จังหวะพอดี โน้ตตัวขาว 1 ตัวจะมีค่าเท่ากับโน้ตตัวดำ 2 ตัว ดังนั้นในบรรทัดที่ 3 จึงมีโน้ตตัวดำ 4 ตัวซึ่งเท่ากับ 4 จังหวะ บรรทัดที่ 4 โน้ตตัวดำ 1 ตัวจะมีค่าเท่ากับโน้ตตัวเขบ็จ 1 ชั้น 2 ตัว เมื่อมองเทียบกับโน้ตตัวกลมซึ่งมีค่าเท่ากับ 4 จังหวะ เราจะต้องเขียนโน้ตตัวเขบ็จ 1 ชั้น 8 ตัวถึงจะมีค่าเท่ากับโน้ตตัวกลม 1 ตัวค่ะ

นี่ก็เป็นตัวอย่างจังหวะพื้นฐานที่เราจะเจอกันบ่อยๆเวลาเล่นเพลงค่ะ สำหรับจังหวะที่ครูสอนนี้จะใช้กับเครื่องหมายบอกจังหวะที่เป็นแบบธรรมดาหรือเรียกว่า simple time ค่ะ ซึ่งได้แก่จังหวะที่มีเครื่องหมายบอกจังหวะเป็น 2/4, 3/4, 4/4 แต่หากเป็นจังหวะแบบ compound time ค่าของจังหวะจะเพิ่มขึ้น 1 เท่าค่ะ บทความนี้ครูจะไม่ได้อธิบายเกี่ยวกับเครื่องหมายกำหนดจังหวะ บทความหน้าครูจะมาสอนอย่างละเอียดค่ะ สิ่งสำคัญคือให้เพื่อนๆทำความเข้าใจจังหวะพื้นฐานเหล่านี้ก่อน เมื่อคล่องแล้วเราค่อยมาดูเรื่องของเครื่องหมายกำหนดจังหวะกันอีกทีค่ะ พบกันใหม่กับบทความฉบับหน้าค่ะ


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *