เด็กๆคนไหนสนใจเรียนต่อทางด้านดนตรีในระดับมหาวิทยาลัย วันนี้ครูมีรายละเอียดเกี่ยวกับการสมัครสอบเข้าที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ค่าเทอม การขอทุน ที่พัก และเรื่องอื่นๆอีกมากมาย ถ้าสนใจอยากเรียนต่อที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล อย่าพลาดอ่านบทความนี้ค่ะ
- ระดับปริญญาตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล มีสอนกี่ระดับและสาขาอะไรบ้าง
- กำหนดการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล
- ขั้นตอนการสมัครสอบเข้าเรียนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล
- สอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ต้องสอบอะไรบ้าง
- สอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ต้องเตรียมตัวอย่างไร
- ค่าเทอมของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ราคาเท่าไหร่
- ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดลทุน มีทุนการศึกษาไหม
- วิทยาลัยดุริยางคศิลป์อยู่อันดับที่เท่าไหร่ในระดับนานาชาติ
- จะพักที่ไหนเมื่อเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล
- วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงหรือไม่
- ตัวอย่างผลงานศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล
ครูได้ทำตารางเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยดนตรี 5 แห่งในอีกบทความหนึ่ง สามารถคลิกดูได้ที่นี่ เรียนดนตรีมหาวิทยาลัยไหนดี- เปรียบเทียบ ม. ดนตรี 5 แห่ง
ครูเขียนบทความ เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยดนตรีต้องสอบทฤษฎีดนตรีเรื่องอะไรบ้าง สามารถคลิกอ่านกันได้เลยค่ะ
ระดับปริญญาตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล มีสอนกี่ระดับและสาขาอะไรบ้าง
ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล เปิดสอนในหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี รับนักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.4 เป็นการเรียนแบบโรงเรียนประจำ หลักสูตรปริญญาตรี มีทั้งหมด 9 สาขา หลักสูตรปริญญาโท (ภาคไทย) มี 4 สาขา หลักสูตรปริญญาโท (นานาชาติ) มี 5 สาขา และหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต(ภาคไทย) มี 2 สาขา หลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต(นานาชาติ) มี 3 สาขา
หลักสูตร | สาขาที่เปิดสอน |
ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 | มี 4 สาขาดังนี้ การแสดงดนตรีคลาสสิค, ดนตรีแจ๊ส, การประพันธ์ดนตรี, ดนตรีไทย |
ระดับปริญญาตรี | มี 9 สาขาดังนี้ หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี – หลักสูตรปริญญาตรี มี 9 สาขาดังนี้ – ปฏิบัติดนตรีคลาสสิค, ดนตรีแจ๊ส, การประพันธ์ดนตรี, ละครเพลง, ดนตรีสมัยนิยม, ดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก, ธุรกิจดนตรี, เทคโนโลยีดนตรี, ดนตรีศึกษาและการสอน |
ระดับปริญญาโท (ภาคไทย) | มี 4 สาขาดังนี้ 4 สาขา คือ ดนตรีวิทยา, ดนตรีศึกษา, ธุรกิจดนตรี, ดนตรีบำบัด |
ระดับปริญญาโท (หลักสูตรนานาชาติ) | มี 5 สาขาดังนี้ การแสดงดนตรีและการสอนดนตรี, การประพันธ์และทฤษฎีดนตรี, การอำนวยเพลง, การบรรเลงเปียโนประกอบ, ดนตรีแจ๊ส |
ระดับปริญญาเอก (ภาคไทย) | มี 2 สาขาดังนี้ ดนตรีวิทยา, ดนตรีศึกษา |
ระดับปริญญาเอก (นานาชาติ) | มี 3 สาขาดังนี้ การแสดงดนตรีและการสอนดนตรี, การประพันธ์และทฤษฎีดนตรี, การอำนวยเพลง หมายเหตุ: ในปี 2566 เปิดสาขาดนตรีแจ๊สเพิ่ม |
สามารถอ่านเพิ่มเติม เอกดนตรีเรียนอะไรบ้างในระดับมหาวิทยาลัย บทความนี้ครูเขียนจากประสบการณ์ตรงในฐานะที่เคยเป็นนักศึกษาที่ม.มหิดลค่ะ
กำหนดการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล
การสอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล มีทั้งหมด 4 รอบ ขายใบสมัครตั้งแต่เดือนสิงหาคมของทุกปี
รอบที่ 1 ปิดรับสมัครเดือนกันยายน
รอบที่ 2 ปิดรับสมัครเดือนพฤศจิกายน
รอบที่ 3 ปิดรับสมัครเดือนกุมภาพันธ์
รอบที่ 4 ปิดรับสมัครเดือนมีนาคม
นักเรียนสามารถสมัครสอบได้ตามลิงค์นี้ค่ะ MS Admission 2022 -ส่งเอกสารการสมัคร (Application documents Submission) (google.com) และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Admission / Bachelor – Mahidol Music
ขั้นตอนการสมัครสอบเข้าเรียนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล
ขั้นตอน | รายละเอียด |
1. สมัครสอบ | 1. เลือกเมนูสมัครสอบ (Apply Now) 2. ดำเนินการตามขั้นตอนสมัครออนไลน์ (กรอกข้อมูลในระบบและชำระค่าสมัครสอบ 1,500 บาท) 3. ส่งเอกสารประกอบการสมัคร ในรูปแบบไฟล์ pdf มาที่ MS Admission 2022 -ส่งเอกสารการสมัคร (Application documents Submission) (google.com) |
2. การติดตามการสอบและประกาศต่างๆ | ติดตามสถานะการสมัครสอบ ประกาศและข้อมูลต่างๆทุกขั้นตอนทาง online ด้วยรหัสสมัครสอบ (log-in, COMMAS) |
3. สถานที่สอบ | online test |
สอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ต้องสอบอะไรบ้าง
เราไปดูกันดีกว่าว่าการสอบเข้าที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดลนั้นเราต้องสอบวิชาอะไรกันบ้าง
การสอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล จะมีสอบภาควิชาทั้งหมดดังนี้ (นักเรียนไม่จำเป็นต้องสอบทุกข้อแต่เลือกสอบตามข้อกำหนดของสาขาที่เลือกเรียน) 1. สอบปฏิบัติดนตรี 2. สอบทฤษฎีดนตรีไทย 3. สอบทฤษฎีดนตรีสากล 4. สอบโสตทักษะ 5. สอบสัมภาษณ์ 6. สอบวิชาเฉพาะสาขาวิชา (ข้อเขียน)7. สอบวิชาเฉพาะสาขาวิชา (ปฏิบัติกลุ่ม)
สาขาวิชา | วิชาที่ต้องสอบ |
ปฏิบัติดนตรีคลาสสิค | 1. ปฏิบัติดนตรี 2.โสตทักษะ : เกรด 12 3. ทฤษฎีดนตรีสากล : เกรด 12 4. สัมภาษณ์ * |
ดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก | 1. ปฏิบัติดนตรี 2.ทฤษฎีดนตรีไทย : เกรด 12 3. ทฤษฎีดนตรีสากล : เกรด 5 4. สัมภาษณ์ * |
ดนตรีแจ๊ส | 1. ปฏิบัติดนตรี 2.โสตทักษะ : เกรด 12 3.ทฤษฎีดนตรีสากล : เกรด 12 4. สัมภาษณ์ * |
ดนตรีสมัยนิยม | 1. ปฏิบัติดนตรี 2. โสตทักษะ : เกรด 12 3. ทฤษฎีดนตรีสากล : เกรด 12 4. สัมภาษณ์ * |
ละครเพลง | 1. ปฏิบัติดนตรี 2 โสตทักษะ : เกรด 12 3.ทฤษฎีดนตรีสากล : เกรด 12 4. สัมภาษณ์ * |
การประพันธ์ดนตรี | 1.ส่งผลงานการประพันธ์ 2 ชิ้น และทดสอบผลงาน 2. วิชาเฉพาะสาขาวิชา (ข้อเขียน) 3.โสตทักษะ : เกรด 12 4.ทฤษฎีดนตรีสากล : เกรด 12 |
ดนตรีศึกษาและการสอน | 1. ปฏิบัติดนตรี 2. วิชาเฉพาะสาขาวิชา (ข้อเขียน) 3. วิชาเฉพาะสาขาวิชา (ปฏิบัติกลุ่ม) 4.โสตทักษะ : เกรด 12 5.ทฤษฎีดนตรีสากล : เกรด 12 6. สัมภาษณ์ * |
ธุรกิจดนตรี | 1. ปฏิบัติดนตรี 2. วิชาเฉพาะสาขาวิชา (ข้อเขียน) 3.โสตทักษะ : เกรด 12 4.ทฤษฎีดนตรีสากล : เกรด 12 5. สัมภาษณ์ * |
เทคโนโลยีดนตรี | 1. ปฏิบัติดนตรี 2. วิชาเฉพาะสาขาวิชา (ข้อเขียน) 3.โสตทักษะ : เกรด 12 4.ทฤษฎีดนตรีสากล : เกรด 12 5. สัมภาษณ์ * |
หมายเหตุ : * หมายถึง กรณีมีรายชื่อประกาศว่าเป็นผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์
- สาขาวิชาดนตรีศึกษาและการสอน, วิชาดนตรีปฏิบัติ เลือกสอบ 1 เครื่องดนตรีตามสไตล์ที่เลือก ดังนี้ คลาสสิค ไทย แจ๊ส ป๊อบ
- สาขาวิชาธุรกิจดนตรีและเทคโนโลยีดนตรี วิชาปฏิบัติดนตรีเลือกสอบ 1 เครื่องดนตรีตามสไตล์ที่เลือก ดังนี้ คลาสสิค ไทย แจ๊ส ป๊อบ ละครเพลง
เพื่อนๆที่สนใจสอบเข้า ม. มหิดลแต่ยังไม่มีความรู้เรื่องการอ่านโน้ต สามารถลงเรียน คอร์สการอ่านโน้ตฉบับสมบูรณ์ ในบทเรียนจะมีแบบฝึกหัดให้ฝึกมากกว่า 1000 ข้อ หลังจบคอร์สแล้วรับรองว่าจะอ่านโน้ตได้คล่องมากๆ เลยค่ะ และเพื่อนๆที่สนใจอยากเรียนเปียโนพื้นฐาน สมัครเรียน คอร์สเล่นเปียโนได้ใน 10 วันได้เลยค่ะ
สอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ต้องเตรียมตัวอย่างไร
สำหรับการสอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดลนั้น เพื่อนๆต้องเตรียมตัวกันพอสมควรเลยค่ะเพราะมีการสอบแข่งขันกันสูงมาก โดยเรื่องที่เราจะต้องเตรียมตัวมีดังนี้ค่ะ
การสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล นักเรียนจะต้องเตรียมตัว 3 เรื่องได้แก่ 1. ในเรื่องของการสอบปฏิบัติของเครื่องดนตรีที่เลือก 2. การเตรียมตัวสอบภาคทฤษฎี ซึ่งจะแบ่งเป็นทฤษฎีดนตรีและโสตทักษะ จะมีการจัดสอบวัดระดับที่ศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทย (TIME) 3. เตรียมตัวสอบวิชาเฉพาะทาง การสอบเฉพาะทางจะมีเฉพาะบางสาขาวิชาเท่านั้น
การสอบปฏิบัติ : คือการสอบการเล่นเครื่องดนตรีเอก นักเรียนส่วนใหญ่ที่ได้รับคัดเลือกจะใช้เวลาเตรียมตัวกันหลายปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเครื่องดนตรีที่เลือกด้วย ตัวอย่างเช่นเปียโน นักเรียนส่วนมากที่เลือกเรียนเปียโนจะเริ่มเรียนกันตั้งแต่ยังเด็กและมีส่วนมากมีการสอบวัดระดับหรือเดินสายประกวด ดังนั้นมาตรฐานในการสอบจึงสูงมาก ที่ครูรู้เพราะครูเคยสอนที่มหิดลและเป็นกรรมการสอบอยู่บ่อยครั้ง ส่วนมากนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนระดับเตรียมอุดมดนตรีจะสอบผ่านเกรด 8 จากสถาบัน Trinity หรือ Royal กันมาแล้ว ซึ่งเกรด 8 ถือว่าเป็นระดับสูงของการสอบเลยทีเดียว
หากนักเรียนคนไหนที่เพิ่งเริ่มเรียนเปียโนได้ไม่นานเท่าไหร่ ครูจะแนะนำให้เลือกเรียนสายที่ไม่เน้นทางด้านการแสดง เช่น สายธุรกิจดนตรี เทคโนโลยีดนตรีหรือการประพันธ์ดนตรี สายการเรียนเหล่านี้จะเน้นการเล่นดนตรีน้อยกว่าสายการแสดง กรรมการจะเลือกโดยพิจารณาจากความสามารถด้านอื่นประกอบนอกเหนือไปจากการเล่นดนตรีค่ะ และเกณฑ์การวัดคะแนนปฏิบัติดนตรีจะต่ำกว่าสาขาการแสดง
แต่ถ้าใครอยากเรียนด้านการแสดงจริงๆให้เลือกไปเรียนดนตรีสมัยนิยมหรือละครเพลงก็จะดีกว่าเลือกสายทางด้านคลาสสิคหรือแจ๊สค่ะ เพราะสองสายนี้นักเรียนที่สอบเข้าจะเตรียมตัวกันมาอย่างหนักมากและเกณฑ์การวัดคะแนนสอบปฏิบัติจะสูงกว่าด้วยค่ะ
การสอบปฏิบัตินั้นจะมีสอบเล่นเพลง จำนวนเพลงนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละภาควิชาค่ะ และก็จะมีสอบในส่วนของการเล่นเทคนิค เช่นสเกล อาร์เพจจิโอ ในสาขาแจ๊สและดนตรีร่วมสมัยอาจจะมีการสอบ Improvisation (การด้นสด) และก็จะมีการสอบ sight reading (การเล่นโดยไม่เคยเห็นโน้ตมาก่อน)
การสอบภาคทฤษฎี : การสอบภาคทฤษฎีนี้ก็จะมีการสอบทฤษฎีดนตรีและโสตทักษะ ซึ่งสอบง่ายกว่าการสอบปฏบัติเยอะมากๆค่ะ นักเรียนไม่ต้องใช้เวลาเตรียมตัวเยอะเท่ากับการสอบปฏิบัติ เราสามารถติวกับครูที่สอนเครื่องดนตรีเอกอยู่แล้ว หรือลงเรียนคอร์สออนไลน์ การอ่านโน้ตฉบับสมบูรณ์ เพื่อจะได้ปูพื้นฐานเรื่องการอ่านโน้ตให้แม่นยำ หรือจะเรียนกับสถาบันที่ติวทางด้านนี้โดยตรงอย่างศูนย์ศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ค่ะ สามารถเช็คข้อมูลของศูนย์นี้ได้จากลิงค์นี้ค่ะ College of Music, Mahidol University, Thailand (mcgp-mahidol.com)
นักเรียนที่สอบภาคทฤษฎีจะต้องสอบเทียบเกรดจาก “ศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทย (TIME)” ซึ่งจะมีการสอบทั้งหมด 5 รอบต่อปี สามารถดูรายละเอียดการสอบได้จากลิงค์นี้เลยค่ะ ศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทย หรือThailand International Music Examination (TIME) (timemusicexam.com)
สำหรับนักเรียนที่ไม่ได้สอบหรือสอบไม่ผ่านเกรดที่กำหนดจาก TIME แต่สอบผ่านภาคปฏบัติ ทางวิทยาลัยดุริยคศิลป์ก็จะรับเข้าเป็นนักศึกษาแบบมีเงื่อนไข ซึ่งนักเรียนจะต้องไปลงคอร์สเรียนเพื่อปรับพื้นฐานภาคทฤษฎีดนตรีเพิ่มค่ะ
วิชาเฉพาะสาขา : สำหรับวิชาเฉพาะสาขานั้นเพื่อนๆอาจจะสอบถามจากทางคณะเลยว่ามีอาจารย์ท่านไหนสามารถติวได้หรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยก็จะสอนส่วนตัวในวันเสาร์อาทิตย์ที่บ้านค่ะ ถ้านักเรียนอยากจะติวให้ตรงจุดก็ถามกับทางคณะเลยก็จะดีที่สุดค่ะ
ค่าเทอมของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ราคาเท่าไหร่
หลายๆคนที่อยากเรียนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัยคงจะอยากรู้ว่าค่าเทอมของที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์นั้นแพงไหม เพราะที่นี่เป็นที่ร่ำลือว่าแพงมากๆ เดี๋ยวเราไปดูกันค่ะ
ค่าเทอมของที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดลจะอยู่ระหว่าง 107,900 – 209,700 ต่อปี และตลอดภาคการศึกษา 4 ปีจะอยู่ระหว่าง 626,100 – 732,100 ทั้งนี้ค่าเทอมจะขึ้นอยู่กับสาขาที่เลือกเรียนและเครื่องดนตรีที่เลือกเรียนด้วย สาขาที่แพงที่สุดคือ ดนตรีปฏิบัติ และสาขาที่ถูกที่สุดคือ เทคโนโลยีดนตรีและธุรกิจดนตรี
ดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก (Thai and Eastern Music)
Major | Year 1 | Year 2 | Year 3 | Year 4 | ตลอดหลักสูตร |
Thai and Eastern Music | 183,500 | 167,300 | 177,400 | 159,900 | 688,100 |
ดนตรีสมัยนิยม (Popular Music)
Major | Year 1 | Year 2 | Year 3 | Year 4 | ตลอดหลักสูตร |
Popular Music | 183,500 | 180,800 | 178,800 | 141,000 | 684,100 |
ละครเพลง (Musical Theater)
Major | Year 1 | Year 2 | Year 3 | Year 4 | ตลอดหลักสูตร |
Musical Theater | 204,300 | 190,800 | 177,300 | 155,700 | 728,100 |
เทคโนโลยีดนตรี (Music Technology)
Major | Year 1 | Year 2 | Year 3 | Year 4 | ตลอดหลักสูตร |
Music Technology (Western Music) | 197,000 | 167,400 | 153,800 | 107,900 | 626,100 |
Music Technology (Western Music) • String (except Harp) • Woodwind • Brass • Voice • Voice Musical Theater | 206,200 | 177,400 | 153,800 | 107,900 | 646,100 |
Music Technology (Thai Music) | 107,900 | 170,100 | 148,400 | 110,600 | 626,100 |
ดนตรีศึกษาและการสอน (Music Education and Pedagogy)
Major | Year 1 | Year 2 | Year 3 | Year 4 | ตลอดหลักสูตร |
Music Education and Pedagogy (Western Music) | 196,300 | 174,800 | 174,800 | 105,200 | 651,100 |
Music Education and Pedagogy (Western Music) • String (except Harp) • Woodwind • Brass • Voice | 206,300 | 184,800 | 174,800 | 105,200 | 671,100 |
Music Education and Pedagogy (Thai Music) | 196,300 | 177,500 | 166,700 | 110,600 | 651,100 |
การประพันธ์เพลง (Music Composition)
Major | Year 1 | Year 2 | Year 3 | Year 4 | ตลอดหลักสูตร |
Music Composition | 183,500 | 175,400 | 178,200 | 137,000 | 674,100 |
ธุรกิจดนตรี (Music Business)
Major | Year 1 | Year 2 | Year 3 | Year 4 | ตลอดหลักสูตร |
Music Business (Western Music) | 199,700 | 178,200 | 145,700 | 102,500 | 626,100 |
Music Business (Western Music) • String (except Harp) • Woodwind • Brass • Voice • Voice Musical Theater | 209,700 | 188,200 | 145,700 | 102,500 | 646,100 |
Music Business (Thai Music) | 107,900 | 180,900 | 137,600 | 107,900 | 626,100 |
ปฏิบัติดนตรีคลาสสิค (Classic Performance)
Major | Year 1 | Year 2 | Year 3 | Year 4 | ตลอดหลักสูตร |
Classical Music Performance: Guitar, Piano, Harp, Percussion | 183,500 | 164,600 | 182,800 | 161,200 | 692,100 |
Classical Music Performance: String (except Harp), Woodwind, Brass | 193,500 | 174,600 | 192,800 | 171,200 | 732,100 |
Classical Music Performance: Voice | 196,200 | 180,000 | 182,000 | 173,900 | 732,100 |
ดนตรีแจ๊ส (Jazz)
Major | Year 1 | Year 2 | Year 3 | Year 4 | ตลอดหลักสูตร |
Jazz | 188,900 | 186,200 | 168,000 | 141,000 | 684,100 |
ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล มีทุนการศึกษาไหม
ค่าเทอมของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์นั้นไม่ใช่น้อยเลย เรียกได้ว่าแพงที่สุดเมื่อเทียบกับสถาบันอื่นๆ เลยค่ะ แต่ไม่ต้องกังวลค่ะเพราะที่นี่เค้ามีทุนให้เยอะมากเลยค่ะ เดี๋ยวเราไปดูกันดีกว่าว่ามีทุนอะไรบ้าง
ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล มีทุนการศึกษาให้นักศึกษามากมาย ทั้งนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และนักศึกษาที่มีความโดดเด่นในการเล่นดนตรีและผลการเรียนดี รวมถึงมีทุนการศึกษานักเรียนที่ช่วยกิจกรรมและทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในระดับสากล และมีทุนกู้ยืมสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
1.General Prem Scholarship Fund – ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา หรือเป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษทางดนตรีที่โดดเด่น
2. Merit Scholarship – ทุนนี้จะมอบให้สําหรับนักศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาและปริญญาตรีทุกสาขาวิชาที่มีผลสอบทางการเรียนหรือเกรดดีตามเกณฑ์ที่กําหนด
3. Special Instrument Scholarship – เป็นทุนการศึกษาแบบต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการมอบทุนการศึกษาไม่เกินปีละ2 ทุน สําหรับนักศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาและระดับปริญญาตรีในทุกสาขาวิชา (นักศึกษาต้องเลือกเครื่องดนตรี) ค่าเล่าเรียนจะได้รับการยกเว้นเป็นเวลาหนึ่งปีการศึกษา หลังจากเสร็จสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีจะมีการประเมินผลว่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่
4. Bursaries Scholarship – ทุนการศึกษานี้สําหรับนักศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาและปริญญาตรีในทุกสาขาวิชาที่มีความประพฤติดีแต่ขาดทุนทรัพย์ ซึ่งแสดงความเต็มใจที่จะช่วยงานและกิจกรรมของวิทยาลัย วิทยาลัยจะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปว่านักเรียนคนใดเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลสําหรับทุนการศึกษานี้
5. Thaibev Thaitalent Scholarship – ทุนการศึกษานี้สําหรับนักเรียนทุกระดับการศึกษาที่มีความสามารถด้านดนตรีโดยทางวิทยาลัยจะส่งเสริมในด้านต่อไปนี้: ทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพสู่มาตรฐานสากล /ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่เข้าแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ /ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับเชิญไปแสดงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ โดยสนับสนุนในเรื่องของ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่พักและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
6. Student Loan Fund – กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษาด้านการศึกษา เช่น ค่าเล่าเรียน และค่าครองชีพที่จําเป็นอื่น ๆ ในระหว่างภาคการศึกษา นักศึกษาจะต้องชําระคืนเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยต่ําเมื่อเรียนจบ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โทร. 02-610- 4888 หมายเหตุ : นักเรียนสามารถค้นหาตารางกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และรายละเอียดเพิ่มเติมในระบบ COMMAS สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-800-2525-34 ต่อ 1129
7. Oversea Scholarship / Exchange Student – สําหรับทั้งคณาจารย์และนักศึกษาที่มีความสนใจในการขอทุนการศึกษา สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สํานักวิเทศสัมพันธ์ ห้อง C207 ห้องสมุดดนตรีจิ๋วบางซื่อ หรือส่งอีเมลที่ [email protected] โอกาสทุนการศึกษานี้สามารถพบได้ในช่องทางอื่น ๆ เช่นหน้า Facebook ของ MS เว็บไซต์ MS และ COMMAS
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์อยู่อันดับที่เท่าไหร่ในระดับนานาชาติ
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ติดอันดับ 47 ของมหาวิทยาลัยโลก ในสาขา Performing Arts โดย QS World University Subject Rankings 2021 ซึ่งเป็นครั้งแรกในสาขา Performing Arts โดยคิดคะแนนจากความมีชื่อเสียงด้านดนตรีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ขอแสดงความยินดีกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้เข้าสู่อันดับ Top 50 ครั้งแรกในสาขา Performing Arts โดยเกณฑ์การจัดอันดับนั้นคิดคะแนนจากความมีชื่อเสียงด้านดนตรีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ครูขออนุญาตยกคำพูดของ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ที่ให้ไว้ในบทสัมภาษณ์ของมติชนออนไลน์ว่า
“วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานความเป็นเลิศ และการพัฒนาการเรียนการสอนด้านดนตรีอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากความสำเร็จในการได้รับการรับรองคุณภาพจากสถาบัน MusiQuE (Music Quality Enhancement) องค์กรด้านการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาดนตรีในภูมิภาคยุโรป โดยเริ่มด้วยการได้รับการรับรองในระดับสถาบันก่อนซึ่งวิทยาลัยฯ ได้รับผลการประเมินว่าเป็น “สถาบันที่มีความเป็นเลิศเป็นอย่างยิ่ง (Truly Exceptional Institution)” และต่อมาก็ได้รับการรับรองคุณภาพของหลักสูตรปริญญาตรี ดุริยางคศาสตรบัณฑิต: ดศ.บ (Bachelor of Music: B.M.) และปริญญาโทในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (Master of Arts: M.A.) และ ดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต (Master of Music: M.M.) โดยได้รับผลประเมินที่ดีเยี่ยมในทุกๆ มาตรฐานการประเมินของยุโรป ซึ่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ยังคงทำงานอย่างหนัก เพื่อขอรับการรับรองหลักสูตรในระดับดุษฎีบัณฑิตต่อไป โดยมีกำหนดการเข้าตรวจประเมินโดย MusiQuE ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ “
การที่มีวิทยาลัยดนตรีในเมืองไทยติดอันดับ Top 50 ของโลกนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ครูในฐานะศิษย์เก่าของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มีความภูมิใจที่ครั้งหนึ่งได้เคยเป็นศิษย์ของสถาบันนี้
จะพักที่ไหนเมื่อเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดลมีหอพักนักศึกษาหลายหอพัก ซึ่งบางแห่งอยู่ไม่ไกล สามารถเดินไปวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้ ห้องพักเหล่านี้สามารถจองผ่านสํานักงานกิจการนักศึกษา(อาคาร A) นอกจากนี้ยังมีอพาร์ทเม้นท์นอกวิทยาลัย ที่อยู่ในย่านศาลายา ซึ่งบางที่อยู่ใกล้จนสามารถเดินไปที่คณะได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถเช่าบ้านด้านหน้าหรือด้านหลังวิทยาลัยร่วมกับเพื่อนๆก็ได้เช่นกัน
หอพักในตอนนี้ครูไม่รู้ว่าราคาอยู่ที่เท่าไหร่แล้วค่ะ แต่ตัวเลือกนี้ก็จะถูกที่สุดค่ะ ใครสนใจสามารถเช็คได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ หอพักนักศึกษา – Mahidol University อีกตัวเลือกหนึ่งที่อยู่ในมหาวิทยาลัยก็คือ คอนโดค่ะ ราคาหมื่นต้นๆแต่ห้องใหญ่อยู่พอสมควร มีทั้งหมด 4 ตึก บางคอนโดจะมี 2 ห้องนอนและก็มีห้องนั่นเล่นให้ด้วย ส่วนมากนักศึกษาก็จะเช่าอยู่รวมกันและหารค่าเช่ากันค่ะ
สำหรับราคาหอพักนอกมหาวิทยาลัยก็มีตั้งแต่ 2,xxx ซึ่งสภาพห้องของหอพักราคานี้ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ค่ะ แบบว่ามีกลิ่นเหม็นอับด้วยค่ะ ห้องน้ำก็ไม่สะอาด เรทราคาที่ถือว่าห้องใช้ได้เลยก็จะมีราคาประมาณ 6,000 บาทขึ้นไป ราคานี้ก็จะมีหอพักทั้งด้านหน้าและด้านหลังมหาวิทยาลัยให้เลือกได้ ถ้าเลือกหลังมหาวิทยาลัยการเดินทางอาจจะไม่สะดวกเท่าไหร่ค่ะ ราคาหอนอกก็จะมีไปจนถึงหลักหมื่นค่ะ
นอกจากนี้ก็จะมีบ้านพักเป็นหลังๆด้วยค่ะ ก็มีทั้งหน้าม.และหลังม. ทั้งทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยว เมื่อก่อนบ้านเดี่ยวราคา 6,000 บาท แต่เดี๋ยวนี้น่าจะขึ้นไปถึง 9,000 บาทแล้วค่ะ
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงหรือไม่
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงมากมายไม่ว่าจะเป็น เอกชัย เจียรกุล นักกีตาร์ที่ได้รางวัลที่ 1 จากการแข่งขัน GFA ซึ่งเป็นการแข่งขันกีตาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เก่ง ธชย ประทุมวรรณ ผู้เข้าแข่งขัน The Voice เบน ชลาทิศ จากค่ายเบเกอรี, ดอจ์ด มุขพล จากวง Bogie Dodge, พลอย ชลธิชา จาก The Voice พัดชา จาก Fantasia Academy และอื่นๆอีกมากมาย
เอกชัย เจียรกุล เป็นคนไทยและคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขันกีตาร์ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด “Guitar Foundation of America” (GFA) ในปี 2014
ธชย ประทุมวรรณ ผู้เข้าแข่งขันในรายการ “The Voice Thailand”
เบน ชลาทิศ ออกอัลบั้มกับค่ายเบเกอรี่ โดยมีเพลงที่ดังเป็นพลุแตกอย่าง “คนข้างล่าง”
ณัฐพร ธรรมาธิ ชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขันร้องเพลงรายการ ” University Category in the 11th Osaka International Music Competition, Osaka, Japan in October 2010″
ตัวอย่างผลงานศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล
หากมีคนถามครูว่า ครูคิดว่าวิทยาลัยดนตรีดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถานศึกษาที่ดีมั้ย ครูขอตอบเลยว่า ที่ครูมีความรู้ความสามารถจนประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้เป็นอย่างดี ล้วนแล้วแต่มาจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ได้ตั้งใจสอนอย่างเต็มที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นสถาบันที่ไม่หยุดพัฒนา มักจะเชิญอาจารย์จากต่างประเทศเพื่อมามาสเตอร์คลาสตลอดเวลาและมีกิจกรรมทางด้านดนตรีสม่ำเสมอ มีการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย อุปกรณ์การเรียนการสอนเรียกได้ว่าดีที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันนี้มีศิษย์เก่ามากมายที่ออกไปสร้างชื่อเสียงทั้งในไทยและต่างประเทศ ใครที่สนใจอยากเรียนต่อทางด้านดนตรี ก็ควรพิจารณาวิทยาลัยนี้เป็น Top 5 ด้วยค่ะ
หากเพื่อนๆอ่านบทความแล้วแต่ยังคงมีคำถาม สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.music.mahidol.ac.th
ติดต่อสอบถาม ข้อมูลการสอบ: Mahidol Music Homepage | Open the Door to Your Stage!
ติดตามการสอบ: ระบบสารสนเทศการศึกษา COMMAS College of Music Mahidol University
ติดต่อสอบถามข้อมูลรับสมัคร: [email protected]
ติดต่อสอบถามข้อมูลรับสมัคร: โทรศัพท์ 02 800 2525 ต่อ 1128, 1109
ติดต่อสอบถามข้อมูล TIME: ศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทย หรือThailand International Music Examination (TIME) (timemusicexam.com)
ติดต่อสอบถามข้อมูล TIME: โทรศัพท์มือถือ 081 918 5381 โทรศัพท์ 02 4582680
ส่งหลักฐานการสมัครสอบ: MS Admission 2022 -ส่งเอกสารการสมัคร (Application documents Submission) (google.com)
ส่งบันทึกการสอบปฏิบัติดนตรี (Audition Recording Link): https://forms.gle/mRZ9Hc3y3JNNYTEL
Leave a Reply