วงโยธวาทิตคืออะไร
เพื่อนๆคงรู้จักและเคยได้สัมผัสกับวงโยธวาทิตกันมาบ้างแล้วจากกิจกรรมของโรงเรียน แล้วรู้หรือไม่ว่าวงโยธวาทิตคืออะไร ใช้ในโอกาสอะไรและมีประวัติความเป็นมาอย่างไร วันนี้เราจะมาล้วงลึกกันแบบหมดทุกซอกทุกมุมกันเลยค่ะ
วงโยธวาทิตคือ วงดนตรีที่ใช้ทางการทหาร โดยคำว่า “โยธวาทิต” มาจากคำว่า “โยธา” แปลว่า พลรบ,ทหาร คำว่า ” วาทิต” แปลว่า ดนตรี ผู้บรรเลง วงโยธวาทิตส่วนมากจะเป็นเพลงประกอบการเดินเข้าสู่สนามรบของทหาร บทบรรเลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงจังหวะมาร์ช (March) เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ทหาร นอกจากนี้ยังใช้บรรเลงในพิธีฝังศพเพื่อเป็นแสดงถึงเกียรติยศแก่ทหารที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนการบรรเลงในพิธีเข้าร่วมทางการทหาร ในการบรรเลงเพลงของวงโยธวาธิตในสมัยก่อนนั้นจะใช้เสียงแตรเป็นหลัก เสียงแตรที่เป่าจะเป็นสัญญาณบอกให้ทราบว่า ทหารต้องทำกิจกรรมอะไร เช่น เพลงเดิน เพลงรุก เพลงรบ เพลงถอย ฯลฯ ซึ่งทหารแต่ละกองก็จะใช้กลุ่มเครื่องดนตรีทีแตกต่างกันออกไป
วงโยธวาทิตในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อไหร่
วงโยธวาทิตในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยได้มีการเชิญนายทหารจากต่างประเทศมาช่วยฝึกนักดนตรีและฟอร์มวงดนตรีจนกำเนิดขึ้นเป็น “แตรวง” (brass band) ซึ่งแตรวงนั้นเป็นต้นกำเนิดของวงโยธวาทิตนั่นเอง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงงานต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่ประเทศอังกฤษและสดับการบรรเลงเพลงชาติอังกฤษ ท่านจึงโปรดให้มีการประพันธ์เพลงชาติไทยขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เพลงชาติในปัจจุบันที่เรารู้จักกัน แต่เพลงชาติในสมัยนั้นคือเพลงสรรเสริญพระบารมีนั่นเอง
ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช เป็นผู้บังคับการและก่อตั้ง “แตรวงทหารหน้า” ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งต่อมาแตรวงทหารนี้ได้เจริญรุ่งเรืองมาเป็น “กองดุริยางค์ทหารบก” และนอกจากนี้พระองค์ยังทรงสนับสนุนให้มีการใช้ดนตรีประกอบการเล่นละครและการละเล่นต่างๆ ทำให้ดนตรีในสมัยนั้นเฟื่องฟูขึ้น
บุคคลที่ทำให้วงการดนตรีสากลเจริญรุ่งเรืองในยุคนั้น คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาด้านการทหารจากประเทศอังกฤษและวิศวกรรมชั้นสูงจากประเทศเยอรมีแล้ว ทรงกลับประเทศไทยและได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ในขณะนั้นได้ทรงนิพนธ์เพลงซึ่งมีการผสมผสานระหว่างแนวเพลงแบบของไทยและแนวบรรเลงแบบสากลขึ้น นับเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่มีการเรียบเรียงเสียงประสานตามแบบอย่างของดนตรีสากล บทเพลงที่สำคัญๆ ซึ่งทรงนิพนธ์ขึ้นได้แก่ วอลท์ซเมขลา วอลท์ซประชุมพล มณฑาทอง มาร์ชดำรง และมาร์ชบริพัตร
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นสมัยที่ศิลปะและการดนตรีเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ผู้ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาวงดุริยางค์ในสมัยนี้คือ “พระเจนดุริยางค์”วงดนตรีภายใต้การดูแลของพระเจนดุริยางค์นี้ได้บรรเลงเพลงชั้นสูงพวก Symphony ตลอดจนแสดงมหาอุปรากร (Opera) ขึ้น จนนักวิจารณ์ชาวต่างประเทศในเวลานั้นยกย่องวงดนตรีของท่านว่าเป็นวงดนตรีที่ดีที่สุดในภูมิภาคตะวันออกไกล พระเจนดุริยางค์มีส่วนในการพัฒนาวงโยธวาทิต โดยได้จัดตั้งวงโยธวาทิตกองดุริยางค์ทหารอากาศ พ.ศ. ๒๔๘๓ ก่อตั้งวงดุริยางค์สากล (วงโยธวาทิต) ของกรมตำรวจ พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นผู้วางรากฐานวงโยธวาทิตระดับมัธยมศึกษา พ.ศ. ๒๕๐๐ และมีผลงานการเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงโยธวาทิตหลายเพลง ซึ่งเพลงที่สำคัญได้แก่ เพลงชาติไทย
วงโยธวาทิตในต่างประเทศมีความเป็นมาอย่างไร
ในยุโรปสมัยกลางมีการใช้เครื่องดนตรีในการคุมทัพทหาร โดยมีการใช้ปี่ชอร์ม และทรัมเป็ตร่วมกับกลองในการเดินทัพออกสมรภูมิ ต่อมาได้มีการแบ่งทหารออกเป็นสองกลุ่ม ซึ่งกลุ่มแรกคือทหารราบ มีการใช้เครื่องดนตรี ปิโกโลและกลองในการเดินรบ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือทหารม้า มีการใช้ทรัมเป็ตกับกลองหนังในการเดินทัพ จนเกิดสงคราม 30 ปีในยุโรป (ค.ศ. 1618-1648) เจ้านายเยอรมันแห่งแบรนแดนเบิร์กให้จัดตั้งโยธวาทิตทหารขึ้นเพื่อใช้ทางการทหาร โดยเครื่องดนตรีที่ใช้ได้แก่ ปี่ชอร์ม 3 คัน แตร ทรัมเป็ต แตรฝรั่งเศส และเครื่องกระทบ ซึ่งเป็นวงโยธวาทิตที่ใช้ได้ทั้งการเดินทัพและนั่งบรรเลงกับที่ ต่อมาทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษมีการดัดแปลงให้วงโยธวาทิตมีความครึกครื้นมากขึ้นเพื่อใช้ในการปลุกใจ โดยมีการแต่งเพลงขึ้นเฉพาะสำหรับการบรรเลงด้วยวงโยธวาทิต
ต่อมากลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีวงดนตรีขนาดเล็กเกิดขึ้นซึ่งเราเรียกว่า “แตรวง” ประกอบด้วยเครื่องเป่าทองเหลือง และเครื่องกระทบ ซึ่งแตรวงนั้นใช้สำหรับควบคุมการเดินรบเช่นกัน แตรงวงนั้นเป็นจุดกำเนิดของวงโยธวาทิตในปัจจุบัน
หลังศตวรรษที่ 18 มีเครื่องดนตรีเกิดใหม่ โดยเฉพาะเครื่องเป่า เช่น โอโบ คลาริเน็ต บาสซูน ได้เข้ามามีบทบาทในแตรวงมากขึ้น มีการนำเพลงซิมโฟนี่ของวงออร์เคสตร้ามาดัดแปลงให้วงโยธวาทิตมาบรรเลงมากขึ้นและการนั่งบรรเลงเพื่อความสนุกเพลิดเพลินเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วย
ลักษณะการบรรเลงของวงโยธวาทิตเป็นอย่างไร
ลักษณะการบรรเลงของวงโยธวาทิต แบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
1.ลักษณะการบรรเลงแบบวงเดินแถว (Marching Band)
เป็นการเล่นดนตรีในขณะที่กำลังเดินขบวน โดยจะเดินขบวนเป็นแถวตอนลึก ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมบรรเลงเพลงมาร์ชเพื่อทำให้เกิดความฮึกเหิม ความยิ่งใหญ่และความเป็นระเบียบ ส่วนใหญ่ใช้ในการนำหน้าขบวนต่างๆ
2.ลักษณะการบรรเลงแบบวงนั่งบรรเลง (Concert Band)
การบรรเลงในลักษณะนี้จะมีความคล้ายคลึงกับการบรรเลงของวงออร์เคสตร้า โดยบทเพลงที่ใช้บรรเลงนั้นมีการประพันธ์หรือเรียบเรียงเสียงประสานขึ้นสำหรับวงโยธวาทิตโดยเฉพาะ นอกจากนี้ก็จะมีการนำบทเพลงซิมโฟนี่มาเรียบเรียงเครื่องดนตรีใหม่เพื่อใช้สำหรับเล่นในวงโยธวาทิต ดังนั้นจึงเป็นที่มาของชื่อ Symphonic Band ซึ่งก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของ Concert Band นั่นเอง
3.ลักษณะการบรรเลงแบบวงแปรขบวน (Display)
ลักษณะวงแปรขบวนคือ นักดนตรีจะเล่นเพลงในขณะที่กำลังเดินขบวนและมีการแปรขบวนเป็นรูปต่างๆ โดยเพลงที่เล่นจะต้องสัมพันธ์กับลักษณะของการแปรขบวนนั้นๆด้วย วงแปรขบวนนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า โชว์แบนด์ (Show Band)
สไตล์การบรรเลงเพลงของวงโยธวาทิตมีอะไรบ้าง
1.บรรเลงประกอบการขับร้อง บทเพลงที่ใช้สำหรับการขับร้องได้แก่ เพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,เพลงสากล,เพลงไทยสากล เพลงป๊อบ
2. แสดงบทเพลงที่มีเครื่องดนตรีบรรเลงเดี่ยวกับวงโยธวาทิต (Concerto) โดยจะมีนักแสดงเดี่ยว (soloist) เครื่องใดก็ได้ 1 เครื่องเล่นประชันกับวงโยธวาทิต การเล่นลักษณะนี้นักแสดงเดี่ยวจะโชว์เทคนิคของเครื่องดนตรีนั้นๆและเล่นประชันกับวง มีการเล่นรับทำนองกันอย่างเมามันทำให้เพลงฟังดูน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้น
3.วงดนตรีขนาดเล็ก (Wind Ensemble) เป็นการย่อขนาดของวงโยธวาทิตให้เล็กลง โดยยังคงเครื่องดนตรีที่เล่นไว้เหมือนเดิมแต่เลือกนักดนตรีเครื่องละ 1-3 คนขึ้นมาเล่นรวมกัน โดยจุดประสงค์หลักเพื่อนำนักดนตรีที่โดดเด่นของวงมาจับกลุ่มรวมกัน กลุ่มเครื่องดนตรีที่ใช้ได้แก่ เครื่องเป่าลมไม้ เครื่องเป่าทองเหลืองและเครื่องกระทบ
เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงโยธวาทิตมีดังนี้
1.เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงโยธวาทิตประเภทเครื่องเป่าลมไม้ (woodwind)
ได้แก่ ปิคโคโล (piccolo) โอโบ (oboe) บาสซูน (bassoon) คลาริเน็ต (clarinet) เบสคลาริเน็ต (bass clarinet) อัลโตแซกโซโฟน (alto saxophone) เทเนอร์แซกโซโฟน(tenor saxophone) บาริโทนแซกโซโฟน (bariton saxophone) ฟลูท (flute) และ อัลโตคลาริเน็ต (alto clarinet)
2.เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงโยธวาทิตประเภทเครื่องเป่าทองเหลือง (Brass)
ได้แก่ ทรัมเป็ต (trumpet) คอร์เน็ต (cronet) ทรอมโบน (trombone) เฟรนช์ฮอร์น (French horn) บาริโทน (baritone) ยูโฟเนียม (euphonium) ทูบา (tuba) และซูซาโฟน (susaphone)
เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงโยธวาทิตประเภทเครื่องกระทบ (percussion)
ได้แก่ กลองเล็ก (snare drum or side drum) กลองเทเนอร์ (tenor drum) กลองใหญ่ (bass drum) ฉาบ (cymbals) ไซโลโฟน (xylophone) กลอกเคินสปีล (gockenspiel) ไทรเองเกิล (triangle) กลองทอมบา (tomba) และกลองทิมปานี (timpani)
วงโยธวาทิตใช้บรรเลงในงานอะไรบ้าง
วงโยธวาทิตจะบรรเลงเพลงในโอกาสสำคัญดังนี้
- บรรเลงเพื่อถวายพระเกียรติยศแด่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
- บรรเลงเพื่อประกอบการสวนสนามของทหาร และการเดินแถว
- บรรเลงเพื่อนำขบวนพาเหรด
- บรรเลงเพื่อการประกวดปข่งขันระดับประเทศ และต่างประเทศ
เอาล่ะค่ะหวังว่าเพื่อนๆจะได้ความรู้เกี่ยวกับวงโยธวาทิตไปไม่มากก็น้อย พบกันใหม่บทความหน้าค่ะ
Leave a Reply