ร้องเพลงเพราะขึ้นทันทีหากฝึกการหายใจที่ถูกต้อง

ก่อนอื่นขอเกริ่นเล็กน้อยเกี่ยวกับบทความนี้ค่ะ ครูเป็นครูสอนเปียโนแต่มีความสนใจในการร้องเพลงมากๆ ครูลงเรียนคลาสร้องเพลงทุกเทอมระหว่างที่เรียนเอกดนตรีในระดับปริญญาตรี และหลังจากเรียนจบก็ได้ลงเรียนการร้องเพลงป๊อบเพิ่มขึ้น โชคไม่ดีที่วันหนึ่งครูต้องเข้ารับการผ่าตัดคอและทำให้เส้นเสียงเกิดอาการบาดเจ็บจนไม่สามารถร้องเพลงได้เป็นเวลา 3 ปี แต่ครูไม่ยอมแพ้กับโชคชะตาจึงได้พยายามอย่างหนักเพื่อให้กลับมาร้องเพลงได้อีก ครูลงเรียนร้องเพลงอีกครั้งหนึ่งและพยายามศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ในการช่วยให้ครูกลับมาร้องเพลงได้เหมือนเดิม ในบทความนี้ครูได้ค้นคว้าข้อมูลและสัมภาษณ์ครูสอนร้องเพลงเพื่อให้ได้บทความที่มีประโยชน์กับเพื่อนๆค่ะ

การร้องเพลงให้ดีนั้นนอกจากจะต้องฝึกการร้องให้ตรงคีย์แล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือควบคุมการหายใจ การหายใจนั้นถือเป็นหัวใจหลักของการร้องเพลงเลยทีเดียว หากเรารู้วิธีการหายใจเข้าเพื่อเก็บกักอากาศให้ได้มากและรู้จักวิธีการปล่อยลมหรือว่าการหายใจออกอย่างมีประสิทธิภาพเราก็จะสามารถควบคุมเสียงของเราให้ดีขึ้นได้ ก่อนที่ครูจะลงลึกเรื่องการหายใจ เราไปดูกันก่อนว่าสิ่งสำคัญที่นักร้องควรปฏิบัติมีอะไรบ้างค่ะ

สิ่งสำคัญในการร้องเพลงที่ดีนั้นมีดังนี้

1. นักร้องต้องมีความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของร่างกาย

นักร้องทุกคนควรมีความเข้าใจเป็นอย่างดีถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายในขณะร้องเพลง เพราะว่าร่างกายของเรานั้นเปรียบเสมือนเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งนั่นเอง ดังนั้นเราจึงต้องรู้ตำแหน่งของอวัยวะต่างๆในร่างกายที่จำเป็นในการร้องเพลงและเข้าใจว่าเสียงนั้นมาจากส่วนไหนของร่างกายเราบ้าง เช่น การเปิดกระบังลม การขยายอก การร้องแบบ Head voice (เสียงที่ก้องในหัว ซึ่งเวลาร้องนั้นจะมีการการสั่นสะเทือนที่รู้สึกได้ในกะโหลกศีรษะเมื่อเราร้องเพลงในระดับเสียงสูง) หรือใช้เสียงแบบ chest voice (เสียงทรวงอก เป็นคำที่ใช้ในการร้องเพลงเพื่ออธิบายการร้องโน้ตในช่วงเสียงต่ำถึงเสียงกลาง ซึ่งคอร์ดเสียงจะถูกใช้อย่างเต็มที่และให้เสียงที่ก้องกังวานในทรวงอก)

ฟังแล้วอาจจะดูเยอะแยะไปหมด แต่หากเราฝึกฝนการร้องเพลงอย่างสม่ำเสมอ เราจะจับจุดได้เองว่าเสียงแบบไหนมาจากส่วนไหนของร่างกาย เชื่อครูได้เลยค่ะเพราะว่าครั้งแรกที่ครูเรียนร้องเพลงนั้นแยกไม่ออกเลยว่าเสียงอะไรมาจากตรงไหนแต่ครูก็พยายามฝึกทุกวัน จนวันหนึ่งครูสอนร้องเพลงถามว่า ร้องยังไงวันนี้ปรับเปลี่ยนอะไรมา เสียงนี้คือเสียงที่ถูกต้อง ซึ่งวันนั้นครูใช้ตำแหน่งในการออกเสียงที่ต่างไปจากเดิม ก่อนหน้านี้ครูสอนร้องเพลงก็พยายามอธิบายวิธีการใช้เสียงจากตำแหน่งต่างๆของร่างกาย ครูฟังเข้าใจแต่ก็ทำไม่ได้ ครูก็ฝึกร้องเพลงไปเรื่อยๆทุกวัน จนวันหนึ่งลองเปลี่ยนเสียงไปมาจนเริ่มเข้าใจลักษณะของเสียงแต่และแบบมากขึ้น ครูถึงได้บอกว่าหากเราฝึกร้องบ่อยๆเราจะจับจุดได้เองค่ะ

2. ควรพัฒนาทักษะการหายใจที่ถูกต้องสำหรับการร้องเพลง

การฝึกร้องเพลงทุกครั้งควรฝึกแบบฝึกหัดการวอร์มเสียงก่อนที่จะเริ่มร้องเพลง ซึ่งการวอร์มเสียงนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะจะช่วยให้เส้นเสียงมีการผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการบาดเจ็บเวลาร้องเพลงและนอกจากนี้ก็ยังช่วยให้เราร้องเพลงได้เต็มเสียงอีกด้วย

แบบฝึกหัดการวอร์มเสียงคลิกได้ที่ลิงค์ด้านล่างค่ะ

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือ เราจะต้องฝึกหายใจควบคู่ไปกับการวอร์มเสียงด้วย เพื่อช่วยพัฒนาการควบคุมลมหายใจในการร้องเพลง ครูจะอธิบายละเอียดตรงท้ายบทความว่าทำไมการหายใจจึงจำเป็นมากในการร้องเพลง

นักเรียนสามารถฝึกแบบฝึกหัดการหายใจได้จากลิงค์ด้านล่างค่ะ

3. การฝึกร้องให้ตรงคีย์

หากเราเข้าใจข้อ 1 และข้อ 2 แต่เราร้องเสียงเพี้ยนก็จบค่ะ ดังนั้นการร้องให้ตรงคีย์จึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียวค่ะ หากเพื่อนๆร้องเพลงเพี้ยน คลิกอ่านบทความ 10 วิธีแก้ร้องเพลงเพี้ยน ได้เลยค่ะ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราร้องเพลงไม่เพี้ยนก็คือเรื่องของการฝึกทักษะในการฟังก่อนค่ะ การฝึกเล่นเครื่องดนตรีสักเครื่องก็ช่วยให้ร้องเพลงได้ตรงคีย์มากขึ้นค่ะ เครื่องดนตรีกีตาร์หรือเปียโนนั้นค่อนข้างง่ายในการฝึก หากสนใจฝึกเล่นเปียโนประกอบการร้องคลิกอ่าน ที่นี่ ถ้าเราสามารถบอกได้ว่าเราร้องตรงหรือเพี้ยนเราก็จะสามารถแก้ไขได้ไม่ยากค่ะ แต่หากเราฟังไม่ออกเพื่อนๆจะต้องหาครูสอนร้องเพลงมาช่วยแนะนำให้ค่ะ

นี่ก็เป็น 3 ข้อที่สำคัญในการร้องเพลงให้เพราะค่ะ ดูเหมือนจะไม่ยากแต่ว่าต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอค่ะ ตอนนี้เราไปดูกันเรื่องการหายใจกันเลยค่ะ

ทำไมการหายใจที่ถูกต้องจึงสำคัญต่อการร้องเพลง

ตลอดอายุขัยของเรา เรามีความเคยชินกับการหายใจแบบผิดๆและการเปล่งเสียงแบบผิดๆ เพื่อนๆคงจะงงว่าหายใจผิดหมายความว่าอย่างไร ครูจะยกตัวอย่าง 1 ข้อละกันนะคะ อันนี้เกิดขึ้นกับครูเอง เรื่องก็คือ ตอนกลางคืนครูจะติดนิสัยการหายใจทางปากแทนจมูก เนื่องจากเมื่อก่อนเวลากลางคืนครูจะเป็นภูมิแพ้บ่อยจึงหายใจทางจมูกได้ยาก ตอนนี้เลยติดเป็นนิสัยในการใช้ปากหายใจ พอตื่นเช้ามาก็เกิดอาการเสียงแหบทุกวัน และไม่สามารถร้องเพลงได้ในตอนเช้า

วันหนึ่งครูไปพบแพทย์เรื่องผ่าตัดทอนซิล หมอได้ตรวจโพรงจมูกและพบว่าโพรงจมูกของครูนั้นมีรูเล็กนิดเดียวเนื่องจากมันบวมมาก หมอถามว่าครูหายใจได้อย่างไร ครูก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรเพราะครูไม่ได้รู้สึกเลยว่าครูใช้ปากหายใจอยู่บ่อยครั้ง มันเป็นความเคยชินไปแล้ว แต่หลังจากทำเลเซอร์จมูก ครูรู้สึกทันทีว่าครูสามารถหายใจได้ดีขึ้นและลึกขึ้น ความเคยชินเหล่านี้ค่อนข้างยากที่จะสังเกต ครูโชคดีที่หมอทักขึ้นมาจึงสามารถแก้ไขได้และครูก็หมั่นสังเกตการหายใจของตัวเองเพื่อลดการหายใจทางปาก

อีกกรณีคือการเคยชินในการเปล่งเสียงผิดๆ ครูสอนร้องเพลงบอกครูว่า เวลาที่ครูร้องเพลงน้้นมันดูเกร็งไปหมดและครูก็กลั้นหายใจในการร้องเพลงด้วย นิสัยเหล่านี้หากเรารู้เราก็จะแก้ได้ตรงจุด ดังนั้นเราจึงต้องใส่ใจหน้าที่เหล่านี้ในร่างกายของเราและพัฒนานิสัยใหม่ๆ รวมถึงลดการกระทำที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของเสียงค่ะ

ในการสร้างการสั่นสะเทือนของเส้นเสียงนั้น นักร้องจำเป็นต้องมีการควบคุมลม โดยเน้นการควบคุมการไหลเวียนของอากาศที่เพียงพอเพื่อให้พลังงานแก่เส้นเสียงในการผลิตเสียง นักร้องจำเป็นต้องพัฒนาการควบคุมลมหายใจของตัวเองอย่างเต็มที่ การหายใจเพื่อร้องเพลงแตกต่างจากการหายใจในขณะผ่อนคลายหรือพูดมาก เดี๋ยวเราไปดูความแตกต่างของทั้ง 2 แบบค่ะ

การหายใจเพื่อร้องเพลงแตกต่างจากการหายใจแบบ “ปกติ” อย่างไร?

การร้องเพลงต้องการการหายใจที่ลึกขึ้นและการหายใจที่มีประสิทธิภาพและประสานกันมากกว่าการหายใจเพื่อพูดหรือระหว่างการผ่อนคลาย

1. การหายใจขณะร้องเพลงจะลึกกว่าการหายใจขณะพัก

ระหว่างการหายใจขณะพัก กะบังลมจะขยับเพียงประมาณ 1.5 ซม. (ครึ่งนิ้ว) ในระหว่างการร้องเพลง กะบังลมจะขยับประมาณ 7 ถึง 8 ซม. (2-3 นิ้ว) ดังนั้นเวลาร้องเพลงจึงมีการเคลื่อนไหวของกระบังลมมากขึ้น

2. การหายใจเพื่อร้องเพลงต้องใช้กล้ามเนื้อมากกว่าการหายใจเพื่อพูด

ในระหว่างการพูดและการผ่อนคลาย เราจะใช้กล้ามเนื้อน้อยมากในการหายใจ ขณะที่เรานอน พูด หรือร้องเพลง กะบังลมจะหดตัวลงระหว่างการหายใจเข้า ในระหว่างการร้องเพลง กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ก็มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน เช่นกล้ามเนื้อซี่โครง (กล้ามเนื้อซี่โครงภายนอก) จะหดตัวมากขึ้นและช่วยยกและขยายซี่โครงระหว่างร้องเพลง กล้ามเนื้อหลังยังมีส่วนร่วมในการขยายซี่โครงระหว่างการหายใจเข้า ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้ปอดและลำตัวขยายตัวในทุกทิศทางอีกด้วยค่ะ

ในระหว่างการร้องเพลงนั้นจำเป็นต้องได้รับการซัพพอร์ทจากกล้ามเนื้อท้อง (หน้าท้อง) และการซัพพอร์ทของร่างกายทั้งหมด ระหว่างการหายใจออกกล้ามเนื้อหน้าท้องจะทำหน้าที่ควบคุมความดันในช่องท้อง นอกจากนี้อุ้งเชิงกรานยังมีส่วนช่วยให้กะบังลมเคลื่อนตัวขึ้นอย่างช้าๆ อวัยวะภายในจะถูกดันเข้าและดันขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งจะช่วยให้กระบังลมเคลื่อนขึ้นด้านบนกลับสู่ตำแหน่งที่ผ่อนคลาย โดยการควบคุมกล้ามเนื้อในการหายใจออก นักร้องจะส่งลมในปริมาณที่เหมาะสมผ่านสายเสียง หากเราควบคุมลมได้ดีเสียงที่ออกมาก็จะมีความกลมสม่ำเสมอค่ะ

3. ระยะหายใจออกระหว่างร้องเพลงจะนานกว่าขณะพูดหรือพัก

การหายใจเข้าและหายใจออกปกติจะกินเวลาเท่ากัน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 วินาทีในการหายใจเข้าและออก ในการร้องเพลงระยะการหายใจเข้าจะเร็วกว่าระยะการหายใจออก เนื่องจากบ่อยครั้งเราต้องรีบร้องประโยคใหม่ทันทีจึงต้องหายใจเข้าอย่างรวดเร็วให้ทันจังหวะ การหายใจออกขณะที่เราร้องเพลงจะยาวนานกว่าการหายใจเข้ามาก นักร้องต้องพยายามควบคุมการหายใจออกโดยไม่ปล่อยทั้งหมดในคราวเดียวแต่ะจะต้องเลี้ยงไว้จนกว่าจะร้องจบประโยค เป้าหมายของนักร้องคือการเรียนรู้ที่จะประสานการทำงานของกล้ามเนื้อทั้งหมด เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณอากาศที่ไหลผ่านเส้นเสียงให้ได้

4. การหายใจขณะร้องเพลงต้องใช้สติควบคุมมากกว่าการหายใจขณะพัก

กระบวนการหายใจนั้นจะเป็นไปโดยอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องพยายามควบคุมใดๆ แต่ในระหว่างการร้องเพลง การหายใจจะอยู่ภายใต้การควบคุมของนักร้อง หากเราต้องการเสียงที่มีพลังเราก็จะปล่อยลมแรงและเร็ว หากเราต้องการเสียงเบาๆก็ปล่อยลมเบาๆ ร่างกายของเรานั้นเป็นเครื่องดนตรีที่มีหลายส่วนประกอบ ดังนั้นเราจึงต้องเรียนรู้การควบคุมร่างกายเพื่อสร้างเสียงที่ดีที่สุดค่ะ

5. การหายใจเพื่อร้องเพลงเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อสร้างเสียงที่ดี

เป้าหมายหลักของการหายใจในขณะที่เราพักคือเพื่อประทังชีวิตด้วยการให้ออกซิเจนแก่ร่างกาย อย่างไรก็ตามเทคนิคการหายใจที่ดีสำหรับการร้องเพลงยังเป็นการเตรียมร่างกายของนักร้องให้พร้อมสำหรับการผลิตเสียง ในระหว่างการหายใจเข้า นักร้องจะเปิดคอและกล่องเสียงรวมถึงช่องที่มีเสียงสะท้อนอื่นๆ สิ่งนี้ช่วยเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการผลิตเสียงที่ดีที่สุดค่ะ

ประโยชน์ของเทคนิคการหายใจที่ดี

1. ร้องเพลงโดยไม่มีความตึงเครียด

ข้อดีอย่างหนึ่งของการใช้เทคนิคการหายใจที่ถูกต้องคือการร้องเพลงโดยปราศจากความตึงเครียด หากเพื่อนๆหายใจเข้าตื้นๆ ขณะร้องเพลง เราจะสร้างความตึงเครียดบริเวณคอ ไหล่ หน้าอก และใบหน้า ซึ่งจะส่งต่อไปยังกล่องเสียงและเส้นเสียง สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้น้ำเสียงของเรามีความตึงเครียดด้วย

ในทางกลับกันการหายใจโดยใช้เทคนิคการหายใจที่ถูกต้องจะช่วยให้นักร้องสามารถเปิดช่องเสียง รวมทั้งลำคอ โดยไม่มีความตึงเครียด นักร้องเรียนรู้ที่จะเปิดคอในขณะที่ควบคุมการไหลเวียนของอากาศด้วยกลุ่มกล้ามเนื้อหายใจออก (expiratory muscles) ส่วนใหญ่เป็นกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องซึ่งจะทำให้ได้เสียงที่ใสและไม่ตึงเครียดค่ะ

2. ควบคุมปริมาณอากาศที่ส่งผ่านเส้นเสียงได้อย่างเต็มที่

นักร้องที่ไม่ผ่านการฝึกฝนมักจะหน้าอกยุบในระหว่างการร้องเพลง ซึ่งทำให้อากาศไหลออกจากปอดอย่างรวดเร็วจนควบคุมไม่ได้ เทคนิคการหายใจที่ดีช่วยให้นักร้องใช้กล้ามเนื้อในการหายใจออกและควบคุมการใช้ลมหายใจระหว่างการร้องเพลงได้ดี

3. เตรียมร่างกายให้พร้อมในการผลิตเสียง

การหายใจเข้าไม่ใช่แค่การเอาอากาศเข้าไป แต่เป็นระยะในการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการผลิตเสียง การหายใจเข้านั้นเราจะต้องขยายปอด จากนั้นขยายช่องท้องและลดกะบังลมให้ต่ำลง ขยายแผ่นหลังและผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตเสียงที่ดีค่ะ

ข้อดีของการหายใจอย่างถูกต้องคือ:

  • ให้ความแม่นยำและความชัดเจนของเสียงที่ดีกว่า
  • มีลมกักเก็บไว้สำหรับการร้องในท่อนที่สั้นและยาว
  • ช่วยควบคุมความดังเบาของเสียง
  • ความเสถียรของโทนเสียง

เพื่อนๆรู้หรือไม่ว่าคุณภาพเสียงจะได้รับผลกระทบจากปริมาณอากาศที่หายใจเข้าไปและความกดอากาศใต้เส้นเสียงอากาศน้อยหรือมากเกินไปก็จะส่งผลต่อคุณภาพของเสียงได้ ในนักร้องที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมีแนวโน้มที่จะบีบเส้นเสียงเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเสียงที่ทรงพลังแทนที่จะเพิ่มแรงกดอากาศและการไหลเวียนของอากาศโดยการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง การบีบเส้นเสียงเข้าด้วยกันจะทำให้ได้เสียงที่หนักแน่นขึ้น แต่คุณภาพเสียงจะไม่ดี ยิ่งไปกว่านั้นการบีบยังทำให้กลไกเสียงตึงเครียด ซึ่งในระยะยาวอาจนำไปสู่การบาดเจ็บของเสียงได้

การหายใจที่ถูกต้องนั้นจะช่วยลด:

  • เสียงแบน
  • เสียงลมหายใจ
  • เสียงเครียด
  • เสียงสั่นที่ไม่สามารถควบคุมได้
  • เสียงที่อ่อนแอ
  • เสียงที่ไม่สม่ำเสมอและอื่นๆอีกมากมาย

ดังนั้น หากเพื่อนๆกำลังพยายามปรับปรุงคุณภาพเสียงล่ะก็ ให้โฟกัสในเรื่องของการหายใจและดูว่าเราจะสามารถพัฒนาทักษะในด้านนี้ให้ดีขึ้นได้หรือไม่ หากทำได้ก็การันตีได้เลยว่าเราจะร้องเพลงได้เพราะขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ