การสอนเปียโนเด็กนั้น ครูจำเป็นที่จะต้องมีจิตวิทยาในการสอนและนอกจากนั้นยังต้องมีหลักสูตรการสอนที่เหมาะสมกับเด็กด้วย วันนี้ครูจะมารีวิวหนังสือเรียนเปียโนของ 7 สำนักพิมพ์ว่าของแต่ละแบบนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
สำหรับเพื่อนๆที่สอนเปียโนเด็กสามารถอ่านบทความ สอนเด็กเล็กอ่านจังหวะจากผลไม้ และ สอนเด็กจำคีย์และอ่านโน้ตเปียโน ซึ่งในบทความทั้งสองนี้เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดเกมส์ไปเล่นกับเด็กๆได้ด้วยค่ะ
1. หนังสือเรียนเปียโน Alfred’s Basic Piano Library
สำหรับหนังสือเรียนเปียโนจากสำนักพิมพ์ Alfred นั้น เป็นหนังสือเรียนรุ่นแรกๆที่เข้ามาในประเทศไทยเลย ตอนเด็กๆครูก็ใช้หนังสือของสำนักพิมพ์นี้ และตอนที่ครูเริ่มสอนช่วงแรกก็ใช้หนังสือของ Alfred เช่นกัน
สำหรับหนังสือจาก Alfred นั้นจะมีหลายแบบมากๆ มีสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 3 ปี ซึ่งเราเรียกเซ็ตนี้ว่า Alfred Music For Little Mozarts ซึ่งในเซ็ตนี้ส่วนใหญ่ก็จะเน้นให้นักเรียนทำกิจกรรมเกี่ยวกับการร้อง การเคลื่อนไหวไปตามจังหวะ มีบทเรียนให้นักเรียนเล่นเปียโนนิดหน่อยเท่านั้น สำหรับเล่ม 1 ก็จะเล่นประมาณ 2-3 black key แบบง่ายๆ
โดยส่วนตัวครูคิดว่า Alfred Music For Little Mozarts ค่อนข้างดี เด็กส่วนใหญ่จะชอบ แต่ถ้าครูหรือผู้ปกครองคาดหวังให้นักเรียนเล่นเปียโนได้เยอะๆจากการเรียนเปียโนในเซ็ตนี้ ก็ไม่ควรใช้หนังสือเซ็ตนี้ เพราะว่าจะเน้นการทำกิจกรรมประกอบจังหวะและเรื่องของการฟังมากกว่าการเล่นค่ะ
สำหรับนักเรียนที่อายุประมาณ 4 ปีขึ้นไปก็สามารถใช้อีกเซ็ตหนึ่งที่เรียกว่า Alfred’s Basic Piano Library โดยจะเรียนหลักสูตร Prep Course จะมี level A-F แต่ละ level ก็จะมีหนังสือ Lesson, Solo, Theory และ Technic ค่ะ
สำหรับเด็กที่อายุประมาณ 6 ปีขึ้นไป จะเรียนเป็น level1A – level 6 ในแต่ละระดับก็จะมีหนังสือหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น Lesson, Solo, Theory และ Technic เช่นเดียวกับ Prep Course นอกจากนี้ก็มีหนังสือเสริมอย่าง Composition, Ear Training, Flash Cards 1A & 1B, Notespeller, Sight-Reading อีกด้วยค่ะ
ทั้ง Prep Course และ Alfred’s Basic Piano Course จะสามารถเทียบระดับกันได้ เช่นหากนักเรียนเริ่มโตขึ้นก็สามารถเปลี่ยนจากเรียน Prep Course ไปเรียน Alfred’s Basic Piano Course ได้ ซึ่ง Alfred’s Basic Piano Course ก็จะไปเร็วกว่า Prep Course ค่ะ
สำหรับเซ็ตนี้จากประสบการณ์ส่วนตัว ครูไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะหลักสูตรจะบล็อคตำแหน่งในการเล่น เมื่อนักเรียนฝึกเล่นแบบ C Position หลายๆเพลง ก็จะติดการเล่นใน C position พอเปลี่ยนมาเป็น G position ก็ไม่สามารถเล่นได้ หรือเวลาเล่นเพลงที่เปลี่ยน position เป็นแบบอื่น หรือเพลงที่ไม่บล็อคตำแหน่ง นักเรียนก็มักจะสับสนและเล่นไม่ได้เช่นกันค่ะ
นอกจากนี้ครูยังคิดว่าหนังสือเซ็ตนี้ค่อนข้างช้ามากๆ ใน level 3 นักเรียนยังเล่นก๋องแก๋งอยู่เลย และนอกจากนี้เพลงก็ค่อนข้างน่าเบื่อ รวมทั้งแอนนิเมชันในหนังสือก็ค่อนข้างโบราณเช่นกัน
แต่ Alfred’s ก็มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งคือ หนังสือ Ear Training ของเขานั้นดีมากๆ นักเรียนที่เรียนหนังสือเซ็ตนี้มีความพร้อมในการเตรียมสอบเกรดของ Trinity และ ABRSM มากๆ ซึ่งครูก็ติวเพิ่มอีกเล็กน้อยเท่านั้น นักเรียนก็สามารถสอบ Ear Trainingได้แล้วค่ะ สำหรับเพื่อนๆที่สนใจส่งนักเรียนสอบเกรด สามารถอ่านบทความเรื่อง เตรียมสอบเกรด Trinity อย่างไรให้ได้คะแนนดี
Alfred มีหนังสือสำหรับนักเรียนผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งเรียกว่า Alfred all in one course หนังสือเล่มนี้ครูก็เคยใช้สอนนักเรียนที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ไม่เคยใช้เกิน 20 หน้าก็ต้องเลิกไป เพราะว่าเพลงค่อนข้างน่าเบื่อและก็ค่อนข้างช้าเช่นกันค่ะ
ปัจจุบันครูไม่ค่อยได้ใช้หนังสือแบบเรียนของ Alfred เท่าไหร่นัก อาจจะใช้แค่เล่ม 1A แล้วไปต่อของสำนักพิมพ์อื่น เนื่องจาก 1A จะค่อนข้างเร็วกว่าสำนักพิมพ์อื่นแต่หลังจากนั้นก็จะช้ามากค่ะ ครูเลยเลือกใช้สลับสำนักพิมพ์ค่ะ
2. หนังสือเรียนเปียโน John Thompson’s
สำหรับหนังสือเรียนเปียโนของ John Thompson’s นั้นจะมี 2 แบบ เรามาดูแบบแรกกัน แบบแรกนี้จะเป็นรุ่นดั้งเดิมซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยครูยังเป็นเด็ก การเรียนเปียโนจากหนังสือเซ็ตนี้ก็จะไปค่อนข้างเร็ว นักเรียนเล่นเป็นเพลงได้เร็วมากๆ แต่บางครั้งอาจไม่เหมาะกับนักเรียนที่ช้าสักเท่าไหร่
ปัญหาของหนังสือเล่มนี้จากประสบการณ์ของครูคือ เพลงที่นำเสนอในเล่มนี้ส่วนใหญ่จะบล็อคตำแหน่งนิ้ว เช่นในช่วงต้นของหนังสือ เพลงจะอยู่ใน C position และทุกเพลงในเล่มนี้จะเขียนชื่อนิ้วที่โน้ตทุกตัวเลย ดังนั้นนักเรียนจะไม่อ่านโน้ตแต่จะเล่นจากการอ่านนิ้วแทน จึงทำให้นักเรียนอ่านโน้ตไม่ได้ และเวลาที่เปลี่ยน position ของการวางนิ้ว นักเรียนก็จะเกิดการสับสนมาก เพราะนิ้วเดิมจะอยู่ที่ตำแหน่งใหม่ ทำให้โน้ตเปลี่ยนไปจากเดิม เช่นปกติเวลาที่เราเล่น C position นิ้ว 5 มือขวาจะเป็นโน้ตตัว G แต่พอเปลี่ยนมาเป็น G position กลับกลายเป็นตัว D นักเรียนเลยงงเป็นไก่ตาแตกแล้วก็เล่นไม่ได้ และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ครูเลิกใช้หนังสือเซ็ตนี้ค่ะ
John Thompson’s Easiest Piano Course เป็นอีกเซ็ตหนึ่งของสำนักพิมพ์นี้ เหมาะสำหรับเด็กเล็กตั้งแต่ 4-5 ขวบขึ้นไป มีทั้งหมด 4 ระดับ สำหรับหนังสือเซ็ตนี้ครูเคยใช้เช่นกัน ครูคิดว่ามันเป็นหนังสือเรียนเปียโนที่ดีมากๆ ค่อนข้างไปเร็วพอสมควร หากเพื่อนๆมีนักเรียนที่ค่อนข้างเร็ว หนังสือเซ็ตนี้จะเหมาะมาก แต่หากนักเรียนที่ไปแบบช้า ไม่รีบร้อน หนังสือเซ็ตนี้จะไม่เหมาะในการใช้สอน เพราะเพลงที่เล่นจะค่อนข้างยากและก็ค่อนข้างรวบรัด จะไม่มีการซ้ำบทเรียนในเรื่องต่างๆมากนัก แต่จะเปลี่ยนเรื่องค่อนข้างเร็ว เล่ม 2 จังหวะก็เริ่มยากแล้วเมื่อเทียบกับสำนักพิมพ์อื่นๆ ครูยังคงใช้หนังสือเซ็ตนี้แต่จะเลือกใช้กับนักเรียนที่ขยันซ้อมและเรียนรู้ค่อนข้างเร็วค่ะ
3. หนังสือเรียนเปียโน Hal Leonard
สำหรับสำนักพิมพ์นี้ จัดว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุด มีหนังสือเรียนสำหรับหลายๆเครื่องดนตรีและยังมีหนังสือเปียโนมากที่สุดอีกด้วย ไม่ว่าเพื่อนๆจะต้องการเพลงประเภทไหน ลองเซิร์ชสำนักพิมพ์นี้ดู รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่ๆ
สำหรับหนังสือเรียนเปียโนสำหรับเด็กนั้นก็จะเรียกว่า Hal Leonard Student Piano Library มีทั้งหมด 5 ระดับ หนังสือในเซ็ตนี้ก็จะมี Lesson, Solo, Piano Practice Games, Piano Technique, Theory, Notespellers หากเพื่อนๆไม่อยากใช้หนังสือเยอะๆทางสำนักพิมพ์ก็มีหนังสือที่รวบรวมทุกทักษะของเปียโนเอาไว้ซึ่งเรียกว่า All-In-One piano lesson แต่ก็แน่นอนว่านักเรียนจะไม่ได้เรียนรู้การเล่นเปียโนได้ลึกซึ้งเท่าแบบแรกค่ะ
สำหรับหนังสือเรียนเปียโนของ Hal Leonard นั้นครูใช้เยอะที่สุด เนื่องจากไม่ยากเกินไป นักเรียนค่อยๆเรียนเป็นสเต็ป และก็ไม่ช้าเกินไปแบบ Alfred’s ด้วย นอกจากนี้นักเรียนยังไม่ยึดติดในการเล่นเปียโนใน position ใด position หนึ่งด้วย เพราะมีการย้ายตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา
สิ่งสำคัญที่สุดคือ เพลงของสำนักพิมพ์นี้ทันสมัยมากๆ มีจังหวะจักโคนที่สนุก เพลงเพราะ และพาร์ท duet ของครูก็ไพเราะมากๆ จุดเด่นของสำนักพิมพ์นี้คือ มักจะนำเสนอเพลงแจ๊สอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็เพิ่มสีสันให้กับการเล่นของนักเรียน แต่ปัญหาที่ตามมาคือ จังหวะก็ค่อนข้างยาก มีการใช้ syncopation เยอะ เพลงจะไม่ค่อยเป็นแนวคลาสสิคสักเท่าไหร่ค่ะ แต่โดยรวมแล้วครูชอบหนังสือเรียนเปียโนของสำนักพิมพ์นี้มากๆค่ะ
ข้อเสียของหนังสือเปียโนระดับต้นของสำนักพิมพ์ Hal Leonard คือ เขาจะไม่เน้นเรื่องของ Ear Training ดังนั้นหากเพื่อนๆต้องการส่งนักเรียนสอบเกรดของ Trinity หรือ ABRSM จะต้องเตรียมตัวเรื่องของ Ear Training ไว้ตั้งแต่ต้นค่ะ อาจจะต้องหาหนังสืออื่นมาเสริมด้วย เพราะไม่อย่างนั้นเวลาเตรียมนักเรียนสอบ Ear Training จะรู้สึกก้าวกระโดดมากค่ะ
สำหรับเพื่อนๆที่สนใจส่งนักเรียนสอบเกรดเปียโน สามารถอ่านบทความ สอบดนตรีของ trinity หรือ ABRSM ดีกว่ากัน
หากเพื่อนๆที่มีนักเรียนที่เป็นผู้ใหญ่ สำนักพิมพ์ Hal Leonard ก็มีหนังสือเปียโนสำหรับผู้ใหญ่เช่นกัน ซึ่งมีชื่อว่า Hal Leonard Adult Piano Method เพลงก็ออกไปในแนวป๊อบ และมีความไพเราะพอสมควรค่ะ แต่ก็เช่นกันครูไม่ได้ใช้หนังสือพวกนี้สอนผู้ใหญ่ แต่จะออกแบบหลักสูตรให้เป็นคนๆไปค่ะ
4. หนังสือเรียนเปียโน Poco Piano For Young Children
สำหรับหนังสือของ Poco นั้นจะมีทั้งหมด 4 ระดับด้วยกัน หนังสือเซ็ตนี้จะเหมาะกับเด็กเล็กตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป ในเซ็ตนี้ก็จะประกอบไปด้วยหนังสือ Lesson และ Theory หนังสือมีภาพประกอบสวยงาม สีสันสดใส นอกจากนี้ในหนังสือ Theory นั้นก็ยังมีเกมส์ซึ่งจะมีสติ๊กเกอร์ให้นักเรียนเอาไปติดที่คำตอบอีกด้วย นักเรียนของครูชอบหนังสือเซ็ตนี้มากๆ
ข้อดีในแง่ของการเรียนเปียโนจากหนังสือเรียนเซ็ตนี้คือ หนังสือในเซ็ตนั้นมีน้อย ดังนั้นจึงไม่เปลืองเงินผู้ปกครองและยังไม่ทำให้ครูปวดหัวเพราะมีหนังสือเยอะเกินไปอีกด้วย หนังสือเซ็ตนี้มีระบบการเรียนที่ไปค่อนข้างเร็ว นักเรียนแทบไม่ได้เล่น 2-3 black keys เลย จะมีการแนะนำ black key เล็กน้อยแล้วก็กระโดดไปเล่นโน้ต C-B เลย ซึ่งครูว่ามันดีมากๆ เพราะนักเรียนไม่ต้องเสียเวลาในเบื้องต้นมาก นอกจากนี้ในเล่ม 2 ก็มีการนำเสนอจังหวะเขบ็จ 2 ชั้นแล้ว เมื่อเทียบกับสำนักพิมพ์อื่นก็ถือว่าเร็วมากๆ
ข้อเสียของหนังสือเรียน Poco คือ หากครูไม่เก่งเรื่องคอร์ดแล้วจะไม่สามารถเล่น duet กับนักเรียนได้ เพราะหลายๆครั้ง เพลงที่นักเรียนเล่นไม่มีโน้ต duet ประกอบ หรือบางครั้งมี duet แต่ว่าไม่เพราะเลยค่ะ เพลงที่นักเรียนเล่นก็ไม่ค่อยเพราะเช่นกัน เล่นแล้วดูไม่อลังการเท่ากับหนังสือเปียโนของสำนักพิมพ์ Hal Leonard ค่ะ
ปัจจุบันครูยังใช้หนังสือ Poco ในสตูดิโอของครู แต่ก็พยายามหาเพลงเสริมเวลาที่มี recital ของนักเรียนค่ะ
5. หนังสือเรียนเปียโน Piano Adventure
สำหรับนักเรียนอายุ 5-6 ปี จะมีเซ็ต My First Piano Adventure level A B C ซึ่งจะเป็นการสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป ในเซ็ตนี้ก็จะมีหนังสือ Lesson Book, Writing Book, Sticker Book, Flash Card Sheets
สำหรับนักเรียนอายุ 7 ปีขึ้นไปจะเป็นเซ็ต Piano Basic Adventures ซึ่งจะมีตั้งแต่ Premier Level – level 5 แต่ละระดับก็จะมีหนังสือ Lesson, Theory, Performance, Sight Reading
สำหรับหนังสือ Piano Adventure นั้น เป็นหนังสือเรียนเปียโนระดับต้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในความคิดเห็นส่วนตัวของครู ครูคิดว่าเป็นหนังสือที่ดีมากๆ แต่สำหรับ Premier Level นั้นค่อนข้างช้า นักเรียนจะเสียเวลามากเพราะต้องเล่นเพลงโดยอ่านจากนิ้วหลายเพลงมากๆ และไปต่อด้วย 2-3 black key อีกหลายเพลง จากนั้นก็เล่นจากตัวอักษรอีกหลายเพลงเช่นกัน ครูหลายๆคนจึงนิยมที่จะเริ่มจากหนังสือของสำนักพิมพ์อื่นๆเช่น John Thompson’s, Alfred หรือ Poco เพราะใน level แรกนั้น 3 สำนักพิมพ์นี้ไปค่อนข้างเร็ว จากนั้นจึงค่อยย้ายนักเรียนมาใช้หนังสือ Piano Adventure ทีหลัง
สำหรับ level 1 ขึ้นไปนั้น ถือว่าดีมากๆ เป็นหนังสือโปรดที่ครูใช้สอนมากที่สุด เพลงมีความไพเราะและมีสไตล์ที่ค่อนข้างหลากหลายมากๆ และไม่ช้าแบบสำนักพิมพ์อื่นๆ นอกจากนี้นักเรียนยังไม่ยึดติดในการเล่นเปียโนใน position ใด position หนึ่งด้วย เพราะมีการย้ายตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา ภาพประกอบก็มีความสวยงาม รวมถึงหนังสือทักษะอื่นๆก็น่าสนใจและครอบคลุมเรื่องที่นักเรียนต้องเรียนรู้ครบทุกองค์ประกอบค่ะ
6. หนังสือเรียนเปียโน Bastien Piano Basics
สำหรับหนังสือเรียนเปียโนระดับต้นของ Bastien นั้นจะมีทั้งหมด 5 ระดับ ซึ่งแต่ละระดับจะประกอบไปด้วยหนังสือ Lesson, Theory, Repetoire, Technique, Sight Reading เหมาะสำหรับนักเรียนที่อายุ 7-11 ปี
สำหรับรูปลักษณ์ของหนังสือนี้จะค่อนข้างโบราณ ไม่น่าสนใจ ภายในหนังสือก็ดูแห้งแล้ง ไม่มีสีสันมากนัก ในเรื่องของบทเรียนนั้นถือว่าไปข้อนค่างเร็วทีเดียวและค่อนข้างยากพอสมควร เพลงในหนังสือจะเน้นเป็นแนวคลาสสิคมากๆ จะไม่มีเพลงแนวป๊อบหรือเพลงที่ลักษณะแบบแจ๊สเหมือนกับหนังสือเปียโนของ Hal Leonard
ความคิดเห็นส่วนตัวของครูคือ ครูคิดว่าหนังสือเรียนเปียโนของ Bastien ค่อนข้างน่าเบื่อและนักเรียนก็ไม่รู้สึกสนุกสนานในการเรียนจากหนังสือของสำนักพิมพ์นี้ด้วย ครูจึงไม่ค่อยได้ใช้หนังสือเซ็ตนี้สักเท่าไหร่ค่ะ
7. หนังสือเรียนเปียโน Suzuki Piano School
สำหรับหนังสือเรียนของสำนักพิมพ์ Suzuki นั้น แรกเริ่มเดิมทีนั้นเป็นหนังสือเรียนไวโอลินสำหรับเบื้องต้นที่ใช้มากที่สุด ซึ่งนักไวโอลินที่ชื่อ ซูซูกิ ได้เขียนตำราเอาไว้ ตอนหลังถึงได้มีการเขียนหนังสือสำหรับเปียโนขึ้นมา
Suzuki Method เป็นการเรียนเปียโนโดยอิงหลักที่ว่า นักเรียนควรเริ่มเรียนเปียโนจากการฟัง เหมือนกับการเรียนภาษา ซึ่งการเรียนภาษานั้นเราไม่ได้เริ่มจากการอ่านเขียน แต่เริ่มมาจากการฟังและการฝึกพูด ดังนั้นในการเรียนดนตรีก็เช่นกัน ควรจะเรียนจากการฟังและการฝึกเล่น ไม่ใช่เริ่มจากการอ่านโน้ต
คอนเซ็ปนี้ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นบัวใต้น้ำมาโดยตลอด เพราะมันเปิดโลกครูมากๆ ครูคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่ดีมากๆ ครูเริ่มศึกษาการสอนเปียโนด้วยหลักสูตรของ Suzuki อย่างจริงจัง และครูมีความศรัทธาในวิธีการสอนของเขามากๆ
การสอนด้วย Suzuki Method นั้นส่วนใหญ่แล้วครูจะต้องมีการอบรม ซึ่งการอบรมให้ครบคอร์สนั้นกินเวลามากถึง 2 ปีเลยทีเดียว ตรงนี้ครูไม่ได้เข้าอบรมแต่ครูศึกษาเอาจากในยูทูปและบทความต่างๆ แต่หากครูมีโอกาสก็อยากจะเข้าอบรมหลักสูตรทั้งหมดเพื่อที่จะเรียนรู้วิธีการสอนของ Suzuki อย่างจริงจัง
หลักสูตรการเรียนเปียโนของ Suzuki นั้นจะมีทั้งหมด 7 ระดับด้วยกัน ซึ่งหลังจากที่นักเรียนจบ level 1แล้ว นักเรียนสามารถเล่นได้เยอะมากๆ
ถ้าเทียบกับ level 1 ของ Suzuki กับหลักสูตรอื่นๆ หลักสูตรของ Suzuki ชนะเลิศค่ะ นักเรียนจะได้เรียนเทคนิคต่างๆตั้งแต่ level 1 ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังนิ้ว การเล่น statcato และ legato นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การเล่นให้มีความไพเราะอีกด้วย
ข้อเสียของหลักสูตรนี้คือ ในระดับต้นนั้นนักเรียนจะไม่ได้อ่านโน้ตเลย แต่จะเล่นจากการร้องและการจำเท่านั้น ดังนั้นหากนักเรียนไปเรียนต่อกับครูคนอื่นซึ่งไม่ได้ใช้หลักสูตรนี้ก็จะเกิดปัญหาได้ ข้อเสียอีกข้อหนึ่งคือ นักเรียนและผู้ปกครองอาจเกิดความเบื่อหน่ายได้ เพราะใน level 1 นั้นนักเรียนจะเล่นเพลง Twinkle Twinkle Little Star ซึ่งจะต้องเล่นเป็น Variation แบบต่างๆ ซึ่งเวลาที่นักเรียนฝึกที่บ้านแล้วอาจทำให้ผู้ปกครองเกิดอาการปวดหัวได้ เพราะต้องฟังจังหวะซ้ำๆกันตลอดเวลา และเวลาที่ครูจัด Recital นักเรียนจะเล่นเพลงเดียวกันหมดทุกคน ซึ่งก็ทำให้ Recital น่าเบื่อเช่นกันค่ะ แต่หากเพื่อนๆสามารถอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจได้ ก็จัดว่าเป็นหลักสูตรที่ดีที่สุดหลักสูตรหนึ่งเลยค่ะ
บทสรุป
แต่ละสำนักพิมพ์ก็มีข้อดีข้อเสียในการสอนเปียโนที่แตกต่างกันออกไป สำหรับครูจะเลือกใช้หลักสูตรของแต่ละสำนักพิมพ์ให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน เพราะนักเรียนแต่ละคนจะมีลักษณะการเรียนเปียโนที่แตกต่างกัน บางคนเร็วบางคนช้า บางคนชอบเพลงแนวคลาสสิค บางคนชอบแนวป๊อบ บางคนซ้อมมากบางคนไม่ซ้อมเลย ก็ต้องจัดกันไปให้ตรงกับบุคลิกของนักเรียนเป็นคนๆไปค่ะ
ครูหวังว่าเพื่อนๆจะได้รับความรู้เกี่ยวกับหนังสือเรียนเปียโนสำหรับเด็กระดับต้นกันไปพอสมควร คราวหน้าเราจะมาพูดถึงหนังสือเรียนเปียโนของผู้ใหญ่กันบ้าง พบกันใหม่กับบทความฉบับหน้าค่ะ
Leave a Reply