ฝึก sight reading อย่างไรให้เล่นได้เร็ว

สำหรับเพื่อนๆนักดนตรีที่ตอนนี้กำลังมีปัญหาเรื่องการ sight reading ไม่ว่าเพื่อนๆจะเอาไปใช้ในการสอบเกรด การสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งเอาไว้หัดเพลง วันนี้ครูมีวิธีที่จะทำให้เราสามารถอ่านโน้ตแล้วเล่นได้ง่ายขึ้น

การฝึก sight reading ให้เล่นได้เร็ว สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องสามารถอ่านโน้ตพื้นฐานได้คล่อง พอเห็นโน้ตแล้วสามารถบอกได้เลยว่าเป็นตัวโน้ตอะไรโดยที่ไม่ต้องนับ จากนั้นจะต้องฝึกมองโน้ตแล้วเล่นกับเครื่องดนตรีโดยเปิดเครื่องเคาะจังหวะไปพร้อมๆกัน พยายามไม่มองที่เครื่องดนตรีแต่ให้โฟกัสที่โน้ตแทน หากฟังไม่ออกว่าเล่นถูกหรือไม่สามารถอัดวีดีโอระหว่างที่เล่นเพื่อเทียบเสียงอีกที เวลาที่มีโน้ตมากกว่า 1 ตัวให้อ่านเฉพาะตัวบนหรือตัวล่างแล้วเทียบคู่เสียง หากมีโน้ต 3 ตัวขึ้นไปให้อ่านเป็นคอร์ด ช่วงแรกให้ฝึกเล่นโน้ตอย่างเดียวก่อน เมื่อคล่องขึ้นแล้วก็ฝึกปรบจังหวะอย่างเดียวและจากนั้นจึงค่อยเล่นโน้ตและจังหวะรวมกัน

เพื่อนๆคนไหนยังอ่านโน้ตไม่คล่อง ลองเช็คคอร์สเรียนออนไลน์เรื่อง การอ่านโน้ตฉบับสมบูรณ์ ดูได้นะคะ ครูสอนเรื่องการอ่านโน้ตอย่างละเอียด พร้อมเทคนิคและแบบฝึกหัดให้ฝึกฝน รับรองว่าถ้าเรียนจบแล้วจะสามารถอ่านโน้ตได้คล่องแน่ๆ และการ sight reading ก็จะง่ายขึ้นมากค่ะ

การอ่านโน้ตฉับพลัน (sight reading) นั้นเป็นสิ่งที่เรียกว่ายากที่สุดในการเล่นดนตรีเลยก็ว่าได้ การ sight reading จะต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างถูกวิธี และนอกจากนี้การฝึกเพลงเยอะๆก็สามารถช่วยให้การ sight reading ดีขึ้นได้ มีนักดนตรีหลายๆคนที่เล่นได้เก่งแต่พอให้เล่นจากการดูโน้ตก็ไม่สามารถเล่นได้ทันทีหรือจะต้องฝึกโดยใช้เวลานาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเล่นดนตรีก็มีหลายวิธีเราไม่จำเป็นต้องเล่นจากการอ่านโน้ตอย่างเดียว เราสามารถอ่านคอร์ดแล้วเล่นหรือเล่นจากการฟังก็ได้เช่นกัน คลิกอ่านบทความเล่นเปียโนจากคอร์ดทำอย่างไรได้ ที่นี่

สำหรับในบทความนี้ครูจะยกตัวอย่างการ sight reading สำหรับนักเรียนเปียโน แต่เคล็ดลับนี้นักดนตรีที่เล่นเครื่องอื่นก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกันแต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกให้เข้ากับเครื่องดนตรีที่เพื่อนๆเล่นกันเล็กน้อยค่ะ

1.ฝึกอ่านโน้ตให้คล่องและทำแบบฝึกหัดเยอะๆ ช่วย sight reading ได้ดีขึ้น

สิ่งที่เราควรโฟกัสเป็นอันดับแรกคือเรื่องของการอ่านโน้ต ยังไม่ต้องใส่ใจในเรื่องของจังหวะ สิ่งสำคัญในการอ่านโน้ตให้เร็วนั้นเพื่อนๆจะต้องสามารถอ่านโน้ตให้คล่องมากที่สุด สำหรับใครที่ยังอ่านโน้ตไม่คล่องสามารถอ่านเคล็ดลับการอ่านโน้ตได้เร็ว ที่นี่ หากเราอ่านโน้ตได้แล้วแต่เวลาที่อ่านโน้ตจะต้องนับเส้นช่องเกือบทุกครั้งแสดงว่าเรายังอ่านไม่คล่อง วิธีที่จะทำให้อ่านคล่องจะต้องทำแบบฝึกหัดเยอะๆ ให้เพื่อนๆคิดถึงเวลาที่เราเรียนเลข เราเข้าใจทฤษฎีแต่เราไม่ได้ทำแบบฝึกหัด เราก็จะไม่มีทางทำโจทย์เลขได้คล่อง การอ่านโน้ตก็เช่นกันจะต้องทำแบบฝึกหัดสำหรับอ่านโน้ต โดยเพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดแบบฝึกหัดตามอินเตอร์เน็ตมาทำซ้ำๆก็จะทำให้อ่านโน้ตได้เร็วขึ้น คอร์สเรียนการอ่านโน้ตฉบับสมบูรณ์ มีแบบฝึกหัดทั้งแบบออนไลน์และแบบดาวน์โหลทำมือมากกว่า 1000 ข้อ ใครอยากอ่านโน้ตคล่องแนะนำมากๆเลยค่ะ

2 ฝึกเล่นโน้ตกับเครื่องดนตรี

พอเราอ่านโน้ตได้คล่องแล้ว เราจะต้องลงมือปฏิบัติโดยการนำโน้ตมาเล่นกับเครื่องดนตรี ให้เพื่อนๆลองเริ่มจากโน้ตทีละตัวก่อน การฝึกกับเครื่องดนตรีนั้นในตอนต้นให้เพื่อนๆฝึกโน้ตง่ายๆก่อนเช่น เล่นฝึกทีละ 2-3 ตัว เช่น ฝึก C D E แค่ 3 ตัวนี้สลับไปมาจนคล่อง เวลาที่เราฝึกก็พยายามให้เล่นโดยใช้นิ้วที่ถูกต้องและใช้นิ้วเดิมทุกครั้ง เช่น ถ้าเราเล่นเปียโน เราก็เอานิ้ว 1 วางที่ตัว C นิ้ว 2 วางที่ตัว D นิ้ว 3 วางที่ตัว E จากนั้นก็ให้ตาดูที่โน้ตและพยายามกดโดยที่ไม่ต้องมองคีย์ พยายามฝึกเล่นให้จังหวะของโน้ตแต่ละตัวสม่ำเสมอกัน อาจจะเริ่มเล่นโน้ตตัวละ 4 จังหวะก่อน โดยเปิดเครื่องเคาะจังหวะประกอบช้าๆ

ครูมีแอพที่เพื่อนๆสามารถดาวน์โหลดมาใช้ฝึกได้ โดยแอพนี้ครูได้ใช้ฝึกกับนักเรียนเปียโนของครูทุกๆคน นักเรียนสามารถ sight reading ได้ดีขึ้นจริงๆ แอพที่ว่านี้ชื่อว่า “Note Rush ” แอพนี้เป็นแอพที่จะต้องเสียเงิน โดยเพื่อนๆเสียเป็นรายปี ปีหนึ่งก็ประมาณ 200 บาท ซึ่งจริงๆฝึกไม่กี่เดือนก็สามารถช่วยให้ sight reading ได้ดีขึ้นแล้วค่ะ

3. ฝึกอ่านโน้ตเป็นคู่เสียง

หลังจากที่เราเล่นโน้ตทีละตัวได้คล่องขึ้นแล้ว ทีนี้ก็มาถึงการอ่านโน้ตที่ซ้อนกัน 2 ตัวบ้าง วิธีการฝึกให้เพื่อนๆจำรูปลักษณ์ของแต่ละคู่เสียงให้ได้ จากนั้นก็ให้เลือกอ่านโน้ตเพียง 1 ตัว จะเป็นตัวบนหรือล่างก็ได้ ส่วนใหญ่ครูจะแนะนำให้อ่านตัวล่างมากกว่าเพราะโน้ตตัวบนส่วนใหญ่จะอยู่บนเส้นน้อยซึ่งจะอ่านยากกว่า แต่ก่อนที่เราจะเริ่มอ่านเป็นคู่เสียงเพื่อนๆต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของตัวโน้ตก่อน เราแบ่งโน้ตเป็น 2 ประเภทคือ โน้ตที่ทับเส้นและโน้ตที่อยู่ในช่อง โน้ตทับเส้นก็คือโน้ตที่อยู่ระหว่างเส้น โน้ตในช่องคือโน้ตที่อยู่ระหว่างช่องนั่นเองค่ะ ให้เพื่อนๆลองดูตัวอย่างประกอบด้านล่างค่ะ

3.1 ขั้นคู่เสียง 3-5-7

จากรูปด้านล่าง ฝั่งซ้ายจะเห็นว่าเราจะมีโน้ต 2 ตัวที่ทับเส้นซ้อนกันเป็นแนวตั้ง ถ้าโน้ตซ้อนติดกันจะเป็นคู่ 3 ถ้าเว้นระยะห่าง 1 เส้นจะเป็นคู่ 5 ถ้าเว้นระยะห่าง 2 เส้นจะเป็นคู่ 7 อีกตัวอย่างหนึ่งทางฝั่งขวา เราจะเห็นว่าเป็นโน้ตในช่องซ้อนกันเป็นแนวตั้ง ถ้าซ้อนติดกันเป็นคู่ 3 เว้นระยะห่าง 1 ช่องจะเป็นคู่ 5 และถ้าเว้นระยะห่าง 2 ช่องจะเป็นคู่ 7

จากรูปเพื่อนๆจะสังเกตได้ว่า หากตัวโน้ตที่ซ้อนกันทั้งสองตัวมีลักษณะเหมือนกัน คือเป็นโน้ตทับเส้นเหมือนกันหรือเป็นโน้ตในช่องเหมือนกันก็จะเป็นคู่ 3-5-7 จะไม่มีทางเป็นคู่ 2-4-6-8 เด็ดขาด

เมื่อเรารู้หลักการจำแบบนี้แล้วให้เพื่อนๆลงมาดูตรงคีย์เปียโนในรูปด้านบน คู่ 3 นั้นจะเว้นระยะโน้ต 1 คีย์ เช่น C – E เราจะเว้นตัว D ไว้ 1 ตัว ในการฝึกระดับต้นให้ลองฝึกที่คีย์ C (C-D-E-F-G-A-B) ก่อน และฝึกโดยใช้นิ้ว 1-3 ในการเล่นคู่ 3 (เราจะนับนิ้วเป็นตัวเลขโดยเริ่มจากนิ้วโป้งนับเป็นนิ้ว 1 แล้วไล่ไปเรื่อยๆจนถึงนิ้ว 5 ซึ่งจะตรงกับนิ้วก้อย)

สำหรับคู่ 5 เราจะเว้นโน้ตไป 3 คีย์ วิธีฝึกจำง่ายๆคือ ถ้าเราเริ่มโน้ตตัวแรกโดยใช้นิ้ว 1 คู่ 5 ก็จะเป็นโน้ตที่ตรงกับนิ้ว 5 พอดี เช่น C-G ในเบื้องต้นให้ฝึกโดยใช้นิ้ว 1-5 ทุกครั้ง

คู่ 7 ก็จะใช้นิ้ว 1-5 โดยวิธีการจำในการเล่นคู่ 7 นั้นเราจะคิดจากคู่ 8 ซึ่งคู่ 8 นั้นจะตรงกับตัว C-C จะเห็นได้ว่ามันเป็นโน้ตตัวเดียวกันแต่แค่สูงขึ้นไป 1 octave ดังนั้นในการหาคู่ 7 เราก็แค่ต้องลดโน้ตลงมาจากคู่ 8 หนึ่งคีย์ ซึ่งก็จะตรงกับตัว C-B เราจะใช้นิ้ว 1-5 เช่นเดียวกับการเล่นคู่ 5 ค่ะ

3.2 ขั้นคู่เสียง 2-4-6-8

สำหรับขั้นคู่เสียงทั้ง 4 แบบนี้จะมีเทคนิคการจำตรงที่ โน้ตทั้งสองตัวนั้นจะมีลักษณะที่ไม่เหมือนกันคือ ตัวหนึ่งจะเป็นโน้ตทับเส้นอีกตัวหนึ่งจะเป็นโน้ตในช่อง ทั้งนี้โน้ตทั้งสองนี้สามารถสลับตำแหน่งล่างบนได้ ลองดูตัวอย่างประกอบที่รูปด้านล่างค่ะ

เวลาที่เราเล่นคู่ 2 นั้น เราก็จะเล่นคีย์ติดกัน ในการฝึกเบื้องต้นให้ฝึกโดยใช้โน้ตตัว C เป็นตัวฐานเช่นเดิม เวลาที่เราเล่นคู่สองก็ใช้นิ้ว 1-2 ถ้าเป็นคู่ 4 ก็จะเว้นไป 2 คีย์ เราจะใช้นิ้ว 1-4 ส่วนคู่ 6 จะขยับนิ้ว 5 ขึ้นไป 1 คีย์ ซึ่งปกตินิ้ว 5 นั้นจะวางไว้ที่ตัว G เราก็ขยับขึ้นไปที่ตัว A และคู่ 8 นั้นก็ง่ายมากเพราะว่าจะเป็นโน้ตตัวเดียวกัน เราจะใช้นิ้ว 1-5

4. อ่านโน้ตเป็นคอร์ดเพื่อให้ sight reading ได้เร็วขึ้น

สำหรับข้อนี้นั้นเป็นข้อที่ยากที่สุด ซึ่งนอกจากเพื่อนๆจะต้องแม่นทฤษฏีเรื่องคอร์ดพื้นฐานแล้ว ยังต้องแม่นเรื่องของการพลิกกลับคอร์ดอีกด้วย ดังนั้นในข้อนี้ครูจะไม่ลงลึกในรายละเอียดสักเท่าไหร่นะคะ เพื่อนๆ ที่ยังไม่แม่นเรื่องคอร์ด สามารถอ่านบทความ สอนหาคอร์ดเปียโนพื้นฐาน ในบทความนี้ก็จะสอนวิธีการหาคอร์ดแบบธรรมดาและวิธีลัด

ในการฝึกอ่านการเป็นคอร์ดนั้นควรฝึกคอร์ดแบบ root position และคอร์ดแบบพลิกกลับทั้ง 2 แบบ เวลาฝึกก็ให้จำรูปร่างของคอร์ดนั้นๆด้วย นอกจากนี้ยังต้องใช้นิ้วให้ถูกต้อง เวลาที่เราฝึกจะต้องฝึกไล่ไปทุกคอร์ดเหมือนกับเวลาที่เราฝึกไล่สเกลทุกคีย์เพื่อให้นิ้วเคยชิน เวลาที่เราเห็นรูปร่างของคอร์ดเหล่านี้มือของเราก็จะสามารถสร้างรูปทรงได้ตามคอร์ดที่เปลี่ยนไป

จากตัวอย่างด้านบน จะเป็นคอร์ด C Major ในห้องแรกจะเป็นคอร์ด C แบบ root position เราจะใช้นิ้ว 1-3-5 คอร์ดที่ 2 คือคอร์ด C พลิกกลับครั้งที่ 1 ใช้นิ้ว 1-2-5 และคอร์ดที่ 3 คือคอร์ด C Major พลิกกลับครั้งที่ 3 จะใช้นิ้ว 1-3-5 สำหรับมือขวาเราจะใช้นิ้วตามนี้และจะใช้กับทุกคอร์ดที่ประกอบไปด้วยโน้ต 3 ตัว ในมือซ้ายนั้นจะมีการเปลี่ยนนิ้วในคีย์ Major และ minor ซึ่งครูจะมาอธิบายในบทความถัดไป

ในการเล่นโดยอ่านเป็นคอร์ดนั้นส่วนใหญ่แล้วเราจะดูว่ารูปทรงของคอร์ดเป็นแบบไหนเพื่อที่จะเปลี่ยนรูปทรงของนิ้วไปตามคอร์ดนั้นๆ สำหรับนักเปียโนส่วนใหญ่ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างหนักเมื่อเห็นรูปทรงเหล่านี้ก็สามารถเล่นได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์คอร์ดได้จากการมองผ่านแค่รอบเดียวเท่านั้น ซึ่งหากเพื่อนๆทำข้อนี้ไม่ได้ก็อย่าท้อแท้ค่ะเพราะนักเปียโนที่ได้รับการฝึกฝนมานั้นต้องฝึกหนักมาเป็นเวลาหลายปีมากๆและยังฝึกซ้อมวันละหลายๆชั่วโมงอีกด้วย

สำหรับเพื่อนๆที่ยังไม่แม่นในการอ่านคอร์ดสามารถแยกอ่านเป็นขั้นคู่เสียงแทนได้ดังนี้

จากตัวอย่างด้านบน แทนที่เราจะอ่านเป็นคอร์ด เราสามารถอ่านแยกเป็นคู่เสียงทีละตัวได้ เช่นในรูปด้านซ้ายสุด เราจะเห็นว่ามีโน้ตที่เป็นโน้ตทับเส้นทั้งหมดและตัวติดกัน เราสามารถบอกได้เลยว่าคอร์ดนี้ประกอบไปด้วยคู่ 3 กับคู่ 3 เวลาที่เราเล่น เราก็อ่านโน้ตตัวล่างคือตัว C แล้วก็เว้นโน้ตไป 1 คีย์ก็จะได้ตัว E และก็เว้นไปอีก 1 คีย์ ซึ่งก็คือตัว G ในคอร์ดที่ 2 และ 3 ก็อ่านแบบเดียวกัน

5. ฝึกปรบจังหวะเพื่อให้ sight reading ได้เร็วขึ้น

เมื่อเราฝึกเรื่องการอ่านโน้ตได้คล่องแล้ว ทีนี้เราก็มาฝึกเรื่องของจังหวะแยกออกมาอีกที เราจะไม่ฝึกรวมกับการอ่านโน้ตเพราะจะทำให้สับสนและเราไม่สามารถโฟกัสเกี่ยวกับการอ่านจังหวะได้ดีเท่าที่ควร วิธีฝึกที่ครูชอบใช้กับนักเรียนก็คือ ให้เราเอาเพลงจากบทเรียน sight reading ออกมาแยกฝึกปรบจังหวะ จริงๆแล้วนักเรียนของครูจะไม่ค่อยได้ปรบมือแต่จะใช้การกดบนคีย์เปียโนแทน โดยจะกดโน้ตแค่ 1 ตัวคือตัว C ครูจะเริ่มที่มือขวาก่อน จากนั้นก็ใช้มือซ้ายกดที่ตัวโน้ตตัว C หรือตัว F ก็ได้ เมื่อฝึกทีละมือได้แล้วก็จะเล่นทั้ง 2 มือโดยยังคงเล่นโน้ตตัวเดียวอยู่เช่นเดิม เมื่อเล่นได้ดีแล้วทีนี้ก็ได้เวลาที่จะให้เล่นโน้ตพร้อมกับการเล่นจังหวะแล้วค่ะ

สำหรับเพื่อนๆที่ยังปรบจังหวะไม่คล่องสามารถคลิกอ่านบทความ สอนอ่านจังหวะโน้ตดนตรีง่ายๆ ถ้าใครที่ได้จังหวะพื้นฐานแล้วสามารถอ่านบทความ สอนอ่านโน้ตเขบ็จสองชั้นแบบละเอียด และหากเพื่อนๆคนไหนสับสนเรื่องเครื่องหมายบอกจังหวะที่เป็นส่วน 8 กับส่วน 4 สามารถอ่านบทความ ความแตกต่างของจังหวะ 3/4 และ 6/8 ได้ที่นี่

นี่ก็เป็นวิธีเบื้องต้นในการช่วยให้เราอ่านโน้ตเล่นสดได้เร็วขึ้น การอ่านบทความอย่างเดียวจะไม่ทำให้เรา sight reading ได้เร็วขึ้นแต่ต้องประกอบไปด้วยการลงมือปฏิบัติและฝึกฝนซ้ำๆ นอกจากนี้การหัดเพลงใหม่บ่อยๆก็จะช่วยให้เรา sight reading ได้เร็วขึ้นอีกด้วยค่ะ


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *