เพื่อนๆเคยสงสัยหรือไม่ว่าคอนดัคเตอร์ที่ยืนอยู่หน้าวงออร์เคสตรามีหน้าที่ทำอะไร แล้วเขาโบกไม้โบกมือเพื่ออะไร วันนี้เราจะมาคุยกันว่าคอนดัคเตอร์คือใครและมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง
คอนดักเตอร์หรือเรียกว่าวาทยากร คือผู้ควบคุมวงออร์เคสตราและเป็นคนส่งสาส์นต่อจากนักประพันธ์ไปสู่นักดนตรีผ่านทางภาษาท่าทาง คอนดักเตอร์จะตีความบทเพลงโดยใช้องค์ความรู้ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ทฤษฎีและประสบการณ์ โดยใช้ไม้บาตอง (baton) ในการกำหนดจังหวะจักโคนของเพลงนั้นๆ รวมถึงสื่อสารในด้านของอารมณ์และรายละเอียดอื่นๆของเพลง
หน้าที่ของคอนดักเตอร์มีอะไรบ้าง
หลังจากได้สัมภาษณ์ ดร.ปริญญา ชูเชิดวัฒนศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านคอนดัคติง จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขา Orchestral Conducting จาก University of Missouri Kansas City ครูก็เลยต้องมาแก้ไขบทความเนื่องจากได้รับข้อมูลที่ไม่ครูไม่เคยรู้มาก่อนเลยจริงๆว่าหน้าที่สำคัญของคอนดัคเตอร์นั้นไม่ใช่แค่ควบคุมวงดนตรี แต่มีหน้าที่ติดต่อขอบริจาคเงินด้วย!!!! อยากรู้รายละเอียดกันแล้วใช่มั้ยคะ เดี๋ยวเราไปดูกันเลยค่ะ
1. คอนดักเตอร์มีหน้าที่ติดต่อขอรับบริจาคเงิน
คอนดัคเตอร์จะขอบริจาคเงินจากกลุ่มที่รักดนตรีคลาสสิคที่เรียกว่า Patron (เพทรอน) ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ที่บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนวงออร์เคสตรา แต่ส่วนมากก็จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจหรือกลุ่มแพทย์ที่รักเสียงดนตรี
2. คอนดักเตอร์ต้องเลือก arrangement (การเรียบเรียงเสียงประสาน) ของบทเพลงนั้นๆให้เหมาะกับวง
การเลือก arrangement ให้เหมาะสมกับวงดนตรีเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก หากเราควบคุมวงคอรัส เราก็จะต้องหาการเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับการร้องคอรัส หรือถ้าเราคุมวงเครื่องเป่าก็ต้องเลือกให้ตรงตามเครื่องดนตรีในวงนั้นๆ
3. คอนดักเตอร์ต้องศึกษาบทเพลงที่จะแสดงอย่างละเอียด
คอนดักเตอร์จะต้องทำความเข้าใจเครื่องดนตรีแต่ละเครื่องว่ามีความสำคัญกับบทเพลงอย่างไร สามารถอ่านสกอร์เพลงและคิดเสียงของเครื่องดนตรีนั้นๆในหัวได้ ตีความบทเพลงว่าอยากจะให้ออกมาในลักษณะใด จำสกอร์เพลงคร่าวๆได้และรู้ว่าเครื่องไหนจะเล่นเมื่อไหร่ หาบาลานซ์ของแต่ละเครื่องให้ได้ รู้ว่าเมื่อไหร่เครื่องไหนควรเป็นพระเอกหรือเครื่องไหนควรเป็นตัวประกอบ สามารถตีความบทเพลงนั้นๆโดยใช้ทักษะทางด้านประวัติศาสตร์ ทฤษฎีดนตรีและประสบการณ์จากการเล่นดนตรีและการควบคุมวง
4. คอนดักเตอร์ต้องนำวงซ้อมและแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
นักดนตรีอาจจะมีการตีความที่ไม่ตรงกับที่คอนดักเตอร์คิดไว้ หรืออาจจะเล่นโน้ตเพี้ยนหรือเล่นจังหวะเหลื่อมเล็กน้อย คอนดัคเตอร์จะต้องมีตาและหูที่ไว เพื่อที่จะได้ยินข้อผิดพลาดเหล่านั้นและแก้ไขปรับปรุงในขณะที่ซ้อม ลองคิดดูนะคะว่าวงออร์เคสตร้าวงหนึ่งมีนักดนตรีเป็นร้อยคน คอนดัคเตอร์จะต้องมีหูและตาทิพย์ขนาดไหนถึงจะจับผิดนักดนตรีแต่ละคนได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่งานที่ง่ายเลย
5. คอนดักเตอร์ต้องสื่อสารออกมาให้นักดนตรีเข้าใจ
เราจะเห็นว่าคอนดักเตอร์มักทำท่าทางประหลาดๆ ซึ่งก็จะมีการแกว่งไม้ไปมา บางคนแกว่งธรรมดาไม่หวือหวา บางคนแกว่งจนโยกไปทั้งตัวแถมยังมีกระโดดไปมาตามจังหวะเพลงอีกด้วย การแกว่งไม้ไปมานั้นเป็นการกำหนดจังหวะและอารมณ์ความรู้สึกที่คอนดักเตอร์ต้องการให้นักดนตรีแสดงออกมานั่นเอง จริงๆแล้วท่าทางนั้นไม่ได้เป็นตัวบอกว่าคอนดักเตอร์คนนั้นๆเก่งกว่าอีกคน บางทีเราเห็นคนที่ทำท่าเว่อร์ๆแล้วเราก็เลยคิดว่าคอนดักเตอร์คนนี้เก่ง แต่จริงๆแล้วคอนดักเตอร์คนนั้นอาจจะไม่ได้สื่อสารกับนักดนตรีได้ดีเท่ากับคนที่แกว่งไม้แบบเนิบๆเลย ดังนั้นเราจะดูว่าคอนดักเตอร์คนนั้นเก่งหรือไม่ เราต้องใช้หูฟังว่าเราชอบสไตล์ดนตรีที่แสดงออกมาหรือไม่ นักดนตรีมีความพร้อมเพรียงกันและเล่นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ถ้าหากคอนดักเตอร์เก่งก็จะสามารถสื่อความต้องการไปสู่นักดนตรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คอนดักเตอร์ต้องมีทักษะอะไรบ้าง
1. คอนดักเตอร์ต้องมีคอนเนคชั่นเยอะมากๆและต้องมีหัวธุรกิจ
เนื่องจากงานหลักๆของคอนดักเตอร์นั้นจะต้องเป็นคนที่ติดต่อขอบริจาคเงินสนับสนุนจาก Patron (กลุ่มคนที่บริจาคเงิน) ดังนั้นคอนดักเตอร์จะต้องมีคอนเนคชั่นและรู้จักคนเยอะๆเพื่อที่จะได้ติดต่อขอบริจาคเงินได้มากขึ้น ปีๆหนึ่งคอนดักเตอร์สามารถหาเงินบริจาคได้เป็นพันล้านบาทเลยทีเดียว
2. คอนดักเตอร์จะต้องมีทักษะทางด้านจิตวิทยา
เนื่องจากเวลาที่คอนดักเตอร์สื่อสารกับนักดนตรีนั้นจะต้องพยายามที่จะพูดโน้มน้าวให้นักดนตรีคล้อยตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ จะต้องรู้ว่าจะพูดอย่างไรให้นักดนตรีอยากเล่นและสนุกกับเพลงที่เล่น เพราะหลายครั้งนักดนตรีบางคนก็มีอีโก้สูงและไม่ยอมทำตามที่คอนดักเตอร์สั่ง คิดดูสิว่ากว่าจะเล่นได้จนถึงระดับออร์เคสตรานั้นจะต้องเล่นเก่งขนาดไหน การมีอีโก้ก็อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่จะทำให้นักดนตรีนับร้อยยอมรับและยอมทำตามแต่โดยดี
3. คอนดัคเตอร์จะต้องมีหูตาเป็นสัปปะรด
เนื่องจากต้องอ่านโน้ตเยอะมากๆแบบว่าเต็มหน้ากระดาษกันเลย แต่ละเครื่องยังเล่นกันคนละกุญแจอีกต่างหาก คอนดักเตอร์จึงต้องตาไวและหูไวมากๆถึงจะสามารถควบคุมเพลงให้อยู่หมัด
4. คอนดักเตอร์ต้องมีทักษะในการจัดการและบริหาร
เราสามารถเปรียบคอนดักเตอร์ได้กับตำแหน่งงาน CEO (Chief Executive Officer) หรือ COO (Chief Operating Officer) จริงๆน่าจะเหมือนกับ COO มากกว่า ซึ่ง COO คือ ผู้ดูแลความเรียบร้อยในทุกส่วนในเรื่องของการจัดการและการบริหาร การคุมวงออร์เคสตร้าก็เป็นการจัดการและบริหารอย่างหนึ่ง คอนดักเตอร์รู้ว่าเขาต้องการอะไรจากนักดนตรี และเขาจะดึงศักยภาพของนักดนตรีแต่ละคนออกมาได้อย่างไร และจะจัดการและบริหารในเรื่องของการซ้อมอย่างไร
5. คอนดักเตอร์ต้องเข้าใจว่าเครื่องดนตรีแต่ละเครื่องมีลักษณะอย่างไร
หมายความว่าคอนดักเตอร์จะต้องรู้ธรรมชาติของเครื่องดนตรีนั้นๆว่ามีจุดเด่นจุดด้อยในด้านไหน เช่นตระกูลเครื่องสายอาจมีปัญหาในเรื่องของการสีเสียงเพี้ยนง่ายกว่า หรือว่าโน้ตตรงนี้เสียงสูงมากและเป็นส่วนที่เล่นยากสำหรับเครื่องเป่า แม้ว่าคอนดักเตอร์อาจจะไม่ได้เล่นได้ทุกเครื่องแต่ก็เข้าใจเครื่องดนตรีแต่ละชนิดอย่างลึกซึ้ง หากเพื่อนๆอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องดนตรีสากลสามารถอ่านบทความ เครื่องดนตรีมีกี่ประเภท เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าแต่ละเครื่องดนตรีมีความแตกต่างกันอย่างไร
6. คอนดักเตอร์ต้องแม่นเรื่องจังหวะ
เพราะต้องเป็นคนคุมจังหวะให้กับนักดนตรีทั้งวง ถึงแม้วงดนตรีจะเล่นแสดงออกทางอารมณ์ได้ดีมากแต่จังหวะย้วยไม่เท่ากันทั้งเพลง อรรถรถของเพลงก็ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงต้องคุมจังหวะให้สม่ำเสมอ
7. คอนดักเตอร์ต้องมีความกล้าบ้าบิ่น
คอนดักเตอร์ต้องกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ อาจจะตีความเพลงในแบบที่แปลกใหม่ หรือบางทีอาจจะเปลี่ยนจังหวะให้มีความแตกต่างจากเดิมเล็กน้อย เพื่อเพิ่มอรรถรถให้กับเพลงนั้นๆ แต่ทั้งที่ทั้งนั้นก็ไม่ตีความบทเพลงแปลกเกินจนไม่อยู่ในขอบเขตของบทเพลงนั้นๆ
8.คอนดักเตอร์ต้องแม่นเรื่องทฤษฎีและประวัติศาสตร์
คอนดักเตอร์ควรมีความรู้ในสองเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะจะช่วยในการตีความเพลงให้ตรงกับยุคสมัยและเข้าใจในเรื่องฮาร์โมนีและอื่นๆ
จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีคอนดักเตอร์ในวงออร์เคสตร้า
รู้หน้าที่ของคอนดักเตอร์กันไปแล้ว ทีนี้เรามาดูกันว่าถ้าเกิดเราเล่นดนตรีโดยที่ไม่มีคอนดักเตอร์นั้นจะเกิดอะไรขึ้น
ถ้าหากไม่มีคอนดักเตอร์ช่วยควบคุมวง นักดนตรีจะเล่นจังหวะไม่ตรงกัน บางคนจะเล่นช้าบางคนจะเล่นเร็ว จังหวะโดยรวมจะไม่เท่ากันทั้งเพลง ดนตรีแต่ละเครื่องจะเล่นเหลื่อมกัน ความดังเบาของเครื่องดนตรีแต่ละกลุ่มจะไม่บาลานซ์กัน จะไม่ได้ยินทำนองที่ชัดเจน แนวดนตรีที่เป็นส่วนประกอบจะดังเกินไป เสียงของเครื่องดนตรีอาจเพี้ยน นักดนตรีจะเริ่มเล่นเพลงและจบไม่พร้อมกัน
เวลาที่เราเล่นดนตรีหรือเล่นกีฬานั้นเราจะมีผู้เล่นหลายคนในทีมเดียวกัน เราจำเป็นต้องมีหัวหน้าหรือโค้ชที่ช่วยแนะนำหรือนำพาให้ทีมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การเล่นดนตรีนั้นเราจะไม่ได้เล่นแค่โน้ตหรือจังหวะ แต่เราจะต้องมีการคิดและตีความบทเพลงนั้นๆว่าผู้ประพันธ์ต้องการสื่ออะไร ต้องการความเร็วช้าเท่าไหน หรือท่อนไหนควรเน้นอารมณ์หนักๆหรือท่อนไหนควรผ่อนจังหวะลง แม้ว่าผู้ประพันธ์เพลงจะมีการใส่เครื่องหมายต่างๆเพื่อกำหนดว่าต้องการให้บทเพลงเป็นอย่างไร แต่มันก็ไม่ได้ละเอียดยิบจนนักดนตรีแต่ละคนเล่นเหมือนกันเป๊ะ ลองดูแบบนี้ก็ได้ง่ายๆ ลองเลือกเพลงที่ชอบสักเพลง จะเป็นเพลงร้องก็ได้ แล้วเข้าไปเซิร์ชในยูทูป โดยกดชื่อเพลงและกดคำว่า cover เราจะเห็นว่ามีคนร้องเพลงนี้มากมายหลายคนเลยทีเดียว ทีนี้เพื่อนๆลองเปิดฟังสักสองสามคนแล้วจะเห็นว่านักร้องแต่ละคนร้องไม่เหมือนกันเลย นั่นเป็นเพราะการตีความบทเพลงที่แตกต่างกันนั่นเอง
ทีนี้ลองคิดดูนะคะว่าในวงออร์เคสตร้านั้นมีนักดนตรีเป็นร้อยคน แต่ละคนก็มีการตีความเพลงที่ต่างกันออกไป ทีนี้เวลามาเล่นรวมกันมันก็จะไม่เข้ากันอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะเรื่องพื้นฐานอย่างจังหวะ ความดังเบาและรายละเอียดอื่นๆที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นเราจึงต้องมีโค้ชที่จะเป็นคนที่กำหนดว่าเราจะเล่นอย่างไร จังหวะเท่าไหร่ ความดังเบาแค่ไหน ตรงไหนเล่นเร็วขึ้นเพราะต้องการให้รู้สึกตื่นเต้น ตรงไหนเล่นช้าลงเพราะต้องการให้รู้สึกผ่อนคลาย หรือตรงไหนที่เครื่องสายควรเบาแล้วให้เครื่องเป่าเด่น ตรงไหนที่ทุกเครื่องต้องเล่นดังพร้อมกันเพื่อให้เพลงฟังดูยิ่งใหญ่ หรือตรงไหนต้องเล่นให้เบากริบ และสุดท้ายทำอย่างไรทุกเครื่องดนตรีถึงจะจบพร้อมกัน เรื่องละเอียดเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่คอนดักเตอร์ต้องทำทั้งสิ้น และรายละเอียดยิบย่อยนี้เองที่ทำให้วงออร์เคสตร้าแต่ละวงมีการเล่นที่แตกต่างกันไป ในการเล่นบทเพลงเดียวกันนั้น บางวงเล่นได้ไพเราะกินอารมณ์จนบางทีคนฟังถึงกับร้องไห้ บางวงเล่นแล้วรู้สึกเฉยๆ ดังนั้นการมีคอนดักเตอร์ที่เก่งก็จะสามารถนำพาวงให้ไปถึงฝั่งฝันได้
ทำไมดนตรีป๊อบหรือแจ๊สไม่จำเป็นต้องมีคอนดักเตอร์
เนื่องจากการเล่นดนตรีป๊อบหรือแจ๊สนั้นมีนักดนตรีเพียงไม่กี่คน นักดนตรีในวงสามารถหารือกันว่าอยากจะเล่นเพลงให้ออกมาแบบไหน อยากจะปรับจังหวะให้ช้าลงหรือเร็วขึ้นกว่าต้นฉบับ อยากจะตัดบางท่อนให้สั้นลงหรืออยากจะเพิ่มสีสันให้กับช่วงไหนของเพลงก้ได้ และด้วยจำนวนนักดนตรีที่น้อยนั่นเองจึงสามารถประนีประนอมในการตีความบทเพลงที่จะเล่นได้ไม่ยาก และการแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆก็ไม่ยากเช่นกันเพราะแต่ละเครื่องมีนักดนตรีเล่นแค่คนเดียวเท่านั้น
หากเพื่อนๆไม่แน่ใจว่าแนวป๊อบหรือแนวแจ๊สเป็นอย่างไร สามารถอ่านบทความ แนวดนตรีที่สำคัญมีอะไรบ้าง ได้เลยค่ะ
อยากเป็นคอนดักเตอร์ต้องทำอย่างไร
อยากเป็นคอนดักเตอร์ต้องฝึกฝนทักษะทางด้านดนตรี
การที่จะเป็นคอนดักเตอร์ได้นั้น เพื่อนๆต้องมีการฝึกฝนทางด้านดนตรีมาหลายปี อาจเริ่มตั้งแต่เด็กโดยเริ่มจากการเรียนดนตรีเดี่ยวในเครื่องดนตรีต่างๆ หรืออาจะเรียนร้องเพลงก็ได้ ต้องอ่านโน้ตอ่านจังหวะได้และควรมีการแสดงความสามารถทางดนตรีเรื่อยๆ
อยากเป็นคอนดักเตอร์ต้องเรียนจบปริญญาตรีทางด้านดนตรี
คอนดักเตอร์จะต้องจบปริญญาตรี โดยเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องในด้านดนตรี อาจจะเรียนสาขาการประพันธ์เพลง (music composition) หรือสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มีเพื่อนครูหลายๆคนที่ตอนเรียนปริญญาตรีเรียนสาขาการประพันธ์เพลง จากนั้นก็ไปต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาการควบคุมวง วิชาที่ต้องครอบคลุมในเนื้อหาได้แก่ ear training, music theory, composition, pedagogy, arranging, orchestration
อยากเป็นคอนดักเตอร์ต้องสะสมประสบการณ์ทางด้านดนตรี
การที่จะเป็นคอนดักเตอร์ที่ดีนั้นควรเป็นจะเป็นนักดนตรีที่ดีด้วย เพื่อนๆควรเข้าร่วมเล่นดนตรีในวงต่างๆไม่ว่าจะเป็นวงคอรัส เล่นในวงออร์เคสตร้า หรือวงแบนด์อื่นๆ เพื่อที่จะเข้าใจการเล่นดนตรีร่วมกับผู้อื่น
อยากเป็นคอนดักเตอร์ต้องศึกษาต่อในระดับปริญญาโทเอกคอนดักติง
ส่วนใหญ่โปรแกรมคอนดักติ้ง (conducting) จะมีในระดับปริญญาโท ซึ่งการเรียนในระดับปริญญาโทนี้จะช่วยให้เพื่อนๆได้โฟกัสในการควบคุมวงคอรัส วงเครื่องเป่า วงออร์เคสตร้าและวงอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งนักเรียนจะได้รับการฝึกฝนจากอาจารย์ผู้มีประสบการณ์สูงและได้ลงสนามจริงในการฝึกควบคุมวงด้วย
10 อันดับคอนดักเตอร์ที่มีรายได้สูงที่สุดในโลกมีใครบ้าง
รายได้ของคอนดักเตอร์ที่โด่งดังนั้นมากจนน่าตกใจเลยทีเดียวค่ะ หลังจากที่ได้สัมภาษณ์ ดร. ปริญญาก็ถึงบางอ้อ เพราะในปีๆหนึ่งคอนดักเตอร์หาเงินบริจาคให้กับวงหลายพันล้านบาทเลยทีเดียว ดังนั้นรายได้เท่านี้ขนหน้าแข้งของวงก็ไม่ร่วงแน่นอน ครูได้จัดอันดับรายได้ของคอนดักเตอร์จากผู้ที่มีรายได้มากที่สุดและไล่ลงมา 10 อันดับดังนี้ค่ะ
- Riccardo Muti – คอนดัคเตอร์จากวง Chicago Symphony รายได้ต่อปี $3,420,804 (114,870,598 บาท)
- Gustavo Dudamel – คอนดัคเตอร์จากวง Los Angeles Philharmonic รายได้ต่อปี $2,857,103 (95,941,518 บาท)
- Michael Tilson Thomas – คอนดัคเตอร์จากวง San Francisco Symphony รายได้ต่อปี $2,139,720 (71,851,797 บาท)
- Andris Nelsons – คอนดัคเตอร์จากวง Boston Symphony รายได้ต่อปี $1,787,000 (60,007,460 บาท)
- Yannick Nézet-Séguin -คอนดัคเตอร์จากวง Philadelphia Orchestra รายได้ต่อปี $1,672,167 (56,151,367 บาท)
- Cleveland Orchestra – คอนดัคเตอร์จากวง Cleveland Orchestra รายได้ต่อปี $1,485,371(49,878,758 บาท)
- Osmo Vänskä – คอนดัคเตอร์จากวง Minnesota Orchestra: $1,036,622 รายได้ต่อปี (34,809,766 บาท)
- Jaap Van Zweden – คอนดัคเตอร์จากวง Dallas Symphony รายได้ต่อปี $911,024 (30m592,185 บาท)
- Jaap Van Zweden – คอนดัคเตอร์จากวง New York Philharmonic รายได้ต่อปี $816,375 (27,413,872 บาท)
- Marin Alsop – คอนดัคเตอร์จากวง Baltimore Symphony รายได้ต่อปี $756,911 (25,417,071 บาท)
คอนดักเตอร์ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย
สมเถา สุจริตกุล – เป็นวาทยากร คีตกร นักประพันธ์เพลงคลาสสิก ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนที่มีชื่อเสียงเป็นสากลคนหนึ่งของเมืองไทย เขาเป็นนักเรียนทุนของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยเข้าศึกษาวิชาดนตรีควบคู่กับวรรณคดีอังกฤษและสำเร็จปริญญาตรีและปริญญาโทด้วยคะแนนเกียรตินิยม เขาเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิอุปรากรกรุงเทพฯ
ดร. ปริญญา ชูเชิดวัฒนศักดิ์ – ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านคอนดัคติ้ง จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขา Orchestral Conducting จาก University of Missouri Kansas City ซึ่งได้ควบคุมวงมาแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยข้อมูลบางส่วนในบทความนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์ ดร. ปริญญา ซึ่งทำให้บทความนี้มีรายละเอียดในมุมที่ลึกมากขึ้น
พันเอก ดร. ประทีป สุพรรณโรจน์ – อ. ประทีปสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางด้านดนตรีจากวิทยาลัยดนตรี (Royal Military School of Music, Kingston University) ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) ที่สำคัญก็คือ ตลอดเวลา 13 ปีที่คุมวงออร์เคสตร้าเขาได้รับหน้าที่เรียบเรียงเสียงประสานซึ่งได้นำเพลงไทยมาทำให้เป็นเพลงคลาสสิกไว้กว่า 300 เพลง ซึ่งมากที่สุดในบรรดานักดนตรีคนไทยที่ทำมาทั้งหมด
ดร. ธนพล เศตะพราหมณ์ -ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Music Director ของ Mahidol Wind Orchestra เป็นหัวหน้าภาควิชาการอำนวยเพลงที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลที่สองจาก The American Prize in Conducting ในปี 2013 และ 2014 ได้รับปริญญาเอกด้านการอำนวยเพลงและประวัติศาสตร์ดนตรีจาก Conservatory of Music, University of Cincinnati และจบปริญญาโทด้านการอำนวยเพลงจาก New England Conservatory of Music และปริญญาตรีสาขาการประพันธ์ดนตรี จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พลเรือตรี วีระพันธ์ วอกลาง – เป็นอาจารย์และผู้อำนวยเพลง ทำหน้าที่เป็นวาทยากรของวงดุริยางค์ราชนาวี กองดุริยางค์ทหารเรือ จนได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงค์ตำแหน่งพลเรือตรีคนแรกและคนเดียวทางด้านสาขาดนตรี เป็นผู้วางรากฐานและร่วมก่อตั้งวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (BSO)
ดร. วานิช โปตะวนิช – เป็นนักทรัมเป็ตและวาทยากรประจำวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (BSO) และวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร
รองศาสตราจารย์ ดร. นรอรรถ จันทร์กล่ำ – นักไวโอลินและวาทยากรประจำวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (BSO) เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางค์ศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการแสดงไวโอลิน ณ สถาบันดนตรีนิวอิงแลนด์ เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาและปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อนๆได้ทราบเกี่ยวกับคอนดักเตอร์กันไปพอสมควรแล้ว ทีนี้ก็รู้แล้วว่าคนที่แกว่งไม้ไปมาหน้าวงออร์เคสตร้าเค้าทำอะไรกัน พบกันใหม่กับบทความฉบับหน้าค่ะ
หากเพื่อนๆคนไหนสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูในยูทูปบทสัมภาษณ์ของ ดร. ปริญญา ชูเชิดวัฒนศักดิ์ ได้เลยค่ะ
Leave a Reply