สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ครูจะมาพูดถึงผลดีและผลเสียของการส่งบุตรหลานในการแข่งขันดนตรีกันค่ะ การแข่งขันดนตรีนั้นจริงๆแล้วมีประโยชน์มากกว่ามีโทษค่ะเพราะหลังจากนักเรียนได้ฝึกหนักเพื่อที่จะเข้าแข่งขันดนตรี เด็กจะพัฒนาแบบก้าวกระโดด เนื่องจากผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนักและนอกจากนี้ยังต้องใส่ใจในทุกรายละเอียดของเพลงที่จะใช้แข่งอีกด้วย แต่หากนักเรียนได้รับความกดดันในการแข่งขันเกินไปก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้ค่ะ วันนี้เราจะมาดูประโยชน์และโทษของการแข่งขันดนตรีกันเป็นข้อๆไปค่ะ
การแข่งขันด้านดนตรีมีประโยชน์มากมายต่อนักเรียนไม่ว่าจะอายุเท่าไร การเข้าร่วมการแข่งขันดนตรีไม่เพียงแต่ช่วยในการพัฒนาทักษะด้านดนตรีเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมพัฒนาความสามารถและคุณลักษณะที่มีประโยชน์อื่นๆ ด้วย นี่คือบางประโยชน์ของการแข่งขันดนตรีสำหรับนักเรียนค่ะ
- พัฒนาทักษะด้านดนตรี: การแข่งขันดนตรีช่วยในการปรับปรุงทักษะด้านดนตรีของนักเรียนโดยตรง นักเรียนจะต้องฝึกซ้อมและเรียนรู้เพื่อที่จะแสดงทักษะด้านดนตรีของพวกเขาในระดับที่ดีที่สุด จากประสบการณ์โดยตรงเมื่อครูเปรียบเทียบนักเรียนที่เตรียมตัวในการแข่งขันดนตรีกับนักเรียนที่เรียนอย่างเดียวโดยที่ไม่เข้าร่วมการแข่งขันดนตรี นักเรียนที่เตรียมตัวที่จะแข่งขันดนตรีนั้นมีความตั้งใจเรียนมากขึ้น ฝึกซ้อมมากขึ้น พยายามที่จะปรับแก้ตามที่ครูบอก ซึ่งต่างจากนักเรียนที่เรียนโดยที่ไม่ได้เตรียมตัวแข่งขันทางดนตรี เด็กเหล่านี้จะไม่มีความมุ่งมั่นเท่าที่ควรและไม่ได้ฝึกซ้อมมากพอหรือหลายๆครั้งไม่ได้ฝึกซ้อมเพลงในแต่ละสัปดาห์เลยค่ะ และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้นักเรียนที่เตรียมตัวแข่งขันดนตรีนั้นสามารถพัฒนาทักษะในการเล่นดนตรีได้อย่างก้าวกระโดดและเมื่อเทียบกับนักเรียนที่ไม่ได้เตรียมตัวแข่งขัน แม้ว่าทั้งสองคนจะมีพื้นฐานเท่ากัน แต่หลังจากการแข่งขันแล้ว นักเรียนที่เตรียมตัวแข่งขันดนตรีจะมีทักษะในการเล่นดนตรีได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดเลยค่ะ
- สร้างความมั่นใจ: การแข่งขันดนตรีช่วยในการสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียน แม้ว่านักเรียนที่เข้าแข่งขันจะไม่ได้รับรางวัลใดๆก็ตาม แต่พวกเขาได้รู้สึกถึงความสำเร็จที่เล่นเพลงได้อย่างดีและได้แสดงต่อหน้าสาธารณชน ได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมก็จะทำให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้นค่ะ
- พัฒนาทักษะการแข่งขัน: การแข่งขันดนตรีสอนให้นักเรียนเรียนรู้วิธีการแข่งขันในสภาวะแข่งขันจริง พวกเขาจะต้องจัดการกับความกดดันและการแข่งขันจากผู้อื่น การโฟกัสตัวเองก่อนที่จะแสดงและระหว่างที่แสดง นอกจากนี้หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน เช่นลืมโน้ตหรือเล่นผิด นักเรียนที่เจนสนามจะสามารถด้นสดและและหาทางเชื่อมต่อเข้าสู่บทเพลงได้จนจบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ในเรื่องอื่นๆในการใช้ชีวิตที่ไม่ใช่แค่เรื่องดนตรีด้วยค่ะ
- สร้างระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ: การแข่งขันดนตรีสามารถช่วยในการสร้างวินัยและความรับผิดชอบ นักเรียนจะต้องรู้จักแบ่งเวลาในการซ้อมเปียโนและจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอทุกๆวัน อาจจะวันละ 1-3 ชั่วโมงต่อวัน นักเรียนจะรู้หน้าที่รับผิดชอบว่างานของตนนั้นคือการซ้อมเปียโนทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อโตขึ้นก็สามารถนำวินัยเหล่านี้ไปใช้ในการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยและการทำงานค่ะ
- เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น: การแข่งขันดนตรีมักจะเป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่นในวงดนตรี เช่นการทำงานร่วมกับนักเปียโนที่เล่นประกอบ นักเรียนจะเรียนรู้วิธีการสื่อสารและทำงานร่วมกับนักเปียโน รู้จักฝึกการฟังเพื่อให้เล่นได้เข้ากัน ปรับเปลี่ยนแก้ไขเพื่อให้องค์รวมออกมาดี ซึ่งทักษะเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ในชีวิตที่เติบโตขึ้น เวลาที่เราทำงานร่วมกับผู้อื่นก็จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นค่ะ
- สร้างเป้าหมายและเกิดมุ่งมั่น: การเข้าร่วมการแข่งขันดนตรีช่วยให้นักเรียนมีเป้าหมายในการศึกษาและพัฒนาทักษะด้านดนตรีของพวกเขา สามารถข้ามผ่านความยากลำบากในการฝึกซ้อมเพื่อบรรลุเป้าหมาย สิ่งนี้จะช่วยในการสร้างความมุ่งมั่นในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จ
- การรับรู้และเข้าใจดนตรี: การเตรียมการแข่งขันดนตรีนั้นเราจะต้องเล่นให้ดีที่สุด นักเรียนจะต้องเข้าใจเพลงนั้นๆทั้งในด้านของการประพันธ์ การตีความเพลงรวมถึงประวัติของเพลงนั้นๆ ดังนั้นนักเรียนจึงได้เรียนรู้เพลงนั้นๆอย่างลึกซึ้งครบทุกด้านเลยค่ะ
- เป็นที่รู้จักในแวดวงดนตรี การเข้าร่วมการแข่งขันทำให้เราได้รู้จักเพื่อนที่อยู่ในวงการดนตรีเดียวกัน ทำให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมดนตรี และทำให้เป็นที่รู้จักในวงการดนตรีด้วยค่ะ นอกจากนี้หากเราได้รางวัลจากการแข่งขันดนตรีก็จะช่วยสร้างชื่อเสียงให้เราได้อีกด้วยค่ะ
- ได้ใบรับรองความสามารถพิเศษที่ช่วยให้ portfolio ดูดี ใบรับรองจากการแข่งขันดนตรีอาจช่วยให้นักเรียนมีโอกาสเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนที่ดี แต่ควรทราบว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเข้าโรงเรียนที่ดีอื่นๆอีกด้วย ใบรับรองจากการแข่งขันดนตรีอาจเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาของโรงเรียน แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญเพียงอย่างเดียว โรงเรียนที่ดีมักมองหานักเรียนที่มีทักษะและความสามารถด้านดนตรี ใบรับรองจากการแข่งขันดนตรีอาจเป็นความสามารถพิเศษส่วนหนึ่งของประวัติการศึกษาที่น่าสนใจ แต่โรงเรียนยังคงพิจารณาผลการเรียนระยะเวลายาว, คะแนน SAT หรือ ACT, ความสามารถทางวิชาการ, ความมุ่งมั่น, และประสบการณ์อื่นๆ ของนักเรียนด้วย
อ่านถึงข้อดีของการแข่งขันดนตรีกันไปแล้ว หากเพื่อนๆสนใจอยากส่งนักเรียนหรือบุตรหลานเข้าแข่งขันดนตรี อย่าพลาดอ่าน การแข่งขันดนตรีระดับนานาชาติมีที่ใดบ้าง เพื่อที่จะได้ดูตัวเลือกในการส่งนักเรียนเข้าแข่งขันดนตรีกันค่ะ ข่าวดีสำหรับนักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพ การแข่งขันที่ครูลิสต์มานั้นเป็นการแข่งขันออนไลน์ค่ะ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถสม้ครได้ค่ะ เพียงแค่ดาวน์โหลดวีดีโอลงยูทูปและส่งลิงค์ตอนสมัครสอบก็สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ นอกจากนี้เพลงสำหรับการแข่งขันในหลายๆสนามก็ยังเป็นแบบฟรีช้อยส์ด้วยค่ะ
ตอนนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องของข้อเสียในการแข่งขันดนตรีกันบ้างค่ะ ซึ่งจริงๆแล้วข้อเสียนั้นมีแค่เล็กน้อยเองค่ะ และอาจเป็นไปได้ว่าไม่มีข้อเสียเลยหากนักเรียน ครูและผู้ปกครองสร้างเป้าหมายให้นักเรียนอย่างถูกต้อง
- สร้างความกดดันมากเกินไป: การแข่งขันดนตรีอาจสร้างความกดดันมากให้กับนักเรียน โดยเฉพาะถ้ามีความคาดหวังสูงไม่ว่าจะเป็นความควาดหวังจากครูหรือจากผู้ปกครอง เช่น การต้องชนะหรือทำคะแนนสูง ความกดดันนี้อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและทางร่างกายของเด็กได้ ผู้ปกครองหรือครูสามารถตั้งเป้าหมายให้กับเด็กในการแข่งขันได้ แต่จะต้องบอกเด็กว่าการแข่งขันนั้นมีแพ้มีชนะ หากเราทำเต็มที่แล้วแม้ว่าจะไม่ชนะก็ถือว่าประสบความสำเร็จ การพูดเช่นนี้จะช่วยลดความกดดันให้กับเด็กได้มากๆเลยค่ะ
- ขาดความสนุกสนาน: การแข่งขันอาจทำให้เด็กมุ่งมั่นกับการชนะมากเกินไป ทำให้พวกเขาลืมความสนุกและความสุขในการเล่นดนตรี ซึ่งหากซ้อมดนตรีอย่างหักโหมเพื่อที่จะเอาชนะเพียงอย่างเดียว หลังจากแข่งขันเสร็จแล้วหากไม่ได้เหรียญรางวัลใดๆ อาจทำให้เกิดความท้อแท้และเหนื่อยหน่ายในการเล่นดนตรี ซึ่งทำให้เด็กสูญเสียความสนใจในดนตรีในระยะยาว
- การเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น: การแข่งขันอาจทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นมากเกินไป นี่อาจส่งผลให้พวกเขารู้สึกไม่มั่นคงและไม่พอใจในการเปรียบเทียบตนเอง
- เสียค่าใช้จ่ายและเวลา: การเตรียมตัวและการเข้าร่วมการแข่งขันดนตรีจะต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนติวเข้มเพิ่มจากเวลาปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทะเบียนและการเดินทางไปกลับจากสถานที่แข่งขัน
- ความล้มเหลวและความผิดหวัง: ไม่ใช่ทุกครั้งที่เด็กๆจะได้รับคะแนนสูงหรือชนะในการแข่งขัน การล้มเหลวหรือความผิดหวังอาจส่งผลให้เด็กรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับความสามารถของพวกเขา แต่อย่างที่บอกค่ะหากตั้งเป้าหมายและคุยกันอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นค่ะ
- ขาดเวลาสำหรับกิจกรรมอื่น: การเตรียมตัวและการเข้าร่วมการแข่งขันดนตรีอาจทำให้ลูกของคุณมีเวลาน้อยในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งผู้ปกครองอาจจะต้องเปรียบเทียบกันดูว่าต้องการให้ลูกได้ทำกิจกรรมอื่นๆหลายๆอย่างไปพร้อมๆกับการเรียนเปียโนหรือไม่ เพราะการแข่งขันดนตรีนั้นนักเรียนจะต้องมุ่งมั่นในการซ้อมจึงอาจทำให้ต้องไปลดหลั่นเวลาในการร่วมกิจกรรมอื่นๆค่ะ
อย่างที่บอกค่ะว่าข้อเสียของการแข่งขันดนตรีนั้นน้อยมาก หากเรามีการพูดคุยกันอย่างถูกต้องทั้งเด็ก ผู้ปกครองและครู ลดความกดดันในการชนะแต่เน้นไปที่การตั้งเป้าหมายเพื่อฝึกฝนทักษะทางด้านดนตรี การแข่งดนตรีก็มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ
Leave a Reply